สว. ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ’60 ยื้อประชามติ 2 รอบ จ่าย 7,000 ล้าน

รัฐธรรมนูญ’60
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ สร.2 ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 60

กำลังเดินหน้าศึกษาความเห็นและขั้นตอนการทำ “ประชามติ” ว่าสุดท้ายแล้ว การทำรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติกี่ครั้ง กี่หน เพราะนาทีนี้ยังมีความคิดเห็นกระจัดกระจายเรื่องจำนวนครั้งในการทำประชามติ

เนื่องจากติดล็อกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔/๒๕๖๔ ที่ได้วินิจฉัยไว้ว่า การจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องถามประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าจะประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ล็อกต่อมาคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดว่า หากแก้ไขเรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม-หน้าที่ และอำนาจขององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า จะต้องทำประชามติ

อาจนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกรอบ รวมถึงการ “ตั้งคำถาม” ประชามติ จะตั้งในลักษณะอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ก่อนจะเข้าสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ความไม่ชัดเจน นำมาสู่สถานการณ์ล่าสุดที่ “ภูมิธรรม” เผยไอเดียว่า จะขอคำตอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 ข้อ

1.การตีความของ กกต.จะมีการทำประชามติกี่ครั้ง

2.เพื่อประหยัดงบประมาณ จะสามารถจัดทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ (นายก อบจ.)

และ 3.จะใช้โซเชียลมีเดียมาร่วมลงทะเบียนได้หรือไม่ หากทำได้จะสะดวกมากขึ้น อาจทำให้การใช้จ่ายในการเลือกตั้งลดน้อยลงไปมาก

แต่อีกด้านหนึ่งในมุมของวุฒิสภา ซึ่งเป็น “กลไก” สำคัญในการโหวต-ไม่โหวตรัฐธรรมนูญ เพราะทุกกระบวนการในการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีเสียง สว.สนับสนุนจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ สว.ทั้งหมด

ระหว่างทางที่ฝ่ายสภาล่างคือ รัฐบาลกำลังชุลมุน ตั้งลูกรื้อรัฐธรรมนูญใหม่ สว.มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ พิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควร จะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ วุฒิสภามี สว. “สมชาย แสวงการ” เป็นประธานกรรมาธิการ

ศึกษาการทำประชามติการรื้อ การแก้รัฐธรรมนูญ-คุ้มค่าแค่ไหน ส่งผล อย่างไร เพืิ่อสรุปให้หน่วยงานรัฐ-สภาล่าง-รัฐบาลไปพิจารณา

ไม่มีชี้ความบกพร่อง รัฐธรรมนูญ 2560

อันดับแรก เรื่อง “ญัตติ” การทำประชามติ กรรมาธิการของ สว.เห็นว่าญัตติที่ขอให้มีการออกเสียงประชามติ ที่ถามประชาชนว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” ซึ่งนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.ก้าวไกล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เพื่อไทย เป็นผู้เสนอ (ในการประชุมสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565)

ยังขาดสาระสำคัญที่ชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องอันเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

“การกล่าวถึงแง่ที่มาของรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นผลมาจากการทำรัฐประหาร เพียงประการเดียวจึงยังมิใช่เหตุผลอันสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แต่ประการใด”

รัฐธรรมนูญ’60

คำถามไม่เคลียร์ เสี่ยงรุนแรง

ความไม่ชัดเจนเรื่องโดยที่ญัตติดังกล่าวมีคำถามประชามติที่ยังมีความไม่ชัดเจนและก่อให้เกิดการตีความได้หลายนัย เช่น คำว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีองค์ประกอบอย่างไร และมีหน้าที่และอำนาจเพียงใด

การที่สาระสำคัญของญัตติและคำถามประชามติมิได้ระบุถึงขอบเขตของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอาไว้โดยชัดเจนและเพียงพอ หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่ออัตลักษณ์สำคัญของชาติ รวมถึงคุณค่าสำคัญที่สังคมไทยหวงแหนและรักษาไว้ร่วมกันได้

ซึ่งอาจนำไปสู่การขัดแย้งหรือแตกแยกในทางความคิดอย่างรุนแรงขึ้นในสังคมได้

แก้รายมาตรา คนเข้าใจง่ายกว่า

การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจ ว่าการถามประชามติเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีประเด็นต้องทำความเข้าใจจำนวนมาก ซึ่งจากการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งที่ผ่านมา แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนทุกระดับแล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดด้านระยะเวลาเมื่อเทียบกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีจำนวนมาก จึงทำให้ประชาชนมีข้อจำกัดในการตัดสินใจออกเสียงประชามติ

“เมื่อเทียบเคียงกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือรายประเด็น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในประเด็นที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติน่าจะทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่า”

ดังนั้น จึงควรนำข้อพิจารณานี้ไปประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบด้วย

สิ้นเปลืองงบฯ 7 พันล้าน

จากการพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ จะเห็นได้ว่าการจัดให้มีการออกเสียงประชามติในแต่ละครั้งมีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับการดำเนินการดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งการจัดให้มีการออกเสียงประชามติทั้งกระบวนการสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งรวมแล้วอาจต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท

และหากประชาชนให้ความเห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญอีกจำนวนมากด้วย

นอกจากนี้ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติยังถือเป็นการใช้จ่ายงบประมาณนอกแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี ที่จะต้องมีกระบวนการทางกฎหมายและการเงินการคลังเพิ่มขึ้น

ในการนี้ แม้จะได้ดำเนินกระบวนการทั้งหมดแล้ว ก็ยังอาจคาดหมายได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาที่เหมือน หรือแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

ดังนั้น การพิจารณาว่าสมควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามญัตติดังกล่าว จึงต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าและความได้สัดส่วนกันของผลสัมฤทธิ์ที่จะได้รับ กับกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการด้วย

ในปี 2567 เกมรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทั้งปี เพราะต้องมีการทำประชามติ 100%

และใหญ่มากหากต้องใช้เงินกว่า 3.5 พันล้านในการทำประชามติแต่ละครั้ง แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลต้องกู้เงิน 5 แสนล้านมาขับเคลื่อนโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต