โรคอ้วน เบาหวาน มะเร็ง

คอลัมน์ Healthy Aging

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สถิติของสหรัฐอเมริกานั้นสรุปได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับคนอเมริกันในการเป็นโรคมะเร็ง คือ อายุ กล่าวคือตั้งแต่เกิดจนตายนั้น คนอเมริกันมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งทุกประเภท ประมาณ 38% แต่โอกาสตายจากโรคมะเร็ง ประมาณ 22%

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่อายุ 60 ปี หรือมากกว่า (ดังปรากฏในภาพ) กล่าวคือในช่วงอายุตั้งแต่เกิดถึงอายุ 44 ปี โอกาสจะเป็นโรคมะเร็งนั้นมีเพียงประมาณ 3% แต่ในช่วงอายุ 44 ปี หรือมากกว่าความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง เพิ่มขึ้นเป็น 33% (จากทั้งหมดประมาณ 38%)

แต่ทั้งนี้ โรคมะเร็งแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกัน ที่สำคัญคือ บางประเภทเป็นง่าย แต่ก็รักษาง่าย ในขณะที่มะเร็งบางประเภทเป็นยาก แต่ก็รักษายากเช่นกัน ทั้งนี้ มะเร็งที่ในเชิงเปรียบเทียบแล้วเป็นง่าย แต่ก็มีโอกาสรอดสูง หากรักษาอย่างทันท่วงที ได้แก่ มะเร็งในต่อมลูกหมาก และมะเร็งในเต้านม เป็นต้น

มะเร็งที่เป็นกันมาก และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง คือ มะเร็งที่ปอด แต่สามารถลดความเสี่ยงลงได้อย่างมาก จากการงดสูบบุหรี่ สำหรับมะเร็งที่เป็นยาก แต่ก็รอดยาก คือ มะเร็งที่ตับ ไต และตับอ่อน เป็นต้น

นอกจากนั้น สำหรับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียพบว่า จะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งที่ตับมากกว่าที่สหรัฐอเมริกา เพราะคนเอเชียเป็นโรคไวรัสลงตับจำนวนมาก โดยเฉพาะโรคไวรัสลงตับประเภท B ในผู้สูงอายุ (องค์การอนามัยโลกประเมินว่า คนเอเชีย 8-20% เป็นพาหะ (carrier) ของโรคไวรัสลงตับประเภท B
เทียบกับคนอเมริกันมีสัดส่วนไม่ถึง (0.5%) เมื่อตับได้รับผลกระทบเกิดอักเสบ(inflammation) นานหลายปี จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งที่ตับ ตั้งแต่ปี 1992 ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัส ประเภท B ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคดังกล่าวได้อย่างมาก

แต่เรื่องที่ขอเขียนถึงเพิ่มเติมในวันนี้ คือ งานวิจัยล่าสุดที่โยงโรคมะเร็งกับการมีน้ำหนักเกิน และการเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีความสำคัญเพราะผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้

กล่าวคือหากคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน และคุมไม่ให้เป็นโรคเบาหวานได้ ก็จะเป็นผลดีในการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้อีกด้วย (ส่วนการแก่ตัวลงนั้น เราทำอะไรกับมันไม่ได้)

งานชิ้นแรกเป็นงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Bergen ที่ประเทศนอร์เวย์ โดยติดตามความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งของคน 220,000 คน โดยตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 2-3 ปีต่อครั้งยาวนานถึง 18 ปี พบว่า 27,881 คน เป็นโรคมะเร็ง โดย 35% ของยอดผู้เป็นมะเร็งดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคอ้วน (obesity) กล่าวคือมีน้ำหนักตัวมาก ทำให้ดัชนีมวลรวมของร่างกาย (BMI) สูงเกินกว่า 30 แต่ที่สำคัญข้อสรุปว่าหากเริ่มน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 25) ในช่วงที่อายุยังน้อย (ต่ำกว่า 40 ปี)

ความเสี่ยงโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้น ดังนี้

1.โรคมะเร็งในมดลูกจะเพิ่มขึ้น 70%

2.โรคมะเร็งในไต (ผู้ชาย) เพิ่มขึ้น 58%

3.โรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ (ผู้ชาย) เพิ่มขึ้น 29%

4.โรคมะเร็งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเป็นโรคอ้วนทั้งชายและหญิงจะเพิ่มขึ้น 15%

กล่าวคือการคุมน้ำหนักนั้น ควรจะต้องเริ่มต้นดูแลเสียแต่เนิ่น ๆ อย่าปล่อยตัวให้เริ่มอ้วนก่อนแก่ตัว ซึ่งผมเองก็ทำไม่ได้ และปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่า 10 กิโลกรัม ในช่วงอายุ 40-55 ปี หากมีข้อมูลข้างต้นนี้ให้ทราบในตอนนั้น คงควบคุมน้ำหนักไม่ปล่อยปละละเลยให้น้ำหนักเกินอย่างมาก

หากคำนวณ BMI ไม่สะดวก ก็สามารถใช้การวัดรอบเอวได้ (ซึ่งแม่นยำกว่า BMI ในการควบคุมไม่ให้ไขมันหน้าท้อง ซึ่งเป็นอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย)

กล่าวคือ สำหรับผู้ชาย รอบเอวควรไม่เกิน 0.5 ของความสูง เช่น ความสูง 66 นิ้ว (167 เซนติเมตร) เอวควรไม่เกิน 33 นิ้ว ผู้หญิงนั้น รอบเอวควรประมาณ 0.45 เช่น สูง 62 นิ้ว (157 เซนติเมตร) รอบเอวก็ควร 28 นิ้ว เป็นต้น

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเป็นของสถาบันวิจัยและบำบัดโรคมะเร็งชื่อ City of Hope ที่ลอสแองเจลีส ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมประจำปีของ America Chemical Society เมื่อ 26 สิงหาคม 2019 ซึ่งค้นพบกลไกที่ทำให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งบางประเภท (เช่น มะเร็งในมดลูก และไต) มากขึ้น ถึง 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน

กลไกที่ว่านี้คือ การทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์ชำรุดเสียหาย นอกจากนั้น ระดับน้ำตาลที่สูงยังไปรบกวนกระบวนการของเซลล์ที่จะซ่อมแซมความเสียหายดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่ามีโปรตีน 2 ตัว คือ HIF1a และ MTORC1 ซึ่งมีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมเซลล์ แต่โปรตีนทั้งสองจะปฏิบัติภารกิจได้ไม่เต็มที่ เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะที่มีระดับน้ำตาลสูงในเซลล์ ทั้งนี้ โปรตีนที่สำคัญ คือ MTORC1 ซึ่งเป็นตัวควบคุม HIF1a อีกทีหนึ่ง

นอกจากนั้นพบว่ามียาบางชนิดช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมตัวเองของเซลล์ (ซึ่งจะช่วยลดเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง) เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน คือ Metformin เป็นต้น

งานวิจัยขนาดใหญ่อีกงานหนึ่งได้ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2018 โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New South Wales (ออสเตรเลีย) Oxford (อังกฤษ) และ Johns Hopkins (สหรัฐ) โดยรวบรวมเอางานวิจัยที่ผ่านมา 47 ชิ้นทั่วโลกในหลายประเทศ (เช่น สหรัฐ อังกฤษ จีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น) ครอบคลุมคนถึง 20 ล้านคน ทำให้ผู้วิจัยมีข้อสรุปที่หนักแน่นว่า “the link between diabetes and the risk of developing cancer is now firmly established”

ทั้งนี้ ข้อสรุปที่น่าสนใจ คือ

1.ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน 27%

2.ผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวาน เสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งมากกว่าผู้ชายที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน 19%

3.ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งมากกว่าผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวาน สำหรับมะเร็งประเภทต่าง ๆ ดังนี้ : 11% สำหรับมะเร็งที่ไต 13% มะเร็งที่ปาก 14% มะเร็งที่ท้อง และ 15% มะเร็งที่เม็ดเลือด

4.ผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งที่ตับมากกว่าผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวาน 12%