เปิดปี 2566 เดือนเดียว คดีหลอกให้รัก สูงถึง 403 คดี เสียหายหลักร้อยล้าน

เปิดสถิติคดีหลอกให้รัก (Romance Scam) เดือน ม.ค. 2566 เพียงเดือนเดียว มีคดีมากถึง 403 คดี ความเสียหายรวมกว่า 190 ล้านบาท ด้านภาครัฐห่วงใย มีความรักที่ปลอดภัย ปลอดโรค

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.พ. ของทุกปีเป็นวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก เป็นวาระสำคัญที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยจะส่งมอบความรักและความปรารถดีแก่กัน แต่เนื่องจากปัจจุบันได้มีภัยในรูปแบบต่าง ๆ

โดยเฉพาะมิจฉาชีพที่แอบแฝงในโลกออนไลน์ซึ่งจำนวนมากใช้ความรักหรือความอ่อนไหวของเป้าหมายหลอกลวงทั้งประสงค์ต่อทรัพย์และอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกาย รัฐบาลจึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงวันแห่งความรักนี้

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงสถิติอาชญากรรมออนไลน์ประจำเดือน ม.ค. 2566 จากศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่ามีคดีเกี่ยวกับการหลอกให้รักยังสูงถึง 403 คดี โดยแบ่งเป็นคดีประเภทหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน จำนวน 168 เรื่อง และคดีหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน จำนวน 235 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 190 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภัยออนไลน์เกี่ยวกับความรักหรือ Romance Scams จะเป็นการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาพัฒนาความสัมพันธ์กับเป้าหมายสร้างความเชื่อใจระหว่างบุคคล แล้วทำการหลอกลวงด้วยวิธีการต่าง ๆ

เช่น หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมต ควบคุมสมาร์ทโฟนและทำการดูดเงินในบัญชี หรือหลอกให้รักแล้วแบล็กเมล์ ด้วยการชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ แล้วนำภาพหรือวิดีโอมาขู่เรียกค่าไถ่ หรือบีบบังคับให้กระทำการอื่น ๆ

ทั้งนี้ หากประชาชนมีความสงสัยหรือกำลังเกรงว่าตนเองอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ สามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือศูนย์ PCT 08-1866-3000 หากเป็นผู้เสียหายประสงค์จะแจ้งความ สามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงต่าง ๆ ที่ pctpr.police.go.th

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในเทศกาลวันแห่งความรักยังเป็นโอกาสที่คู่รักใช้เป็นช่วงเวลาในการแสดงออกถึงความรักในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ ในส่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อแนะนำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคที่มาจากเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเอชไอวี หรือโรคอื่น ๆ เช่น ซิฟิลิส โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคเริม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถป้องกันได้โดยการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีข้อแนะนำว่าถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งรายการละเอียดในการผลิตหรือนำเข้า

ดังนั้น ขณะเลือกซื้อประชาชนควรเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์หรือใบรับแจ้งรายการละเอียด ซึ่งรับรองจาก อย. สังเกตดูวันที่ผลิต วันหมดอายุก่อนซื้อ และมีการใช้ตามคู่มือแนะนำของผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพและให้ถุงยางอนามัยคงประสิทธิภาพสูงสุด