จาตุรนต์ เพื่อไทย ไม่มีทางเลือก ทุบหม้อข้าวแก้รัฐธรรมนูญ-ฟื้นเศรษฐกิจ

จาตุรนต์ ฉายแสง
จาตุรนต์ ฉายแสง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

นโยบายพรรคเพื่อไทย ประกาศวาระแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อต้องการล้างมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย !

ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนหลังการเลือกตั้ง หรือแม้ช่วงจัดตั้งรัฐบาล ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “จาตุรนต์ ฉายแสง” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

เขาเป็นคนที่ไม่สยบยอม ไม่ยอมไปรายงานตัว ตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร เป็นคนด่านหน้าที่ออกมาไม่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อพรรคเพื่อไทย พลิกกับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และถูกตั้งข้อสงสัยถึงความจริงใจ-จริงจังแก้รัฐธรรมนูญ หลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แทนที่จะนับ 1 ทันที

จาตุรนต์ออกโรงเตือนพรรคเพื่อไทยว่า ถ้าไม่จริงจังกับคำว่า รัฐธรรมนูญ คำว่า “หมดหน้าตัก” อาจหมดหน้าตักจริง ๆ โดยไม่เหลืออะไรเลย…

อุปสรรคแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อพรรคเพื่อไทย อยู่ในวงล้อมของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่เคยอยู่ในระบอบประยุทธ์ จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคหรือไม่ “จาตรุนต์” ตอบคำถามแรกนี้ว่า… ความจริงพรรคที่มาร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เคยมีความพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญอยู่ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่จะมีความชัดเจนแค่ไหนในคราวนี้คงต้องมีการหารือกัน ขณะนี้คณะรัฐมนตรีมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (ภูมิธรรม เวชยชัย) ไปตั้งคณะกรรมการที่จะประกอบด้วยหลายฝ่าย ศึกษาพิจารณาเรื่องการทำประชามติ ที่เกี่ยวกับการจะยกร่างรัฐธรรมนูญ

ต้องดูว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะมีข้อสรุปอย่างไร แต่การลงประชามติ มีเรื่องยุ่งยากซับซ้อนอยู่ เพราะถ้าใช้กฎหมายประชามติ ก็จะเจอปัญหาเรื่องการต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ

ยังมีประเด็นว่าการจัดทำประชามติโดยคณะรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐสภาจะมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การลงประชามตินั้นจะมีทางกฎหมายเลยหรือไม่

การเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ที่มา ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ในส่วนนี้ทาง ครม.ยังไม่มีมติที่ชัดเจน พรรคการเมืองก็ต้องเตรียมนโยบายของตนเองไว้ด้วย

เพราะการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนก็ยกร่างแล้ว ได้รายชื่อครบแล้วด้วย พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็คิดว่ามีร่างรัฐธรรมนูญแล้ว การเสนอเข้าสู่สภาอาจเกิดขึ้นเร็ว ก่อนที่คณะของรัฐบาลจะมีข้อสรุป ดังนั้น พรรครัฐบาลก็ต้องเตรียมนโยบาย เตรียมจุดยืนของตัวเอาไว้

ในส่วนพรรคเพื่อไทยก็มีการหารือกัน ที่ประชุม สส.มอบให้ อาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคซึ่งอาจารย์อาสาที่จะไปประชุมคณะนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ คิดว่าจะมีการกำหนดจุดยืน นโยบายของพรรคสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันจะเป็นอย่างไร ก็คงจะมีข้อสรุปกันในเร็ว ๆ นี้

ส.ส.ร.ในดีเอ็นเอเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยจริงจัง จริงใจแค่ไหนกับการแก้รัฐธรรมนูญ “จาตุรนต์” ตอบว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายชัดเจนต่อเรื่องรัฐธรรมนูญมาตลอด คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ในการลงประชามติ เนื่องจากเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญมาจากคณะรัฐประหาร และไม่เป็นประชาธิปไตย

แต่นโยบายที่เป็นหลักมาตลอดคือ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมามีนโยบายอย่างนั้น อย่างเดิม และประกาศชัดเจน จนถึงวันนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่มีมติเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้

