เบื้องหลังตัวเลข ส.ส. 90 เสียง อนุทิน-ภูมิใจไทย การันตีฝ่ายรัฐบาล

ภูมิใจไทย
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

พรรคภูมิใจไทย เปิดตัวนักการเมืองจากพรรคคู่แข่งที่ลาออกการเป็น ส.ส. ย้ายมาสวมเสื้อสีน้ำเงินอย่างอลังการ เพียงแค่ลอตแรกก็มีถึง 34 ชีวิต สมทบกับ ส.ส.ที่มีอยู่ในสภา 62 ชีวิต รวมในเบื้องต้น 96 ชีวิต

ภูมิใจไทย กลายเป็นพรรคที่ “น่าเกรงขาม” ในสายตาพรรคการเมืองบนกระดานทันตาเห็น

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศ “ตอกเสาเข็ม” ไม่ขอ “แลนด์สไลด์”

“ใครมาร่วมก็เพิ่มความแข็งแกร่ง เราใช้คำว่าตอกเสาเข็ม อยู่อย่างมั่นคง ไม่ใช่แลนด์สไลด์ เพราะไม่มั่นคง ไม่มีเสาเข็ม ซึ่งเราจะตอกไปเรื่อย ๆ หัวหน้าพรรคชอบตอกเสาเข็ม”

คนการเมืองในสภา ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคภูมิใจไทยน่ากลัวที่สุด

โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจาก ส.ส.เพื่อไทย คู่แข่งหลักของพรรคภูมิใจไทย ในหลายพื้นที่ที่ต้องปะทะกันตอนเลือกตั้ง ยังยอมรับว่า “ถ้าเขตไหนที่ประชาชนรับเงิน (ภูมิใจไทย) แล้วกาให้พรรคเพื่อไทยก็จบ แต่เขตไหนที่ประชาชนรับแล้วไม่กาให้พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทยก็เข้า วัดกันแค่สองทางเท่านั้น”

พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ดึงดูด ส.ส.ในสภามากที่สุด คราวนี้เน้น “ตัวหนัก” ระดับลงแล้วต้องชนะ

สูตรในการ “คัดตัว” นักเลือกตั้งภูมิใจไทยรอบนี้ นอกจากจะคัดคนที่แข็งในพื้นที่ ยังต้องเป็นของจริงระดับลงแล้วชนะ หรือ “คนรุ่นใหม่” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ตอม่อแข็ง” (ปัจจัยด้านการเงิน) เป็นนักธุรกิจใหญ่ในระดับจังหวัด หรือระดับเจ้าของสโมสรฟุตบอล

“ภูมิใจไทยต้องยอมรับว่า ตาเขาถึง เขาส่องกล้อง แต่ละคนพระแท้ทั้งนั้น แต่จะมีคนบูชาหรือไม่บูชาอีกเรื่องหนึ่ง” แหล่งข่าววิเคราะห์

การค้นหาตัวผู้สมัครของภูมิใจไทย โดยเฉพาะถิ่นอีสานใต้ ครูใหญ่ภูมิใจไทย รู้จักพื้นที่ เข้าถึงทุกคน

ดังนั้น ในการเลือกตั้ง 2566 พรรคภูมิใจไทยจึงมีอดีต ส.ส.เกิน 100 คน ที่จะลงรับสมัครรับเลือกตั้งใน 400 เขต เป็นเครื่องการันตีเก้าอี้ในสภา

ตั้งเป้าขั้นต่ำ 90 เสียง แม้ว่าตามสถิติ ส.ส.เก่าที่ลงเลือกตั้งจะสอบตกประมาณ 35-40% แต่แค่นี้ก็เพียงพอให้พรรคภูมิใจไทยสยายปีก ในฐานะพรรคการเมืองระดับกำหนดเกม

ส่องรายชื่อ ส.ส.ภูมิใจไทยในปัจจุบัน-และอดีต ส.ส.ที่เปิดตัว “ทิ้ง” พรรคเก่า แล้วมาเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย

