แกะงบฯพรรครัฐบาล ปีสุดท้าย ดึงเงินปั้นโปรเจ็กต์ รับเลือกตั้งใหญ่

งบประมาณ

งบประมาณปี 2566 ปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปอย่างเงียบกริบ ไม่มีกระแสคัดค้านจากพรรคฝ่ายค้าน เหมือนปีก่อน ๆ

อาจเป็นเพราะงบประมาณปีสุดท้าย ประหนึ่งงบฯเทกระจาดได้ทุกพรรค-ทุกขั้ว เพื่อให้นักเลือกตั้งใช้เป็น “ทุนรอน” ในการเลือกตั้งในพื้นที่ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายรัฐบาล ได้งบประมาณไปทำโครงการต่าง ๆ เรียกคะแนนเสียงโค้งสุดท้าย

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย แม้ตอนนี้ไม่มีโอกาสใช้งบประมาณโดยรวมในฐานะรัฐบาล แต่หลังเลือกตั้งช่วงกลางปีหน้า หากพลิกได้เป็นรัฐบาลขึ้นมาก็ได้ใช้งบฯก้อนนี้เช่นกัน

งบฯกลางประยุทธ์ 5.9 หมื่นล้าน

ไส้ในงบประมาณปี 2566 เริ่มจาก “พล.อ.ประยุทธ์” หัวหน้ารัฐบาล มีส่วนที่เรียกว่า “งบฯกลาง” เป็นกระเป๋าตังค์ของนายกรัฐมนตรี ในการใช้ดำเนินการต่าง ๆ ในงบฯปี 2566 มีทั้งสิ้น 590,470,000,000 บาท โดยมี budget เป็น “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ตุนไว้ในกระเป๋ากรณีฉุกเฉิน-จำเป็น จำนวน 92,400,000,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี’65 จำนวน 3,400 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังมีงบฯค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 3,000,000,000 บาท

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังสวมบทเป็น รมว.กลาโหม คุมกองทัพ ซึ่งได้รับงบประมาณโดยรวม 85,387,885,200 บาท แบ่งเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 5,100,371,300 บาท กองทัพบก 33,607,407,100 บาท กองทัพเรือ 17,686,226,800 บาท กองทัพอากาศ 21,531,985,700 บาท กองบัญชาการกองทัพไทย 7,268,894,300 บาท

ส่วน “รัฐมนตรีโควตากลาง” 3 คน คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กระทรวงมหาดไทย ได้งบประมาณไปกำกับ รวม 268,833,168,900 บาท สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวง ที่ พล.อ.อนุพงษ์ ดูแลโดยตรง ได้ 4,342,865,800 บาท

กระทรวงการคลังที่มี “ขุนคลัง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้รับงบประมาณ จำนวน 10,421,617,500 บาท กระทรวงการต่างประเทศ ที่มี “ดอน ปรมัตถ์วินัย” เป็นเจ้ากระทรวง จำนวน 3,763,172,000 บาท ขณะที่กระทรวงพลังงาน ที่มี “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะน้ำมันแพง ได้รับงบประมาณ จำนวน 1,859,566,200 บาท

แกะงบฯพลังประชารัฐ

มากันที่พรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค ในฐานะฐานอำนาจการเมืองของรัฐบาลประยุทธ์ โควตากระทรวงที่พรรคพลังประชารัฐดูแล โดยมี พล.อ.ประวิตร กำกับในภาพรวม

เริ่มจากกระทรวงสาย 3 มิตร ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 1,663,026,600 บาท กระทรวงยุติธรรม ที่คุมโดย “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ได้รับงบฯทั้งสิ้น 12,376,401,200 บาท

สำหรับรัฐมนตรี “สายตรง” พล.อ.ประยุทธ์ คือ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ได้รับงบประมาณจำนวน 50,297,929,200 ล้านบาท

เคียงข้างด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่มี “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ดูแลอยู่ ได้รับงบฯทั้งสิ้น 3,735,697,700 บาท “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับงบฯ 122,668,505,200 บาท

ด้าน “อิทธิพล คุณปลื้ม” แห่งเมืองชลบุรี ที่คุมกระทรวงวัฒนธรรม ได้งบฯ 4,210,855,400 บาท คนสุดท้ายในพรรคพลังประชารัฐที่เป็น “ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการ” คือ “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ์” รมช.คมนาคม กำกับกรมเจ้าท่า จำนวน 2,454,858,800 บาท