“ซึ่งผมเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังจะยืนยันแก้รัฐธรรมนูญ โดยให้มี ส.ส.ร. เป็น ดีเอ็นเอ ของพรรคไปแล้ว ในขณะที่รัฐธรรมนูญก็ยังเป็นปัญหาอยู่อย่างเดิม และยิ่งนับวันยิ่งแสดงให้เห็นปัญหามากยิ่งขึ้น ดังนั้น พรรคเพื่อไทย ไม่มีทางเลือก มีทางเดียวคือผลักดันแก้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง”

“แต่การแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหาอยู่ว่า การจะแก้ให้สำเร็จได้จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และต้องใช้เสียงของฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญจะต้องมีการประนีประนอม ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน สว. หรือฝ่ายค้าน”

“ถ้าหากว่าจะเอาตามใจตัวเองเลย หรือไม่ยอมผ่อนตามฝ่ายค้านเลย มันก็แก้ไม่ได้ ดังนั้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยก็ต้องมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการประสานร่วมมือเพื่อให้การแก้ไขเกิดขึ้น”

การเมืองครอบงำ เกิดแรงต้าน

จาตุรนต์ขยายความว่า “คำว่าประนีประนอมในขั้นตอนนี้ เป็นเรื่องของการจะแก้ทั้งฉบับหรือไม่ และโดย ส.ส.ร.หรือไม่ และ ส.ส.ร.จะมีองค์ประกอบอย่างไร ถ้าบอกว่าประนีประนอมแล้วไปสู่การไม่แก้รัฐธรรมนูญ อย่างนี้ไม่มีประโยชน์ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ควรประนีประนอมไปถึงขั้นนั้นไม่ว่ากับใคร ถ้าจะแก้รายมาตราเท่านั้น พรรคเพื่อไทยก็ไม่ควรประนีประนอมกับใครเช่นกัน”

จะประนีประนอมกันแค่ไหน ถ้าไม่เอาตามฝ่ายค้านเลย หมายถึง ไม่ยอมตามฝ่ายค้านบ้างเลยก็ย่อมแก้ไม่ได้ พอถึงเวลาจะเอาตามรัฐบาลหรือเอาตามพรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านก็ไม่ยกมือให้ มันก็แก้ไม่ได้เหมือนกัน

“ดังนั้น การประนีประนอมในช่วงนี้ คือทำอย่างไรให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.นั้นจะมีที่มา มีองค์ประกอบอย่างไร”

ส่วนเนื้อหาจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ กระบวนการจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.ที่เราจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และจะไปตัดสินกันที่การลงประชามติในขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง

“เพราะจริง ๆ แล้วพรรคการเมืองแต่ละพรรค ไม่ควรที่จะไปครอบงำหรือไปเป็นคนกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญเสียเอง จะทำให้เกิดแรงต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะจากฝ่ายที่มีความเห็นโต้แย้งว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยพรรคการเมือง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเอง มันจะยากที่จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนจริง ๆ”

ไทม์ไลน์ยกร่าง รธน.ใหม่

“จาตุรนต์อ่านไทม์ไลน์รัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ถ้าร่างโดย ส.ส.ร.ควรใช้เวลาประมาณ 1 ปี บวกลบ จากนั้นจะมีเรื่องการทำประชามติก่อนและหลังเข้ามาเกี่ยวอีก และรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ได้จริงจะต้องมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญ ๆ ให้เสร็จ รัฐธรรมนูญนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้

ความยาก ที่อาจจะใช้เวลามากขึ้น มาอยู่ตรงที่การรับหลักการวาระที่ 1 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งหมายถึงมีเสียงสนับสนุนตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่มี และยังไม่ได้ ก็อาจจะต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลาย เช่น ติดที่ฝ่ายค้านก็ต้องเจรจา ถ้าติดที่ สว. นอกจากเจรจา ก็อาจต้องรอ สว.ชุดใหม่ เป็นเรื่องหนึ่งที่อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกยืดออกไป

ดีไซน์รัฐธรรมนูญใหม่

ให้ “จาตุรนต์” ดีไซน์โฉมหน้ารัฐธรรมนูญใหม่ เขาตอบว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบไว้ เพื่อจะทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของประชาชนจริง แต่เป็นของกลุ่มบุคคลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ตั้งแต่การจะได้มาซึ่งรัฐบาล การได้มาซึ่ง สว. ที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจ บทบาทขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถจัดการกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร จนเท่ากับมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลเป็นการตรวจสอบโดยองค์กรที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่สามารถหักล้างเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญยังออกแบบไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ หรือกำหนดทิศทางของประเทศ อยู่ในแนวนโยบายของรัฐ และที่สำคัญมากคือแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ถ้าเราจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องแก้ปัญหาสำคัญเหล่านี้

