ป.ป.ช.ชำแหละนโยบายหาเสียง เพื่อไทย ใช้เงินมากสุด 70 นโยบาย 3 ล้านล้าน

พรรคเพื่อไทยหาเสียง

ป.ป.ช.เผยแพร่บทความ “สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” ชำแหละนโยบายหาเสียง 5 พรรคการเมือง เพื่อไทยใช้เงินมากสุด 70 นโยบาย 3 ล้านล้านบาท พรรคประยุทธ์ ใช้เงินน้อยสุด 11 นโยบาย 2.5 แสนล้านบาท

วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บทความ โดยกองบรรณาธิการสื่อสารเพื่อยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงาน ป.ป.ช. หัวข้อ “สูญเสียไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย”

พรรคเพื่อไทย นำเสนอนโยบายทั้งสิ้น 70 นโยบาย ใช้วงเงินรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น นโยบายระดับแสนล้าน จำนวน 3 นโยบาย วงเงินรวม 1,360,000 ล้านบาท นโยบายระดับหมื่นล้าน จำนวน 11 นโยบาย วงเงินรวม 416,700 ล้านบาทในปีแรก นโยบายระดับพันล้าน มี 7 นโยบาย วงเงินรวม 36,800 ล้านบาท ไม่นับรวมนโยบายอื่น ๆ อีก

โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่มีการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ในช่วง 6 เดือน ให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป นโยบายเดียวมีการประมาณการกันว่าต้องใช้เงินประมาณ 560,000 ล้านบาท ระบุที่มาของเงินจากการบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษี มาจาก 4 ส่วน ดังรายละเอียดคือ

1.มาจากประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท 2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย จำนวน 100,000 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ จำนวน 110,000 ล้านบาท 4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 90,000 ล้านบาท

พรรคก้าวไกล เสนอนโยบายจำนวน 52 นโยบาย วงเงินทั้งสิ้น 1,288,610 ล้านบาท ในส่วนของนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่แรกเกิดจนตายจำนวน 5 นโยบาย ใช้เงินไป 749,100 ล้านบาท ได้แก่ นโยบายสวัสดิการเกิด ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท สวัสดิการเติบโตใช้งบประมาณ 44,600 ล้านบาท

สวัสดิการทำงาน ใช้งบประมาณ 56,000 ล้านบาท สวัสดิการผู้สูงวัย ใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท และสวัสดิการทุกช่วงวัย 98,500 ล้านบาท คูปองรับขวัญ 3,000 บาท สำหรับแม่ของเด็กแรกเกิด เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี 1,200 บาทต่อเดือน เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาทถ้วนหน้า โดยไม่มีเงื่อนไขต้องใช้งบประมาณมาดำเนินการ วงเงินประมาณ 650,000 ล้านบาท

พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายทั้งสิ้น 14 นโยบายหลัก ใช้งบประมาณร่วมเกือบ 1 ล้านล้านบาท เช่น นโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาท ใช้วงเงิน 128,000 ล้านบาท สวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รับไปเลย 3,000 บาท 70 ปี รับ 4,000 บาท และ 80 ปีขึ้นไป รับ 5,000 บาท ใช้วงเงิน 495,000 ล้านบาท หรือนโยบาย แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ ใช้วงเงิน 174,000 ล้านบาท

พรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบายจำนวน 11 นโยบาย วงเงินทั้งสิ้น 685,400 ล้านบาท อาทิ อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้านทุกห้องเรียน ใช้วงเงิน 3,600 ล้านบาท ชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน 3,400 ล้านบาท ตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาท เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน แหล่งทุนเพื่อนำมาขยายกิจการ ชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน ใช้วงเงิน 97,000 ล้านบาท

พรรครวมไทยสร้างชาติ นำเสนอ 11 นโยบาย วงเงินทั้งสิ้น 250,000 ล้านบาท เช่น นโยบายเพิ่มสิทธิ ‘บัตรสวัสดิการพลัส’ เป็น 1,000 บาทต่อเดือน ใช้วงเงิน 71,000 ล้านบาท นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ใช้วงเงิน 40,000 ล้านบาท คนละครึ่งภาค 2 ใช้วงเงิน 40,000 ล้านบาท นโยบายตั้ง ‘กองทุนฉุกเฉินประชาชน’ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท