19 วันอันตรายใน “ไพรมารี่โหวต” กับดักพรรคใหญ่-จุดสลบพรรคเล็ก

หลายกับดักเลือกตั้งถูกผูกปมในรัฐธรรมนูญ 2560 และในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่จะบังคับใช้ในการเลือกตั้ง

สิ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ การทำ “ไพรมารี่โหวต” ถือเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำก่อนจะส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง หากพรรคไหนไม่ทำไพรมารี่โหวต ก็จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ได้จึงกลายเป็นอุปสรรคเบอร์ต้น ๆ ที่ทำให้พรรคการเมืองปวดหัว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 ระบุการทำไพรมารี่โหวตไว้ในมาตรา 50 ไว้ว่า พรรคจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ จะต้องผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมสาขาพรรคการเมือง โดยต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยให้นับคะแนน และประกาศผลการนับคะแนน โดยเรียงคะแนนลำดับสูงสุดสองลำดับแรก ก่อนจะส่งให้กรรมการบริหารพรรคเห็นชอบ

ถ้ากรรมการบริหารพรรคเห็นชอบชื่อผู้สมัครที่ผ่านการทำไพรมารี่โหวต ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ตีกลับไปให้สาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ทำไพรมารี่โหวตใหม่

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย มองปัญหาดังกล่าวว่า เรื่องการไพรมารี่ ผู้บริหารพรรคก็ดี สมาชิกพรรคก็ดี ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวมาก่อน

“เมื่อกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้แล้วก็เกิดปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยอมปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม การดำเนินการสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้อง ศึกษาทำความเข้าใจ และต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่เขาเขียนกฎหมายไว้”

“แต่จะทำด้วยความยากลำบาก ทุกอย่างจึงเป็นกับดักได้ทั้งสิ้น ทั้งตัวบทกฎหมายและบทบัญญัติที่มีขึ้น และที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ การรีเซตกรรมการการเลือกตั้ง ปัญหา กกต. ที่จะเข้ามาใหม่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยบริสุทธิ์เที่ยงธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง”

ขณะที่ฟากนักวิชาการ “สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” จากจุฬาฯ ที่มอนิเตอร์เรื่องการเลือกตั้งมาหลายครั้ง เชื่อว่า การทำไพรมารี่โหวตจะยิ่งทำให้พรรคเล็กอ่อนแอ แต่ทำให้พรรคใหญ่ที่พร้อมกว่าได้เปรียบ

“การทำไพรมารี่ อยากให้พรรคกลายเป็นสถาบัน แต่ผลของการทำไพรมารี่อาจทำให้พรรคทะเลาะกันเอง ขัดแย้งเพิ่มขึ้นภายในพรรค และยังเป็นกับดัก เช่น สมมติพรรคหนึ่ง หรือเขตหนึ่ง ไม่จัดทำเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี่โหวตในการส่งผู้สมัคร หรือทำแล้วไม่เป็นไปตามเกณฑ์ เช่น การประชุมสาขาพรรคไม่ครบ 100 คน หรือถ้าไม่ใช่ตัวแทนพรรคการเมืองมีไม่ครบ 50 คน หรือมีคนประท้วงขึ้นมาก็สามารถถูกตัดสิทธิ์ได้อำนาจ กกต.ให้ใบส้ม ซึ่งจะอยู่ทั้งปี ดังนั้นต่อให้ผู้สมัครคนหนึ่งได้รับเลือกตั้ง มีคนหนึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา มีคนประท้วงว่าไม่ทำไพรมารี่ก็ออกได้ หรือมีการประท้วงระดับที่สอง ช่วงของการหาเสียง ก็ออกได้

แม้แต่ผู้ ร่างรัฐธรรมนูญ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังยอมรับว่า “กังวล” กับไพรมารี่โหวต เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีเรื่องไพรมารี่โหวต แต่เกิดในชั้นการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่มาจาก กรธ. อันนั้นเป็นอันแรกที่ กรธ.ทักท้วง ถ้าจะเอาก็ต้องทำให้สมบูรณ์กว่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นบังคับไม่ได้

“กรธ.กังวลว่าในทางปฏิบัติจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการจะยาก ในที่สุดจะเป็นการทำเล่น ๆ พอให้ได้ชื่อ จะทำให้ระบบมันเสีย”

ล่าสุด ในไทม์ไลน์ในการให้พรรคการเมืองเริ่มทำไพรมารี่โหวต ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กางไว้นั้นจะเริ่มสตาร์ตเมื่อ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ประกาศใช้ และจะต้องมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยกำหนดไว้ 3 ขั้น

1.ภายใน 5 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ กกต.กำหนดเขตเลือกตั้ง

2.กกต.จะ ต้องประกาศ กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. และประกาศเขตเลือกตั้งภายใน 5 วัน นับแต่มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จากนั้นจึงจะทำไพรมารี่โหวตได้ และต้องทำเสร็จก่อนวันรับสมัคร

3.วันรับสมัครจะต้องทำภายใน 20 วัน นับตั้งแต่ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง มีผลบังคับใช้ดังนั้น ระยะเวลาระหว่าง พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ ถึงวันรับสมัคร จะมีระยะเวลาทำไพรมารี่โหวต 19 วัน

“สมพล พรผล” ผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักงาน กกต.ระบุว่า พรรคการเมืองสามารถเตรียมตัวโดยหาสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ล่วงหน้า แต่จะทำไพรมารี่ทันหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสามารถของแต่ละพรรค เพราะกฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น

หากพรรคไหน…พื้นที่ไหน ทำไพรมารี่โหวตไม่ทัน หรือไม่ได้ทำ ก็จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ไม่ได้