เศรษฐา ออกคำสั่งพิเศษตั้งบอร์ดฉุกเฉินล้วงเงินท้องถิ่น โละ คกก.ระดับชาติยุคประยุทธ์ 

เศรษฐา ประชุม ครม.ครั้งแรก

เศรษฐาท็อปฟอร์ม ถก ครม.นัดแรก คลอดมาตรลดค่าครองชีพ น้ำมันดีเซล-ค่าไฟฟ้า ตั้งคณะทำงานแก้รัฐธรรมนูญ-เข็นนโยบายเพื่อไทย ออกคำสั่งพิเศษ 14 เรื่อง    

วันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเป็นประธานว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพราคาน้ำมันดีเซล ลดค่าไฟฟ้า แต่งตั้งคณะกรรมการทำงานด้านต่าง ๆ รวมถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผลบังคับเทียบเท่ามติ ครม. จำนวน 11 เรื่อง ดังนี้ 

ตั้ง คกก.จัดงาน 6 รอบ ในหลวง

เรื่องแรก นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่ง จัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในหลวงรัชกาลที่ 10 เพื่อให้สมพระเกียรติ โดยมอบหมายให้นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการ  

เรื่องที่สอง การแก้ปัญหาความเห็นต่างเรื่องรัฐธรรมนูญ ภายใต้หลักการของ ครม.ที่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปัตย์มากขึ้น ส่วนจะแก้ไขอย่างไรนั้น ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ โดยให้ไปรับฟังเสียงของประชาชนก่อน ดังนั้นในรอบนี้จึงต้องมีการทำประชามติ ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนถึงคำถามของการถามในประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

“แต่ว่ามี remake การแก้ไข หนึ่ง ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น สอง ไม่แก้หมวดพระมหากษัตริย์ หลักการมีเท่านี้”

เรื่องที่สาม การเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นเจ้าภาพในการกำหนดเงื่อนไข แนวทางและรายละเอียด โดยให้นำกลับมาเสนอโดยเร็ว 

“เร็วในที่นี้อาจจะเป็นการประชุม ครม.ในเที่ยวหน้าเลยก็ได้ หรือเร็วที่สุด ท่านนายกฯย้ำว่า ประชาชนรอความชัดเจนอยู่ โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงิน ควรศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ”

เพิ่มไฟลต์บินช่วงไฮซีซั่น 

เรื่องที่สี่ เรื่อง ควิกวินสำหรับประเทศไทย เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวเดียวในเวลานี้ ยังพอเดินหน้าและยังพอเป็นความหวังจะสร้างรายได้ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วให้กับประเทศ ไม่มีเครื่องจักรตัวไหนดีเท่าการท่องเที่ยว 

รายได้จากการท่องเที่ยวเคยขึ้นถึงพีกที่สุดปี 2562 ก่อนโควิด-19 มูลค่า 3 ล้านล้านบาท มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.93 ล้านล้านบาท หรือ 13.9 ล้านคน 

ครึ่งปีแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15 ล้านคน รายได้ 1.08 ล้านบาท ปีนี้โอกาสทองของเรา 3 เดือนกว่า ซึ่งกำลังเข้าสู่ไฮซีซั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

รัฐบาลได้กำชับ รมว.การท่องเที่ยวฯ ตั้งเป้าปีนี้นักท่องเที่ยวปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 28 ล้านคน รายได้เพิ่มจากเดิม 1.4 ล้านล้านบาท รายได้นักท่องเที่ยวในประเทศ 1 ล้านล้าน ปีนี้ 2.4 ล้านล้านบาท 

“เป้าหมายใหญ่ไม่ได้อยู่นี้ อยู่ปี 2567 ต้องทุบสถิติทะลุ 3.1 ล้านล้าน โดยเล็งนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน นักท่องเที่ยวในประเทศ 180 ล้านคนครั้ง”

รีสตาร์เครื่องยนต์ท่องเที่ยวครั้งใหญ่ 

นายชัยกล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่จะเป็นไม้เด็ดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว เรียกว่า บัญญัติ 10 ประการ เพื่อรีสตาร์ตครั้งใหญ่ ให้การท่องเที่ยวไทยเป็นเครื่องจักรที่จะทำรายได้ เป็น quick win new income เข้ามาสู่ประเทศ เพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ดังนี้ 

หนึ่ง วีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน “ทำไมต้องเป็นนักท่องเที่ยวจีน เมื่อปี’62 มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศ 154 ล้านคน และแนวโน้มจะแตะ 200 ล้านคนต่อปี ศักยภาพสูงมากกับคาซัคสถาน ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมาย”

สอง การดูแลเรื่องการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องกกำหนดแผนดูแลเป็นอย่างดีและถ้าหากมีความผิดพลาดเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบ

สาม สร้างความมั่นใจในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยมีแผนทำภาพยนตร์ หนังโฆษณา สื่อสารโดยการดึงอินฟลูเอนเซอร์ ดารา ศิลปิน นักร้อง ตัวแทนของส่วนราชการที่มีสถานะเป็นรัฐบาลของจีนระดับสูง เพื่อสร้างความมั่นใจ

ถือธงนำ บุกเมืองรองจีน

สี่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลคู่ความร่วมมือ “นายกรัฐมนตรีจะนำคณะเอง รัฐบาลคู่ความร่วมมือ เดินทางไปเยือนประเทศเป้าหมาย ไปเชิญชวนให้มาประเทศไทย เราพร้อมรับท่าน”

ห้า กระตุ้นศักยภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มเที่ยวบิน เพิ่มความถี่ โดยเฉพาะเที่ยวบินที่ไปเมืองรองที่มีศักยภาพสูง 

“หลายเมืองของจีนเป็นมลฑลที่ไม่เคยมีสายการบินไปเลย ไม่มีไดเรคไฟล์ทแต่เมืองนั้นสังกัดมลฑลที่มีประชากร 30-50 ล้านคน ซึ่งเป็นเมืองรองเป้าหมายที่เราต้องไปให้ได้ เราเตรียมที่จะเพิ่มเที่ยวบินโดยตรงหลายเมือง เพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้ามาตามเป้าหมายของเรา”

หก เร่งพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน ได้คุยกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่าสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ต้องบริการทุกระดับประทับใจ ต้องสร้างความแตกต่าง

เวิลด์อีเวนต์-เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฮับ 

เจ็ด ส่งเสริมการจัดอีเวนต์ให้การท่องเที่ยวประเทศไทยให้มีจุดขายให้ใครก็อยากจะเที่ยว 365 วัน เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ รัฐบาลจะทำให้เป็นเวิลด์คลาสอีเวนต์ 

แปด เวิล์ดเอเย่นต์ขานรับพร้อมเสนอแพ็กเกจโปรโมชั่นดึงดูดใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ เก้า มุ่งส่งเสริมให้เมืองไทย เป้าใหญ่คือเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฮับ เป็นฮับของความบันเทิง กิจกรรมบันเทิงในเอเชีย 

ข้อที่สิบ-ข้อสุดท้าย สำคัญมาก รัฐบาลจะตั้ง online Crisisment โดยมีทีมที่จะมอนิเตอร์ เมื่อมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นก็จะเข้าไปชี้แจง เข้าไปเทคเกิลทันที 

อุ๊งอิ๊งค์ นั่งรองประธานซอฟต์พาวเวอร์ 

นายชัยกล่าวว่า เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ นายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยได้ประกาศไว้ตอนหาเสียงเป็นเรื่องสำคัญมาก ภายใต้นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน จ้างงาน 20 ล้านครัวเรือน เรื่องใหญ่มาก 

“นายกรัฐมนตรีได้บัญชาให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธานเอง มีคุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน มีอาจารย์พันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการ โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นคนที่ทำให้การทำงานของคณะกรรมการเดินหน้าทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ” 

เรื่องที่หก เรื่องการเปลี่ยนบทบาทภาครัฐ จาก regulator เป็นผู้ดูแล เป็นผู้กำกับ เป็นคุณพ่อรู้ดี ทำให้การดำเนินชีวิต การทำมาหากินของผู้คนและการดำเนินธุรกิจเจออุปสรรคซ้ำซ้อน เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน

“ท่านนายกฯได้สั่งการและแจ้งในที่ประชุมว่า ให้ทุกกระทรวงไปดูว่า ที่ผ่านมามีมติ ครม. อะไรบ้างที่มีการประกาศตั้งคณะกรรมการชุดโน้น ชุดนี้ ล่าสุด เลขาธิการ ครม.บอกว่า มี 178 ชุด ภายในวันที่ 25 กันยายนนี้ คณะกรรมการชุดไหนที่ยังคุ้มค่าอยู่ควรจะมีต่อไปเสนอขึ้นมา เดดไลน์ไม่เกินวันที่ 25 กันยายน พร้อมด้วยเหตุผลทำไมถึงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการชุดนั้นอยู่ ถ้าไม่มีข้อเสนอที่ดีให้ยกเลิกทั้งหมด”

“ให้กระทรวงทบวงกรมที่ในอดีตได้รับคำสั่ง คสช.หรืออำนาจ คสช.และยังต้องปฏิบัติตามนั้นให้ไปทบทวนทั้งหมด ว่า บรรดาคำสั่ง คสช.หรือหัวหน้า คสช.ทั้งหลายทั้งปวงยังมีอะไรที่จำเป็นต้องคงไว้ไหม และต้องเสนอกลับมาภายในวันที่ 9 ตุลาคม ถ้าไม่เสนอมาถือว่าเป็นอันยกเลิกทั้งหมด”

นายชัยกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีใช้คำพูดว่า ต่อไปนี้ประชาชนมีความคิดสร้างสรรค์จะทำอะไร ถ้าไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าห้ามทำให้ถือว่าทำได้ทุกอย่าง     

ตั้ง คกก.ฉุกเฉินรับเอลนีโญล้วงเงินสำรอง อปท.