และต้องมาดูเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือการให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ แม้จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เราจะพบว่ามีจุดอ่อน ช่องโหว่อย่างมากที่ทำให้ในทางความเป็นจริง สิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ต้องมาดูกันว่าจะเขียนในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนกันมากขึ้นได้อย่างไร

ในความเห็นผมหรือพรรคเพื่อไทย เรามีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่อยากเห็น ชัดเจนเป็นระบบ ในเรื่องหลัก ๆ อยู่แล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญร่างโดย ส.ส.ร. เราอาจเผยแพร่ หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ส.ส.ร. และผู้สนใจ

เราไม่ยึดติดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีเนื้อหาตามเราไปเสียทั้งหมด เข้าใจดีว่าการร่างรัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ก็จะมีความคิดที่หลากหลาย ไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ไม่แทรกแซงการทำประชามติ เราก็น่าจะได้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับของสังคม

ไอเดีย ยกเลิกรัฐประหาร

นอกจากรัฐธรรมนูญที่เราจะแก้แล้ว มีกฎหมายอะไรที่ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จาตุรนต์กล่าวว่า มี เรียกได้ว่าเป็นแพ็กเกจเลย เช่น การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การแก้กฎหมาย ป.วิอาญา การแก้กฎหมาย ป.ป.ช.

กฎหมายต่อต้านการรัฐประหาร บัญญัติเรื่องการต่อต้านรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เพียงแต่ต้องมาดูกันว่าจะทำเรื่องอะไรก่อนหลัง ให้น้ำหนัก จัดลำดับเรื่องต่าง ๆ อย่างไร

ป้องกันรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ คงไม่ใช่มีข้อความห้ามรัฐประหารเท่านั้น จะต้องมีการเชื่อมโยงไปเรื่องอื่น เช่น การหักล้างคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตที่ถือว่าเมื่อผู้ใดยึดอำนาจได้แล้วให้ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หักล้างว่าคำพิพากษาเหล่านี้เชื่อถืออะไรไม่ได้ ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย เป็นต้น

หมดหน้าตัก ถ้าไม่แก้ รธน.

เมื่อคำว่า “หมดหน้าตัก” กลายเป็น “คำการเมือง” ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี บอกว่า พรรคเพื่อไทยเดิมพันหมดหน้าตัก เพื่อเป็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาปากท้อง

ในทางตรงข้ามกัน “จาตุรนต์” เชื่อว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยจะ หมดหน้าตัก…ไม่เหลืออะไรเลย

ก็หมดหน้าตัก และเสียไปหมดด้วย อาจจะยังเหลือการบริหารประเทศที่จะต้องพิสูจน์ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ดีแค่ไหนเพื่อแลกกับการเทไปเกือบหมดหน้าตัก แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นเสียงข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี และกระทรวงสำคัญหลาย ๆ กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่อยู่กับพรรคเพื่อไทย ต้องอาศัยความสามารถของรัฐมนตรีและนายกฯ”

“อีกขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทยคือเป็นพรรคการเมืองที่ยืนอยู่กับหลักการประชาธิปไตย และพยายามให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ตรงนี้ยังไม่สละทิ้งไป ดังนั้นต้องทำในส่วนนี้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้ง ชนะเลือกตั้งหลายครั้งหลายหนในอดีต ก็เป็นเพราะ 2 ส่วน”

“หนึ่ง เรื่องการนำนโยบายไปบริหารและประสบความสำเร็จ สอง เป็นพรรคการเมืองที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตย ดังนั้นถ้าเราทิ้งเรื่องการเป็นพรรคการเมืองที่ยึดหลักการประชาธิปไตยไปเสีย ก็เหลือขาเดียว และขาเดียวที่ว่าก็ไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อน จึงจำเป็นต้องทำให้แข็งแรงทั้งสองขา เพื่อดึงศรัทธา ความน่าเชื่อถือกลับมา และเพื่อให้เรากลับไปสู่จุดที่เราแก้ปัญหาประเทศมาก ๆ ได้”