กราฟฟิก

ภูมิใจไทย คุมงบฯโยธา-คมนาคม

พรรคภูมิใจไทยที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรี-คุมโควิด-19 ได้รับ “งบฯกระทรวงหมอ” ปี 2566 จำนวน 37,176,544,900 บาท

ส่วน “หัวใจสำคัญ” ของพรรค คือ กระทรวงคมนาคม มีเลขาธิการพรรค “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เป็นผู้กำกับดูแลกระทรวงโปรเจ็กต์คมนาคมดูงบฯภาพรวมแบบเบ็ดเสร็จ คู่กับ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม

ทั้งสำนักงานปลัดกระทรวง กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางราง กรมท่าอากาศยาน สถาบันการบินพลเรือน ได้งบฯทั้งสิ้น 57,975,762,100 บาท

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” แม่ทัพภาคใต้ คุมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปักหมุดปั้น “บุรีรัมย์โมเดล” ไปทั่วประเทศ ได้รับงบฯ 3,022,606,200 บาท

ส่วนรัฐมนตรีช่วย-แชร์งบประมาณกับพรรคร่วมรัฐบาล “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กำกับกรมวิชาการเกษตร ได้รับงบฯ 849,310,700 บาท และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้งบฯ 761,510,000 บาท

“ทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย เจ้าของรหัส มท.2 กำกับกรมการพัฒนาชุมชน ได้งบฯจำนวน 1,420,846,200 บาท กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้งบฯจำนวน 26,092,310,500 บาท

งบฯในมือ “ประชาธิปัตย์” มีไม่น้อย

อีกหนึ่งพรรคร่วมรัฐบาล-ประชาธิปัตย์ ที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้าพรรค นั่งตำแหน่งรองนายกฯ ควบ กระทรวงพาณิชย์ คุมการนำเข้า-ส่งออก ตั้งรับสินค้าราคาแพง ได้รับงบฯปี’66 จำนวน 3,617,636,600 บาท

ขณะที่ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค เจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินแผนประกันรายได้เกษตรกร ได้ดูแลงบฯ 62,438,240,700 บาท

ส่วน “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ แห่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับงบประมาณไปทั้งสิ้น 21,361,170,800 บาท

ด้าน “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ดูแลกรมสำคัญ ๆ อย่างกรมที่ดิน ได้งบฯ 2,272,850,300 บาท กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้งบฯ 3,278,534,400 บาท

“สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สาธารณสุข กำกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 12,732,318,500 บาท กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 163,207,200 บาท กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 586,161,500 บาท สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 476,175,700 บาท

รมช.ศึกษาธิการ “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รมช.ศึกษาธิการ กำกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 88,059,500 บาท สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ 410,654,300 บาท สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา 44,930,300 บาท สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1,544,920,200 บาท โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จำนวน 109,675,000 บาท

ส่วน 2 พรรคกลางค่อนเล็กในรัฐบาล ก็ไม่น้อยหน้า เพราะพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ส่ง “วราวุธ ศิลปอาชา” เข้ามากุมบังเหียนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับงบฯทั้งสิ้น 13,450,063,400 บาท

“ประภัตร โพธสุธน” รมช.เกษตรและสหกรณ์ กำกับกรมปศุสัตว์ ได้งบฯ 1,804,966,000 บาท กรมการข้าว 18,926,301,100 บาท สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้งบฯ 126,169,600 บาท

ขณะที่ “พรรคลุงกำนัน” พรรครวมพลัง ที่มี “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับงบฯจำนวน 45,482,883,500 บาท

กองทุนประชารัฐ 3.5 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ ยังมีงบฯในหมวดงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถนำมาใช้ตามแผนได้ เช่น “งบฯบัตรคนจน” กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม จำนวน 35,514,624,900 บาท เป็นโปรเจ็กต์เติมแต้มทางการเมืองฉบับประชานิยมของรัฐบาลประยุทธ์

งบฯปีสุดท้าย เตรียมถูกนำมาสร้างโปรเจ็กต์-ผลงาน หวังเข้าตาชาวบ้าน ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง