ไขปมรัฐสภาใหม่ พื้นที่จอดรถ ล่องหน-ต่ำเกณฑ์

ยังคงเป็นมหากาพย์ปัญหาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสัปปายะสภาสถาน หรืออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่กำลังก่อสร้างอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านแยกเกียกกาย

ปัญหาล่าสุดที่เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานเลขาธิการผู้แทนราษฎรนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างตัวอาคารรัฐสภาใหม่ ที่ก่อสร้างโดย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้าง เมื่อ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่ามีความกังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องที่จอดรถที่จะไม่เพียงพอ เนื่องจากทางผู้รับเหมาได้ลดแบบการก่อสร้างจากที่จอดรถทั้งหมด 3,000 คัน เหลือเพียง 2,000 คัน

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงกับผู้รับจ้าง นั่นคือบริษัทซิโน-ไทย เนื่องจากผู้รับจ้างไม่มีสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก เพราะผู้รับจ้างมีหน้าที่เพียงก่อสร้างอาคารทั้งหมดให้เป็นไปตามแบบที่ถูกกำหนดไว้

ทำให้ภายหลังเลขาธิการสภาต้องออกมาขอโทษ เนื่องจากให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

นายพีระ นาควิมล ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ระบุว่า บริษัทซิโน-ไทย หรือผู้รับจ้าง ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการก่อสร้างที่จอดรถไม่เพียงพอ เนื่องจากซิโน-ไทยก่อสร้างตามแบบที่กำหนด ทั้งนี้แบบของอาคารรัฐสภา ถูกออกแบบโดยกิจการร่วมค้าสงบ 1051 และถ้าหากจะมีปัญหาก็จะต้องมีปัญหาตั้งแต่ คณะกรรมการตรวจรับแบบที่มีการจ้างออกแบบตามทีโออาร์ ตามสัญญาอ้างอิงที่ 32/2553 ที่มีค่าจ้างในการออกแบบ 205 ล้านบาท แต่แบบที่ออกมานั้นผิดจากทีโออาร์เดิม ที่กำหนดให้มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 307,150 ตารางเมตร แต่ผู้ออกแบบได้ออกแบบอาคารพื้นที่ใช้สอย 495,113.43 ตารางเมตร

ในแบบที่ผู้ออกแบบส่งมอบให้กับคณะกรรมการตรวจรับแบบนั้นไม่ได้มีการขยายพื้นที่จอดรถเพิ่มเติมจากเดิม ทั้งที่มีการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเกินกว่าทีโออาร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น
และในแบบมีการกำหนดพื้นที่จอดรถเพียง 2,000 กว่าคันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากการออกแบบที่จอดรถเดิมตามทีโออาร์ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 307,150 ตารางเมตร จะต้องมีจอดรถทั้งสิ้นจำนวน 2,140 คัน (สำหรับอาคารขนาดใหญ่ กำหนดพื้นที่ 120 ตารางเมตร/ที่จอดรถ 1 คัน) และในแบบที่ออกมานั้น พื้นที่อาคารคิดเฉพาะพื้นที่ใช้สอย 424,000 ตารางเมตร มีลักษณะเป็นอาคารสำนักงาน จำนวน 1 อาคาร สูง 11 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้นครึ่ง โดยชั้น B2 เป็นที่จอดรถ ชั้น B1 เป็นชั้นห้องเครื่อง-ที่จอดรถ แต่จำนวนที่จอดรถที่มีอยู่ตามแบบก่อสร้างตามที่ผู้ออกแบบ สงบ 1051 ได้ออกแบบไว้และใช้เป็นแบบประกอบสัญญาจ้างก่อสร้างกับบริษัทซิโน-ไทย มีที่จอดรถเพียง 2,069 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ ภายนอกอาคารชั้นพื้นดิน จำนวน 69 คัน รถยนต์ จอดภายใต้อาคารชั้นใต้ดิน 1 จำนวน 514 คัน และรถยนต์ จอดภายใต้อาคารชั้นใต้ดิน 2 จำนวน 1,486 คัน

ทั้งนี้หากคำนวณพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดตามแบบที่บริษัทซิโน-ไทยเป็นคู่สัญญา ที่มีจำนวน 424,000 ตารางเมตร ผู้ออกแบบจะต้องมีการออกแบบที่จอดรถอย่างน้อย 3,534 คัน

และเมื่อนำจำนวนที่จอดรถที่มีอยู่ตามแบบคู่สัญญาของบริษัทซิโน-ไทยไปเปรียบเทียบกับจำนวนที่จอดรถที่ควรจะต้องมีตามขนาดพื้นที่ใช้สอยของอาคารที่จะก่อสร้างตามอัตราส่วนต่อพื้นที่ที่กฎกระทรวงและเทศบัญญัติ กำหนดไว้ 3,534 คัน

ดังนั้น ปัจจุบันแบบก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จึงมีที่จอดรถน้อยกว่าที่กฎกระทรวงและเทศบัญญัติกำหนดไว้ถึง 1,465 คัน

นอกจากนี้ นายพีระได้อธิบายว่า การออกแบบอาคารรัฐสภาเป็นการออกแบบที่ใหญ่เกินความจำเป็น เกินกว่าทีโออาร์กำหนด และยังมีที่จอดรถไม่เพียงพอ เพราะหากคำนวณจากข้าราชการและผู้ที่จะมาทำงานรัฐภา แบ่งเป็นข้าราชการประจำ 3,500 คน ข้าราชการการเมือง ส.ส.-ส.ว. 750 คน และกฎหมายใหม่ กำหนดให้ ส.ส.-ส.ว. ที่มีปรึกษา-เลขา-ผู้ติดตาม คนละ 5 คน ก็จะมีผู้ติดตาม ส.ส.-ส.ว. 3,750 คน

“เมื่อนำตัวเลขมารวมกัน จะมีผู้ที่อยู่ประจำในอาคาร 8,000 คน หากนับค่าเฉลี่ยตัวเลข 2 คนต่อหนึ่งคัน ก็จะต้องมีที่จอดรถอย่างน้อย 4,000 คัน และจำนวนนี้ยังไม่ได้นับรวมผู้มาติดต่อกับรัฐสภาอีกอย่างน้อยวันละ 2,000 คน ซึ่งเรารู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะมีปัญหา ได้แนะนำ ชี้แจง แจ้งเตือน แต่ก็ไม่มีใครสนใจ ดังนั้นเราก็จะทำหน้าที่การก่อสร้างตัวอาคารให้แล้วเสร็จเท่านั้นส่วนเรื่องอื่นไม่ใช่หน้าที่เราที่จะต้องรับผิดชอบŽ” นายพีระกล่าว

ด้าน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดให้ต้องจัดที่จอดรถให้สอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอย คือ ต้องมีพื้นที่จอดรถประมาณ 3,000 กว่าคัน

ดังนั้น จึงทำให้พื้นที่จอดรถหายไปเกือบ 2 พันคัน

“สอบถามไปยัง กทม. ได้รับคำตอบว่า ให้เรายึดหลักปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราไม่ได้นิ่งนอนใจและหาแนวทางแก้ไข โดยอาจจะมีการปรับพื้นที่จอดรถให้เบียดกันมากขึ้นเหมือนกับในห้างสรรพสินค้า หรืออาจจะเช่าหรือขอความอนุเคราะห์จากกรมทหาร ซึ่งอยู่ตรงข้ามรัฐสภา หรือเช่าสถานที่ของเอกชนในละแวกนั้นเพื่อใช้เป็นที่จอดรถเพิ่มเติมแล้วจัดรถรับส่งมายังอาคารรัฐสภาใหม่ แต่นี่เป็นเพียงทางออกที่ยังไม่ได้มีการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพราะจะต้องรอให้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เรียบร้อย และมีความคืบหน้ามากกว่านี้ก่อน นอกจากนี้ใต้ดินของอาคารรัฐสภาบริเวณด้านหน้ายังสามารถทำพื้นที่จอดรถใต้ดินเพิ่มได้อีกในอนาคตด้วยŽ”

“เรื่องแบบพื้นที่จอดรถที่ผิดพลาดนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 หรือ 2555 ซึ่งขณะนั้นอาจจะคิดว่าเพียงพอ แต่เมื่อไม่สอดคล้องกับเทศบัญญัติของกรุงเทพฯ เราจึงสอบถามไปยังผู้ออกแบบว่าจะแก้ไขอย่างไร เขาตอบว่าให้จอดรถบนสนามหญ้าด้านบนแทน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะบริเวณด้านบนนั้นเราต้องการให้เป็นพื้นที่สีเขียว ใจผมอยากได้พื้นที่สีเขียวมากกว่า ไม่อยากให้มีการจอดรถด้านบน เพราะไม่สวย จริงอยู่ที่การสร้างพื้นที่จอดรถใต้ดินอาจจะใช้งบประมาณมากกว่าการสร้างบนอาคาร แต่เราจะหาทางแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ดีที่สุด เพราะในอนาคตเชื่อว่าเรื่องปัญหาที่จอดรถนั้นจะต้องมีให้แก้ไขอีกแน่นอนŽ” นายสรศักดิ์กล่าว

ตอนนี้ ”สัปปายะสภาสถาน”Ž ซึ่งก่อนหน้านี้หวังจะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ กำลังกลับกลายเป็นปัญหา

ปัญหาที่กำลังรอการแก้ไข

 

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2561