เรื่องที่เจ็ด ตั้งคณะกรรมการด่วนที่สุดเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในบางจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ 

“ทันทีที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศมีเงินทุนสำรอง อบต.ก็มี อบจ.ก็มี เทศบาลก็มี เงินทุนสำรองเหล่านี้มากพอที่จะเปิดประตูขึ้นมาแล้วทำโครงการขนาดเล็ก เช่น ฝาย ธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งทำได้ทุกท้องที่ในตำบล ใช้งบประมาณไม่มาก เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ท้องถิ่นสามารถทำได้ทันที”

เรื่องที่แปด เรื่องประมง ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทยเพื่อความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมประมง โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และนายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษา 

ลดค่าน้ำมันดีเซล-ค่าไฟฟ้า 

เรื่องที่เก้า ด้านพลังงาน ครม.มีมติสองมาตรการลดค่าครองชีพ ส่งผลให้ประชาชนประหยัดไปวันละ 300 กว่าล้านบาท ประกอบด้วย 

ค่าไฟฟ้าตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายนนี้จะลด 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย หรือลดไป 0.35 สตางค์ต่อหน่วย ประหยัดเงินในกระเป๋าประชาชนวันละ 189 ล้านบาท 

ราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ปัจจุบัน 32 บาทต่อลิตร เท่ากับประหยัดไปลิตรละ 2 บาท หรือ ประหยัดไปวันละ 148 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนนี้  

เรื่องที่สิบ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ไปแต่งตั้งคณะทำงานยกระดับมาตรฐานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค

“ต่อไปนี้จะไปโรงพยาบาลนัดล่วงหน้า ไม่ต้องไปคอย หรือสามารถนำใบรับยาให้ญาติไปรับยาร้านยาใกล้บ้านได้เลย ส่งต่อได้ทันทีไม่ต้องขอใบประวัติ ที่สำคัญไม่ต้องมีโรงพยาบาลประจำ ผู้ใช้บริการอยากไปโรงพยาบาลไหน ไปได้เลย เหมือประกันเอกชนดูแล เราเลือกไปโรงพยาบาลไหนก็ได้ เป็นเวอร์ชั่นใหม่ เอาผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ประชาชนสะดวก ไม่ใช้ผู้ให้บริการสะดวก”

พักหนี้เกษตรกรเอสเอ็มอี-จ่ายเงินข้าราชการสองรอบ

เรื่องที่สิบเอ็ด การพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินนโยบายพักหนี้และกลับมาเสนอภายใน 14 วัน ว่ากรอบแนวทางการชำระหนี้เป็นอย่างไร 

เรื่องที่สิบสอง เงินเดือนราชการจากจ่ายรอบเดียว ต่อไปนี้หนึ่งเดือนจ่ายสองรอบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้กรมบัญชีกลางไปดูแล 

เรื่องที่สิบสาม เรื่องปราบปรามผู้มีอิทธิพล ส่วย ปืนเถื่อน ค้าของเถื่อน การซื้อขายตำแหน่ง โดยมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทยไปตั้งทีมงานกวาดล้างผู้มีอิทธิพล 

“ท่านนายกฯบอกว่า ที่ผ่านมามีคำสั่งเรื่องปืนหลายเรื่องไม่เวิร์กเลย คราวนี้น้องเวิร์ก และทีเด็ดของเรื่องนี้ ท่านนายกฯบอกว่า จะถือเป็น KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดนั้น ๆ และ กอ.รมน.จังหวัด 3 บิ๊กนี้ ท่านบอกว่าถ้าเอาเรื่องนี้ไม่อยู่ 3 ท่านนี้ต้องรับผิดชอบ ถ้าอยากรักษาตำแหน่งเอาไว้ต้องตอบสนองนโยบายนี้ ต้องให้ราบคาบ ต้องให้รวดเร็ว รวมถึงยาเสพติด”

เรื่องที่สิบสี่ เรื่องการใช้เงินนอกงบประมาณ นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง มีข่าวอยู่เป็นระยะว่า ข้าราชการชั้นสูงใช้เงินนอกงบประมาณไปทัวร์ไปเที่ยว เป็นเรื่องไม่เหมาะสม ต้องไปกำกับดูแล มีบ้างแต่ต้องสมเหตุสมผล อย่างพร่ำเพรื่อเหมือนที่ผ่านมา

“ท่านนายกฯสั่งทีมงานว่า ต่อไปนี้ไปออกพื้นที่ อย่ายกขบวนไปเยอะ ลดขบวนลงให้น้อยที่สุด ประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อน”