รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ กำจัดทักษิณ 15 ปี ผู้มีบารมีนอกพรรคเพื่อไทย

ทักษิณ ชินวัตร - รธน.

10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ

แต่เพียงแค่ 15 ปี ที่ผ่านมา เราใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 ฉบับ

หนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับ 2550

สอง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

สาม รัฐธรรมนูญฉบับ 2560

รัฐธรรมนูญ เปรียบเหมือน “กติกา” การปกครอง แต่ในช่วงที่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษหลัง

รัฐธรรมนูญ มักถูกพรรคเพื่อไทย และเครือข่าย รวมถึง “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มีบารมีนอกเพื่อไทยให้ความหมายไว้ ว่าเป็น “ผลไม้พิษ”

หลังสิ้นยุค รัฐบาลไทยรักไทย – ทักษิณ ชินวัตร โดยการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ “คปค.” เมื่อค่ำคืนวันที่ 19 กันยายน 2549

คปค.ที่แปลงร่างเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กำกับฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังการยึดอำนาจปีเศษ รัฐธรรมนูญ 2550 บังคับใช้ แทนรัฐธรรมนูญ 2540 ปรับเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เขตเดียว – เบอร์เดียว วันแมน วันโหวต มาเป็น การเลือกตั้งแบบพวงใหญ่เรียงเบอร์ เขตเลือกตั้งมี ส.ส. 3 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบ่งออกเป็นกลุ่มจังหวัด เพื่อทำลายฐานกำลังพรรคไทยรักไทย

พรรคไทยรักไทย แม้ถูกยุบพรรค ในวันสิ้นเดือนพฤษภาคม 2550 แต่ก็เปลี่ยนโฉมมาเป็นพรรคพลังประชาชน ลงสนามในรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วเอาชนะเลือกตั้งเป็นที่ 1 ตั้งรัฐบาลพลังประชาชน มี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นนายกฯ

แต่ “นายกฯ สมัคร” ต้องหล่นจากเก้าอี้ เพราะฤทธิ์เดชของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 182(7) เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ ของรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยง 6 โมงเช้า”

ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี จึงทำให้นายสมัครสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีลง

อีกทั้ง พรรคพลังประชาชนกลับมอดม้วย ด้วยกติการัฐธรรมนูญ 2550 ที่แผลงฤทธิ์ คือ ที่แฝงอยู่ในมาตรา 237

มาตรา 237 ระบุว่า “ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง หรือ ประกาศ ของ กกต. ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว

ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึง การกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68

“และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”

ในเรื่องนี้ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ตัวต้นเรื่อง เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ลูกน้อง “สายบู๊” ของทักษิณ

เมื่อถูก กกต.ตัดสินว่ามีเอี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง เรื่องถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลจึงยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อ 2 ธันวาคม 2551

หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ทักษิณ และเครือข่าย ยังไม่ยอมแพ้ ตั้งพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาสู้ แม้เป็นฝ่ายค้าน อยู่ในเงาพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาล

แต่หลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง สถาปนารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สำเร็จภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

แต่อยู่ได้เพียง 2 ปีเศษ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ถูกรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ถูกฉีกทิ้ง มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” นำมาสู่การเป็นรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้น กติกาการเมือง 2560 มีความ Extra มากกว่า กติกาการเมือง 2550

ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2561 มาตรา 28 และ มาตรา 29 เขียนไว้ชัดว่า ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใด โดยมีบุคคลที่ไม่ใช่เป็นสมาชิกพรรค ทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง

และห้ามไม่ให้ผู้ใด ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคควบคุม ครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง

ซึ่งความผิดทั้ง 2 กระทง นำไปสู่การ “ยุบพรรค”

แม้ว่า “ทักษิณ” จะเป็นผู้มีบารมีนอกพรรคเพื่อไทย คนการเมืองก็รับรู้ว่าคนแดนไกลมีความสำคัญแค่ไหนต่อพรรคเพื่อไทย

แต่ในทางพฤตินัยที่เปิดเผย พรรคเพื่อไทย จึงเลี่ยงได้..เลี่ยง ห่างได้..ห่าง ไม่ให้ชื่อของ “ทักษิณ” มาปะปนกับพรรค หนีคำว่า ควบคุม ครอบงำ ชี้นำ

ย้อนไปในวันที่ 29 มิถุนายน 2549 ช่วงนั้น การเมืองกำลังเดือด รัฐบาลไทยรักไทยกำลังถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไล่ต้อน การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ถูกตีค่าให้เป็น “โมฆะ” มีการเลือกตั้งใหม่

วันนั้น “ทักษิณ” ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ในเวอร์ชั่น “รักษาการ” เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการตั้งแต่ระดับ 10 ทหาร ตำรวจ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

คนใกล้ชิดทักษิณ ย้อนความให้ฟังว่า ก่อนนายกฯ เดินออกจากตึกไทยคู่ฟ้า มีการพูดสะกิดเตือนแบบอ้อมๆ แล้วให้ระวัง ไม่ควรพูดในสิ่งที่ใจคิด เพราะอาจจะกลายเป็นหายนะ

แต่แล้วถึงหน้างาน ประโยคนี้ก็ออกจากปากของ “นายกฯ ทักษิณ”

“บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายกับองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป มีการไม่เคารพกติกา”

“หลายองค์กร ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามหน้าที่ที่ต้องทำ บางคนไม่พอใจกติกา แต่จะขอให้แก้กติกานอกระบบประชาธิปไตย นอกระบบรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้ ผู้เสียผลประโยชน์ใช้กฎหมู่ แต่ไม่มีคนบังคับใช้กฎหมาย ในที่สุดก็กลายเป็นการสร้างความวุ่นวาย และสร้างผลประโยชน์จากผู้เสียผลประโยชน์ใช้กฏหมู่ แต่ไม่มีคนบังคับใช้กฎหมาย ในที่สุดก็เป็นการสร้างความวุ่นวายและสร้างผลประโยชน์จากการสร้างปัญหา”

นับแต่นั้น ทักษิณ ถูกรัฐธรรมนูญกำจัดออกจากการเมือง จนถึงนาทีนี้