เปิดประวัติการเมือง “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ดาวสภา ชิงผู้ว่าฯ กทม.

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 จากพรรคก้าวไกล
PHOTO : PRACHACHAT/Illustration/Bhattarada Manee

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 จากพรรคก้าวไกล แม้จะไม่ได้คว้าคะแนนอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถล้มตัวเต็งอันดับหนึ่ง อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สังกัดอิสระ ได้

แต่ผลงานชัยชนะ ของชัชชาติ ร่วมกับวิโรจน์ นับว่าฝ่ายประชาธิปไตย ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับฝ่ายรัฐบาลไม่น้อย

รู้จัก “วิโรจน์” ผู้เคยเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ส.ส.ฝีปากกล้าของพรรคก้าวไกล ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”

“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เกิด 11 ธ.ค. 2520 อายุ 44 ปี เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ มาจากครอบครัวคนจีนชนชั้นกลางระดับล่าง พ่อเป็นผู้จัดการร้านขายผ้าที่สำเพ็ง แม่เป็นแม่บ้าน

มีพี่น้องร่วมบิดาและมารดา จำนวน 2 คน ได้แก่ นายนิพนธ์ ลักขณาอดิศร ทำงานอยู่ บริษัท เอสซีแอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายพิศาล ลักขณาอดิศร ทำงานอยู่ที่บริษัท ซีเจ เอ๊กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด และ มี น.ส.ดุสิดา จีรจิตต์ คู่สมรส มีลูกด้วยกัน  1 คน อายุ 7 ขวบ ชื่อ “เวลา” 

วิโรจน์ ตั้งใจตั้งชื่อ “เวลา” เพราะเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด 

เขาจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมยานยนต์) และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจบด็อกเตอร์ ด้วยปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง “วิโรจน์” มีผลงานการเขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น ปูทางให้ลูกไป สู่เส้นชัยที่ลูกหวัง, กลยุทธ์ HR ที่จับต้องได้ , ลีนอย่างไรสร้างกำไรให้องค์กร, หลุดจากกับดัก 

ทั้งยังทำเพจเฟซบุ๊ก ที่ชื่อว่า Education Facet ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเยาวชน โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่า 89,125 คน

บริหารงานบริษัทเอกชน เกือบ 20 ปี

หลังเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2542 – 2544 “วิโรจน์” ทำงานเป็นวิศวกรควบคุมคุณภาพกับบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

จากนั้นระหว่างเรียนปริญญาโทจุฬาฯ ในปี 2544 – 2546 “วิโรจน์” เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษา ด้านระบบบริหารคุณภาพและการบริหารจัดการ รวมถึงฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการต่าง ๆ ให้บริษัท โนโว ควอลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้การกำกับของ สถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนั้นเข้าทำงานการบริหารในเครือซีเอ็ดบุ๊ก ร้านหนังสือชื่อดัง ตั้งแต่ ปี 2546 – 2561 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บริษัท ซีเอ็ดฯ ปี 2549 เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ซีเอ็ด บริษัท ซีเอ็ดฯ ปี 2559-2561 เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) และในปีเดียวกัน เป็นผู้ช่วยผู้อำนวนการฝ่ายบริหารสินค้าที่ไม่ใช่หนังสือ บริษัท ซีเอ็ดฯ

วิโรจน์ เล่าว่า หลังเรียนจบจากวิศวะ จุฬาฯ ก็ออกมาทำงานเป็นวิศวกรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตอนทำงานก็ค้นพบว่า การเป็นวิศวกรในระบบอุตสาหกรรมจะไม่ได้ใช้ศักยภาพการเป็นวิศวกรในตัวเองเลย

เพราะเราเป็นประเทศที่รับเอาเทคโนโลยีจากประเทศอื่นมาผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างมากก็แค่แก้แบบเพื่อหาซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตในประเทศเพื่อลดการส่งออก

จนถึงจุดหนึ่งก็ตั้งคำถามว่าไม่ได้ใช้วิชาชีพสิ่งที่เรียนมา จึงตัดสินใจไปเรียนปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะในยุคนั้นกำลังฮิตทำ ISO หรือ KPI และผันตัวเองไปเป็น Consaltant อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนเปลี่ยนมาทำงานที่ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

ส่วนของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์อยู่ในฝ่ายบริหารมีหน้าที่เกี่ยวกับทำร้านหนังสือให้น่าสนใจและดึงดูดลูกค้า และดูแลเกี่ยวกับด้านการค้าปลีก ทำงานที่นี่ประมาณ 10 กว่าปีในห้วงเวลาหนึ่ง จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปดูแลเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาด้วย เพราะต้องขายหนังสือ หรือสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนจึงทำให้เราได้เห็นอุปสรรคของโรงเรียนว่าเหตุใดโรงเรียนของประเทศไทย จึงมีอุปสรรคในด้านการพัฒนา