กำลังหลัก-เสริมปาร์ตี้ลิสต์

แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย 14 คน ประกอบด้วย อนุทิน ชาญวีรกูล, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, สรอรรถ กลิ่นประทุม, ศุภมาศ อิศรภักดี, กรวีร์ ปริศนานันทกุล, ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์, เพชรดาว โต๊ะมีนา, ศุภชัย ใจสมุทร, เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, นพ.มารุต มัสยวาณิช, สวาป เผ่าประทาน, วิรัช พันธุมะผล, สุชาติ โชคชัยวัฒนากร, เอกราช ช่างเหลา

ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคอื่นที่มาสมทบ แต่ไม่ได้ “ลาออก” จากพรรคเก่าอีก 5 คน ประกอบด้วย เกษมสันต์ มีทิพย์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล คารม พลพรกลาง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นันทนา สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ อารี ไกรนรา อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ อนุสรี ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลัง

กวาดภาคกลาง

ขณะที่ ส.ส.ภูมิใจไทย ระบบเขต มี 48 คน แบ่งเป็น กทม. 2 คน คือ มณฑล โพธิ์คาย, โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี

แต่จะได้กษิดิ์เดช ชุติมันต์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ จักรพันธ์ พรนิมิตร อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ก๊วนการเมือง “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” มาร่วมทีม และยังมีประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ อดีต ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย มาคอยตัดแต้มพรรคเพื่อไทยใน กทม. ในการเลือกตั้งปี 2566

บวกกับภาคกลาง 14 คน ประกอบด้วย ปราจีนบุรี 3 คน คือ อำนาจ วิลาวัลย์, ชยุต ภุมมะกาญจนะ, สฤษดิ์ บุตรเนียร ปทุมธานี 2 คน คือ อนาวิล รัตนสถาพร, พิษณุ พลธี นครสวรรค์ 1 คน คือ มานพ ศรีผึ้ง

อุทัยธานี 2 คน คือ เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์, ชาดา ไทยเศรษฐ์ พระนครศรีอยุธยา 2 คน คือ เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร, สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล สุโขทัย 1 คน คือ สมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ อ่างทอง 1 คน คือ ภราดร ปริศนานันทกุล ลพบุรี 2 คน มัลลิกา จิระพันธุ์วานิช, เกียรติ เหลืองขจรวิทย์

ภาคกลาง เป็นภาคที่พรรคภูมิใจไทยเน้นหนัก มีบ้านใหญ่การเมืองดูแลพื้นที่ ซึ่งผู้ท้าชิงพรรคเพื่อไทย ยังยอมรับว่าสนามเลือกตั้งภาคกลาง นอกจากกระแสเพื่อไทย “ไม่มา” เท่าที่ควร ยังต้องเจอ “กระสุน” ของภูมิใจไทย โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

โดยมี ส.ส.ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยเข้ามาเสริมทัพ ทั้งคน-ทั้งทุน ประกอบด้วย ปฐมพงศ์ สูญจันทร์ อดีต ส.ส.นครปฐม พรรคพลังประชารัฐ ประทวน สุทธิอํานวยเดช อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชารัฐ มณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ นพ ชีวานันท์ อดีต ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย วุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส.นครนายก พรรคเพื่อไทย สมัคร ป้องวงษ์ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคชาติพัฒนา

ปักหมุดอีสานใต้-อีสานเหนือ

ภาคอีสาน คือ “พื้นที่เป้าหมาย” ของพรรคภูมิใจไทย ที่จะขยายศูนย์กลางอำนาจ-อิทธิพลจากบุรีรัมย์ ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ขยับไปอีสานเหนือ ทั้งนี้ ปัจจุบันพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.อีสาน 19 คน ประกอบด้วย นครราชสีมา 4 คน คือ อภิชา เลิศพชรกมล, พรชัย อำนวยทรัพย์, วิสิทธิ์ พิทยาภรณ์, สมศักดิ์ พันธ์เกษม

บุรีรัมย์ 8 คน คือ สนอง เทพอักษรณรงค์, รังสิกร ทิมาตฤกะ, สมบูรณ์ ซารัมย์, โสภณ ซารัมย์, อดิพงษ์ ฐิติพัทยา, ไตรเทพ งามกมล, จักรกฤษณ์ ทองศรี, รุ่งโรจน์ ทองศรี

