
สภาผู้แทนนิสิตและนักศึกษา 29 สถาบัน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ส.ว. และ ส.ส. เคารพเสียงประชาชน ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของสภา
วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 สภาผู้แทนนิสิตและนักศึกษา 29 สถาบัน ออกแถลงการณ์ เรื่อง เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา และว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน เคารพเจตนารมณ์แห่งประชาชน ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
- หวั่น EV ไทย…ซ้ำรอยจีน
- “ทรู-ดีแทค” ถล่มโปร “คืนค่าเครื่อง” ย้ำรวมกันได้มากกว่า
- เปิด “ผังน้ำ” ประกบผังเมือง เขย่าราคาที่ดินทั่วประเทศ
เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า
“สืบเนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้สรุปภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด เป็นจำนวน 152 ที่นั่ง ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 113 ที่นั่ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 39 ที่นั่ง อีกทั้งพรรคก้าวไกลได้ออกมาแถลงเกี่ยวกับการรวบรวมเสียงพรรคการเมืองอื่น ๆ ฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ผลรวมจำนวนที่นั่งจากการรวมเสียงดังกล่าว มีคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ เพียงแค่เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ยังไม่เพียงพอต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการประชุมรัฐสภา ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน โดยการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 272 กล่าวคือจะต้องมีการนำเสียงของ ส.ว.เข้ามาร่วมลงมติ ดังนั้น จึงต้องมีการลงมติรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือจำนวน 376 เสียง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาสื่อต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอมุมมองของ ส.ว.บางส่วน เกี่ยวกับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งบางท่านได้ชี้แจงว่า ตนอาจลงมติไม่เห็นชอบนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมาก ของสภาผู้แทนราษฎร หรืออาจลงมติงดออกเสียง ซึ่งมีผลในทางปฏิบัติไม่ต่างไปจากการลงมติไม่เห็นชอบ ทัศนคติเช่นนี้ ของ ส.ว.บางท่านจึงเป็นที่น่าเป็นห่วงของประชาชนจำนวนมากที่ได้แสดงเจตนารมณ์ออกมาอย่างชัดเจนผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่มีนโยบายตอบสนองความต้องการของตนเอง
ในฐานะผู้แทนนิสิตและนักศึกษาจำนวนมาก จึงอยากเรียนถึงท่าน ส.ว.ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่คิดจะทำเช่นนี้ว่า ท่านจงอย่าได้ลืมว่าสิทธิ์ในการออกเสียงลงมติเพื่อกำหนดอนาคตของประเทศชาติที่ท่านถืออยู่ในกำมือ ด้วยความสำคัญตัวผิดนั้น เป็นสิทธิ์ที่พวกท่านไม่สมควรได้รับตั้งแต่แรก แต่เป็นสิทธิ์ที่คณะรัฐประหารได้ฉกฉวยจากประชาชนและมอบให้กับพวกท่าน การลงมติไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงนั้น จึงเป็นการไม่เคารพ และไม่ให้ความสำคัญต่อเสียงของประชาชนผู้ครองอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ซึ่งเป็นอำนาจที่ถูกแปรผลเป็นเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สภาผู้แทนนิสิต นักศึกษาทั้ง 29 มหาวิทยาลัย จึงขอให้ว่าที่สมาชิกผู้แทนราษฎรทุกท่าน ที่ได้รับเลือกโดยประชาชนและสมาชิกวุฒิสภา ตระหนักว่า “สิ่งเดียวที่พวกท่านผู้ทรงคุณวุฒิสามารถทำได้เพื่อคงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวท่านเองคือ การเคารพเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและลงมติตามนั้น มิใช่การยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์และใช้ดุลพินิจของตนในการตัดสินใจเสมือนว่าตนเองคู่ควรแก่การได้รับอภิสิทธิ์เหนือประชาชน”
หากท่านยังคงยึดมั่นในการตัดสินใจ ยึดถือความคิดของตนเหนือกว่าเสียงของประชาชน และไม่ให้เกียรติเสียงของประชาชน สภาผู้แทนนิสิตและนักศึกษา ก็พร้อมที่จะยืนหยัดเพื่อผลประโยชน์ของนิสิตและนักศึกษาในสถาบัน และเจตนารมณ์ของประชาชนทุกคน เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งหลักการประชาธิปไตย อันมีประชาชนเป็นผู้ครอบครองอำนาจอธิปไตยเป็นสําคัญ”