เส้นทาง ส.ส. ดาวสภา

จากนั้นเบนเข็มมาทำงานการเมือง โดยถูกชักชวนชวนมาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้จัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ หลังจากได้ศึกษาอุดมการณ์และแนวคิดของพรรค ตรงกับตัวเอง จึงตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ เมื่อทำงานกับพรรคไปเรื่อย ๆ ก็ได้รับการชวนให้ไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 อนาคตใหม่กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 81 ที่นั่ง โดยได้แบบเขตเขต 31 ที่นั่ง และได้บัญชีรายชื่อ 50 ที่นั่ง ซึ่ง “วิโรจน์” เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 34 

ก่อนที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ในวันที่ 21 ก.พ. 2563 และสมาชิกเดิมย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล และได้รับเลือกให้เป็นโฆษกพรรค

“วิโรจน์” ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาได้เป็นอย่างดี จนกลายเป็นดาวรุ่งในสภาในเวลารวดเร็ว จากเนื้อหา ลีลาการพูด การนำเสนอ การอภิปรายในแต่ละครั้ง

ปี 2563 ชื่อของ “วิโรจน์” ถูกรู้จักจากการอภิปรายไม่วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยการเปิดโปงขบวนการปฏิบัติการด้านข่าวสาร “ไอโอ” ของรัฐบาล

“ไอโอ” หรือ ปฏิบัติการข่าวสาร เป้าหมายคือคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาล โดยการขุดประวัติบุคคลนั้นมาโพสต์ประจานเหมือนพฤติกรรมการล่าแม่มด ใช้ถ้อยคำเกลียดชังด่าทอประชาชนเข้าไปโพสต์ข้อความด่าทอนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สร้างความเกลียดชัง เลือกเอาข้อมูลด้านเดียว ประโยคเดียว เพื่ออวยกองทัพ

 

ปี 2564 “วิโรจน์” ขึ้นการอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลอีกครั้ง ในครั้งนี้เขาอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข ในหัวข้อ การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการฉีกแผนจัดหาวัคซีนลวงโลก

จากนั้น 23 ม.ค. 2565 พรรคก้าวไกลประกาศเปิดตัว “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของพรรค ที่มาพร้อมด้วยวลี “หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ” มาพร้อมกับนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เท่ากัน

“วิโรจน์” รวย 52 ล้าน

หลังพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. 4 ก.พ. 2565 “วิโรจน์” ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน พร้อมทรัพย์สินคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีทรัพย์สินรวม 52,410,879 บาท หนี้สินรวม 28,005 บาท

“วิโรจน์”  ผู้ยื่นมีทรัพย์สิน 15,922,905 บาท ประกอบด้วย เงินฝาก 9 บัญชี 1,518,005 บาท เงินลงทุน 9,480,640 บาท อาทิ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล 1 หมื่นหน่วย บมจ.คาร์มาร์ท 284,400 หน่วย บมจ.ปัญจวัฒนาหพลาสติก 4 หมื่นหุ้น บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก (วอร์แรนท์) 13,333 หน่วย บมจ.ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ 196,600 หน่วย

ที่ดิน เขตประเวศ กทม. 23.3 ตารางวา (ตร.ว.) 1 แปลง 699,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ทาวน์โฮม 3 ชั้น 1 หลัง 2,821,000 บาท ยานพาหนะ รถยนต์ยี่ห้อ ISUZU MU-X 1 คัน 669,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 200,000 บาท อาทิ สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ เลขที่ 367 สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์หนังสือ เลขที่ 41002/52/11 017 และเลขที่ 4300-60-03-007

ทรัพย์สินอื่น 535,259 บาท อาทิ วัตถุมงคลจากการทำบุญ 800 องค์ ประเมินค่าไม่ได้ สร้อยทองคำหนัก 5 บาท 1 เส้น สร้างคอทองคำหนัก 6 สลึง พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ 1 เส้น แหวนทองคำ หนัก 1 สลึง 2 วง นาฬิกาข้อมือ (CASIO และ ellesse) 2 เรือน กล้องถ่ายรูป Panasonic Lumix LX5 1 ตัว

คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก Lenovo YOGA 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ Samsung Galaxy A52 5G 1 เครื่อง จักรยาน LA Bicycle 1 คัน พระบูชา 5 องค์ พร้อมโต๊ะหมู่บูชา 1 ชุด เครื่องใช้ภายในบ้าน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ทั้งนี้ มีหนี้สิน เงินเบิกเกินบัญชี 12,569 บาท