เศรษฐานำไทย-มาเลเซียเดินหน้าร่วมมือ หวังเป็นพื้นที่แห่งการเติบโตใหม่

เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐานำไทยหารือมาเลเซีย ต่อยอดความร่วมมือบนพื้นฐานของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย ณ เมืองปุตราจายา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (H.E. Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ นายชัย วัชรงค์ สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายเศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่า การเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสย้ำความมุ่งมั่นและต้องการที่จะทำงานเพื่อเดินหน้าศักยภาพและความร่วมมือระหว่างกัน บนพื้นฐานของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยในโอกาสแรกที่สะดวก

โดยนายกรัฐมนตรียังได้เสนอความร่วมมือทางด้านอาหาร สินค้าเกษตร ซึ่งไทยมีความมั่นคงทางอาหาร จึงหวังที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านอาหารฮาลาลส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ

ผู้นำทั้ง 2 เห็นพ้องที่จะตั้งคณะทำงานร่วมกัน (task force group) ในด้านที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ด้านการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

โดยผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้ ไทยและมาเลเซียต่างเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจะตั้งเป้าหมายการค้า (bilateral trade) ระหว่างกันใหม่ โดยต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของกันและกันในอาเซียน ซึ่งการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนจะเป็นกุญแจสำคัญ

ทั้งนี้ หวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว โดยต่อยอดจากความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงสำรวจความร่วมมือในการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าและระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (hi-tech sectors) รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (proton) รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI)

มุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงภาคใต้ของประเทศไทย และตอนเหนือของมาเลเซียให้เป็นพื้นที่การเติบโตใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งเร่งรัดความคืบหน้าโครงการเชื่อมโยงที่สำคัญต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อ 2 ประเทศเข้าด้วยกัน และจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า และการเดินทางของประชาชน

ซึ่งหากประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางข้ามชายแดนได้ง่ายขึ้น และทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายแดน ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว และส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจท้องถิ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้งเป็นพื้นที่การค้า

“ไทยและมาเลเซียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาคภายใต้อาเซียน รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พร้อมร่วมมือกับมาเลเซียเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน และส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค” นายเศรษฐากล่าว