หนุ่มเมืองจันท์ : การเมือง-ธุรกิจ

คอลัมน์ Market-think
โดย สรกล อดุลยานนท์

ถ้า “เศรษฐกิจ” และ “การเมือง” เป็นกราฟกำหนดทิศทางเมืองไทย

วันนี้ “กราฟ” 2 เส้น เริ่มไต่ทะยานความร้อนแรงพุ่งเข้าหากัน

คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้เราจะได้เห็นกราฟ “เศรษฐกิจ” และ “การเมือง” ตัดกัน

ในทาง “เศรษฐกิจ” หนี้สินของแต่ละบริษัทที่แบงก์ยอมพักชำระหนี้จะถึงกำหนดต้องชำระ

มีความพยายามจากทั้งทางแบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์ที่จะยืดหนี้ก้อนใหญ่ก้อนนี้ออกไป

ใครที่กู้แบงก์ซื้อบ้านก็เสนอให้นำหนี้ อื่น ๆ มารวมเป็นก้อนเดียวกับหนี้บ้าน เพื่อยืดระยะเวลาให้ยาวนานเท่ากับหนี้บ้าน

20-30 ปี

และดอกเบี้ยบ้านก็ถูกกว่าดอกเบี้ยอื่น

ยอดการชำระต่อเดือนก็ไม่สูงมาก

หรือบางแบงก์ก็ยอมให้เอาหนี้ที่พักไว้ทั้งเงินกู้และดอกเบี้ยมารวมกับจำนวนหนี้เดิมแล้วขยายเวลาการผ่อนชำระ

ให้ลูกหนี้มีโอกาสใช้หนี้แต่ละเดือนได้

แบงก์พยายามทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “เอ็นพีแอล”

เพราะถ้าไม่ช่วยลูกหนี้ รับรองว่าตัวเลข “เอ็นพีแอล” กระฉูดแน่นอน

นี่คือ “เศรษฐกิจ” ที่แท้จริงของเมืองไทย

ในขณะที่ “กราฟ” อีกเส้นหนึ่งที่กำลังร้อนแรงสุด ๆ

คือ “กราฟการเมือง”

โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนสร้างขึ้น

ถ้าจำกันได้ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีคนบอกแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็น “ระเบิดเวลา”

ทั้งเรื่องกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม

โดยเฉพาะเรื่องอำนาจ สว.เลือกนายกฯ

เท่าเทียมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง

อย่าลืมว่า คสช. เป็นคนแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน

หัวหน้า คสช.ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นคนเดียวที่พรรคพลังประชารัฐเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี

มนุษย์ที่มีใจเป็นธรรมก็รู้ว่าเป็นกติกาที่น่าเกลียดมาก

คนเล่นเลือกกรรมการเอง

ปัญหานี้พอแก้ไขได้ถ้ารัฐธรรมนูญแก้ไขง่าย ๆ เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่น

แต่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” กลับร่างรัฐธรรมนูญแบบล็อกกุญแจ 3-4 ดอก

โดยเฉพาะเรื่องต้องให้ ส.ว. 84 คนอนุมัติ

แก้ไขยากมาก

วันนี้ พรรคการเมืองเสนอให้แก้ ม. 256 เพื่อให้กุญแจ 3-4 ดอก ลดเหลือแค่ดอกเดียว

มีทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน

แต่ทาง ส.ว.ดูเหมือนว่าจะไม่ยอม

กลัวว่า สสร.จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.

และยกเลิก สว.ชุดนี้

ประเด็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่ในรัฐสภา

หากแต่อยู่ที่นอกสภา

การชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเริ่มขยายวงมากขึ้นเรื่อย ๆ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่หลายคนคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” กลับกลายเป็นเรื่อง “เป็นไปได้” เพราะ “ม็อบนักศึกษา”

ถ้านักเรียนนักศึกษาไม่ออกมาเคลื่อนไหว

พรรคการเมืองไม่มีทางขยับ

และ 19 กันยายนนี้จะมีม็อบใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ลองดูไทม์ไลน์การเมืองนับจากวันนี้นะครับ

16-18 ก.ย. พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสภา

19 ก.ย. ม็อบนักศึกษาชุมนุมที่ธรรมศาสตร์

20 ก.ย. ม็อบเคลื่อนไปที่ทำเนียบรัฐบาล

23-24 ก.ย. ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณารัฐธรรมนูญวาระที่ 1

หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่วันที่ 19

คนที่เข้าร่วมชุมนุมจะมากหรือน้อย

ถ้า “น้อย” การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีสิทธิ์ “แท้ง”

แต่ถ้า “เยอะ”

จำนวนคนมากกว่าวันที่ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิ์ผ่าน

แต่ถ้า ส.ว.ไม่สนใจ ไม่ยอมยกมือให้

นับจากวันที่ 24 กันยายนเป็นต้นไป การเมืองไทยเดือดแน่

และมีโอกาสจะระเบิดในเดือนตุลาคม

พร้อมกับเรื่องเศรษฐกิจ

ครับ เล่ามาทั้งหมดเพื่อจะบอกเรื่องเดียว

คืนนี้อย่าลืมสวดมนต์นะครับ