ศรีสะเกษ 2 คน คือ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ, อาศพลธ์ สรรณ์ไตรภพ ขอนแก่น 2 คน คือ ฐิตินันท์ แสงนาค, วัฒนา ช่างเหลา ส่วนเลย 1 คน คือ ธนยศ ทิมสุวรรณ นครพนม 1 คน คือ ศุภชัย โพธิ์สุ

ขณะที่อดีต ส.ส.ที่จะมาสมทบในอีสานใต้ คือ บุณย์ธิดา สมชัย หรือแนน อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ กับธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเศรษฐกิจไทย ที่จะมาแย่งชิงที่นั่ง ส.ส.อุบลฯ กับกลุ่มเกรียง กัลป์ตินันท์ ของพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ ยังมีขุนพลที่มาจากพรรคเพื่อไทย คือ จักรพรรดิ ไชยสาส์น อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ซึ่งมั่นใจว่าจะอธิบายชาวบ้านให้เข้าใจถึงการย้ายพรรค ขณะที่ธีระ ไตรสรณกุล อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย มีบ้านใหญ่ไตรสรณกุล ผูกโยงการเมืองท้องถิ่นที่อยู่กับพรรคภูมิใจไทยอยู่แล้ว

ด้านทีมโคราช มี สุชาติ ภิญโญ อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ย้ายเข้ามาเสริมทัพ โดยมี “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รมช.คมนาคม “เสี่ยโรงแป้ง” คอยคัดท้าย และยังมีสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ อดีต ส.ส.ชัยภูมิ ย้ายขั้วจากพรรคพลังประชารัฐ มาอยู่ภูมิใจไทย ลุยเขตเลือกตั้งที่ 3

ชนฐานที่มั่นทักษิณ

ปัจจุบัน ส.ส.ภาคเหนือในสภาของภูมิใจไทย มีแค่ 3 คน ณ ตอนนี้ เชียงใหม่ 1 คน คือ ศรีนวล บุญลือ

แพร่ 2 คน คือ เอกการ ซื่อทรงธรรม, กฤติเดช สันติวชิระกุล

แต่ล่าสุด มีเดชทวี ศรีวิชัย อดีต ส.ส.ลำปาง พรรคเสรีรวมไทย อนุชา น้อยวงศ์ อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคพลังประชารัฐ นิยม ช่างพินิจ อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย พีรเดช คําสมุทร อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล เอกภพ เพียรพิเศษ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย

ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีต ส.ส.ตาก พรรคเศรษฐกิจไทย เข้ามาเสริมทัพ พร้อมลงเลือกตั้งครั้งหน้า รวมกับผู้สมัครหน้าใหม่ ที่ทยอยเปิดตัวไปบ้างแล้ว

แม้ว่าภาคเหนือเป็นฐานที่มั่นพรรคเพื่อไทย-ชินวัตร แต่ก็ไม่อาจประมาทพรรคภูมิใจไทยได้ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ที่มีบ้านใหญ่ “วันไชยธนวงศ์” คุมการเมืองในระดับท้องถิ่นมาเป็นแบ็กอัพ และยังมี “สามารถ แก้วมีชัย” อดีต ส.ส.เชียงราย อกหักจากการกลับไปเพื่อไทย ได้ย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทยช่วยทำพื้นที่อีกแรง โดยยกว่า ภูมิใจไทย ทั้งจริงใจ ทั้งอบอุ่น

ขณะที่ภาคตะวันตก 2 คน ประกอบด้วย ราชบุรี 1 คน คือ บุญลือ ประเสริฐโสภา กาญจนบุรี 1 คน คือ ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน แต่ทว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ย้ายขั้วมาเสริมทัพพรรคภูมิใจไทยคับคั่ง กฤษณ์ แก้วอยู่ อดีต ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ อัฏฐพล โพธิพิพิธ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ สุชาติ อุตตเสนะ อดีต ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน หัวหอกพรรครวมไทยสร้างชาติ การันตีว่า เหล่าขุนพลภาคตะวันตก อยู่ในการดูแลของตน แต่สุดท้ายก็สู้พรรคภูมิใจไทยไม่ได้

