ศิริกัญญา มองเงินดิจิทัลแจกทันเดือน ก.พ. แนะ 2 วิธีจ่ายรวดเดียว

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล

ศิริกัญญา แนะ 2 วิธี จ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ดรวดเดียว 10,000 บาท เปิด 2 วิธีหากไม่อยากถึงทางตัน

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล ว่า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ติดต่อมาขอข้อมูลของโครงการนี้ ในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันกับตนจริง ซึ่งตนก็ได้ส่งเอกสารงานวิจัยให้กับนายจุลพันธ์ไปศึกษาเพิ่มเติมแล้ว แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการนี้ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังขะมักเขม้น ในการหาข้อสรุปในรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน

ส่วนกรณีที่ตนได้โพสต์ข้อความว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล อาจถึงทางตันแล้วนั้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ธนาคารออมสินถือเป็นแหล่งเงินสำคัญที่จะนำมาดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท และได้มีการยื่นให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความพระราชกฤษฎีกากำหนดธนาคารออมสิน

แต่ไม่พบข้อกำหนดที่จะทำให้ธนาคารออมสินสามารถนำเงินมาให้รัฐบาลใช้ดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทได้ แหล่งเงินสำคัญของโครงการเป็นหมันไม่สามารถนำมาใช้ได้ ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ก็พบว่า มีเงินเหลือเพียงหลักหมื่นล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในขณะนี้ คือต้องกลับมาดูว่า จะสามารถหาแหล่งเงินขนาดใหญ่ เพื่อนำเงินมาดำเนินนโยบายนี้ได้อย่างไร

นางสาวศิริกัญญากล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขรายละเอียดของนโยบายหลายอย่าง เพื่อลดจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ และอาจต้องเปลี่ยนการจ่ายเงินจากการจ่ายที่เดียว 1 หมื่นบาท เป็นทยอยแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ครอบคลุม 2 ปีงบประมาณขึ้นไป จึงจะมีเงินเพียงพอ เพราะลำพังเพียงการเพิ่มฐานอายุของผู้มีสิทธิรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่เพียงพอที่จะลดวงเงินงบประมาณได้

อาจจะต้องมีการเพิ่มมาตรการพิสูจน์ความรวยเพื่อจำกัดสิทธิ์ในการรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก เช่น การกำหนดว่าผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 3 หมื่น หรือ 5 หมื่นบาทขึ้นไป จะไม่ได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ เชื่อว่าประชาชนเข้าใจได้ หากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข

เนื่องจากนโยบายนี้ ก็ไม่ตรงปกมาตั้งแต่ต้น หากจำเป็นต้องดำเนินการบางอย่าง เพื่อให้นโยบายดำเนินการต่อไป ประชาชนจะไม่มองว่ารัฐบาลผิดคำสัญญา หากรัฐบาลสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเรื่องข้อจำกัด ทั้งเรื่องงบประมาณ และข้อกฎหมายที่ยังมองไม่เห็นในช่วงหาเสียง

นางสาวศิริกัญญากล่าวอีกว่า แต่หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ภายในงวดเดียว ด้วยงบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาท ก็มีเพียง 2 วิธีคือ หนึ่ง แก้กฎหมายธนาคารออมสิน แต่ก็จะเป็นการกระทำที่ชัดเจน สามารถที่จะพูดมากเกินไป ว่าทำเพื่อให้รัฐบาลสามารถกู้เงินจากธนาคารออมสินได้ สอง ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเงินกู้ เพื่อดำเนินโครงการ แต่ก็จะเป็นวิธีที่เสี่ยงต่อรัฐบาลมากทางด้านการเมือง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะเอื้อให้รัฐบาลต้องทำเช่นนั้น

แต่นอกจาก 2 วิธีนี้ ก็ไม่เห็นทางแล้วที่รัฐบาลจะได้เงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ในครั้งเดียว ดังนั้น จึงมองว่ายังเป็นไปได้ที่การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะทันในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่จะยากลำบากเป็นอย่างมาก ในการลุยไฟแก้ไขกฎหมาย รวมถึงพัฒนาซุปเปอร์แอพพ์ บล็อกเชน และระบบรองรับต่างๆ ทำให้ความเป็นไปได้น้อยมาก