ปักธงกวาด 20 ส.ส.ใต้

ภาคใต้ ปัจจุบันมี ส.ส. 8 คน ประกอบด้วย กระบี่ 1 คน คือ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ระนอง 1 คน คือ คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สงขลา 1 คน คือ ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ สตูล 2 คน คือ พิบูลย์ รัชกิจประการ, วรศิษฏ์ เสียงประสิทธิ์พัทลุง 2 คน คือ ภูมิศิษฎ์ คงมี, ฉลอง เทอดวีระพงศ์ ปัตตานี 1 คน คือ อับดุลบาซิม อาบู

ภายหลังที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ถูกตีแตก พรรคภูมิใจไทยก็ปฏิบัติการเจาะภาคใต้อย่างเอาจริงเอาจัง ตั้งเป้ากวาด 20 ที่นั่ง โดยมีทุนใหญ่ภาคใต้ “รัชกิจประการ” คอยซัพพอร์ต ส่วนภาคตะวันออก มีขวัญเลิศ พานิชมาท อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ยืนหนึ่งมาอยู่พรรคภูมิใจไทย

นี่เป็นเพียงแค่อดีต ส.ส.ย้ายพรรค “ลอตแรก” ที่ย้ายเข้ามาสู่พรรคภูมิใจไทย บวกกับ ส.ส.เก่าที่มีอยู่เดิม การตอกเสาเข็มยังสร้างแรงสั่นสะเทือน เพราะในเดือนมกราคม 2566 คาดว่าจะมี ส.ส.ที่ย้ายมาสมทบกับพรรคภูมิใจไทยอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างน้อยก็ “กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา” ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่มาเปิดตัว แต่ยังไม่ขอมาอยู่ตอนนี้ ยังมีภาคอีสาน พรรคเพื่อไทยในบางเขต ที่ยังดูการ “ตัดตัว” ของพรรค ก่อนตัดสินใจ เพราะ ส.ส. ยังมีเวลาในการตัดสินใจย้ายพรรคในชั่วโมงสุดท้าย ตาม 2 ล็อกของรัฐธรรมนูญ

ล็อกแรก หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม เส้นตายการย้ายพรรคจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 เพราะในรัฐธรรมนูญ กำกับไว้ว่า ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องเป็นสมาชิกพรรคจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 90 วัน

ดังนั้น ในเดือนธันวาคม อาจจะ “เร็ว” ไปนัก ที่นักเลือกตั้งจะประกาศตัว เปิดตัวเข้าหาประชาชนในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ เพราะบางส่วนยังต้องใช้กระแสพรรคเก่าในการหาเสียง ลงพื้นที่

ส่วนล็อกที่สอง หากนายกฯ คิดเล่นเกมยุบสภาใน 7 วันสุดท้ายก่อนรัฐบาลครบเทอม ก็จะทำให้ล็อกเส้นตายการเป็นสมาชิกพรรคเหลือแค่ 30 วันจนถึงวันเลือกตั้ง ส.ส.ยังมีเวลาหายใจ

บรรดา ส.ส. จึงยังดูความพร้อมในการตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะถ้าตั้งพรรคเสร็จสิ้น โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภา ก็มีสิทธิเป็นไปได้

ดังนั้น มกราคม 2566 จะเห็นลอตที่ 2 ที่จะย้ายมาพรรคภูมิใจไทย

เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ภูมิใจไทยประกาศก่อนเลือกตั้งขอ 70 ที่นั่ง

แต่ความเป็นจริงกลับได้แค่ 34 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน

เลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ภูมิใจไทยประกาศไม่น้อยกว่าเดิม 34 ที่นั่ง

แต่ได้จริง 51 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคตัวแปรทางการเมือง ในฐานะพรรคอันดับ 3

เลือกตั้งในปี 2566 พรรคภูมิใจไทยประกาศ “ตอกเสาเข็ม” ขนทัพใหญ่ลงสนาม ไม่มีทางเป็นฝ่ายค้าน