เพื่อไทย ขอเสียงก้าวไกล แลกโหวตนายกฯ ร่วมเกมแก้รัฐธรรมนูญ

โหวตนายก
คอลัมน์ : Politics policy people forum

นาทีนี้ แม้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา นัดประชุมรัฐสภา วันที่ 4 สิงหาคม เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3

แต่การเมืองยังไม่มีอะไรแน่นอน อาจมีการเดินเกมพลิกคว่ำพลิกหงายทางการเมืองถึงเช้าวันที่ 4 สิงหาคม หน้าห้องประชุมรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม นาทีนี้บรรดา สส.-นักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ยังมั่นใจว่าต้นสังกัดจะได้จัดตั้งรัฐบาล 90% ขึ้นไป หลังพรรคก้าวไกลปล่อยมือให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคที่ได้ สส.มากเป็นอันดับที่ 2 ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทน

รอบ 3 รวดเดียวจบ

หลายคนมั่นใจว่า การโหวตนายกฯ ในวันที่ 4 สิงหาคม จะเป็นไปโดย “ม้วนเดียวจบ” ตามถ้อยคำของ “อดิศร เพียงเกษ” สส.บัญชีรายชื่อ ขุนพลปราศรัยอีสาน

“เชื่อโหวตนายกฯม้วนเดียวจบ น่าจะมีเสียง สส.สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ถึง 376 เสียงได้ คาดเสียงที่มาเติมให้จาก 324 เสียงเดิมเป็นเสียงจาก สส.เป็นส่วนใหญ่”

“ถ้าตั้งรัฐบาลแบบโลกสวยต้องเป็นฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด จะมีความสุขมากที่สุด แต่ต้องมีเสียง สว.มาช่วย สว.ก็ไม่โดนทัวร์ลง แต่เป็นไปได้หรือไม่ จึงอาจตั้งรัฐบาลแบบโลกไม่สวย มีความขรุขระ ใช้ 312 เสียงเดิม บวก สส.พรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรค 2 ลุง ถ้ามีพรรค 2 ลุง จะทำร้ายจิตใจประชาชนมากเกินไป”

“แนวทางนี้เป็นการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ตั้งรัฐบาลที่ต้องยึดหลักนี้ ต่างฝ่ายต้องลดจุดยืนตัวเองลงบ้าง เอาจุดต่างมาคุยกัน ถ้าไม่เอาจุดต่างมาคุยกันก็ไปต่อไม่ได้ หรือถ้าเอาพรรค 2 ลุงมาร่วมรัฐบาลจริง ๆ ต้องเป็นมติ 8 พรรคร่วมรัฐบาล และต้องหาเหตุผลมาตอบประชาชนให้ได้”

บีบก้าวไกลถอนตัว

ลีลาของ “อดิศร” ไม่ธรรมดา เพราะเบื้องหลังขุนพลอีสานผู้นี้เชื่อมโยงกับแดนไกล และแกนนำขุนพลห้องแอร์เพื่อไทย รหัสสัญญาณจากชายที่ชื่อ “อดิศร เพียงเกษ” จึงไม่อาจมองข้าม

สอดคล้องกับกำหนดการที่พรรคเพื่อไทยนัดประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 2 สิงหาคม เพื่อสื่อสารไปยังพรรคก้าวไกลโดยตรง

“ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย 1 ใน 3 ทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาลกล่าวว่า จากการพูดคุยกับทั้ง สว. และ สส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ จนถึงขณะนี้ ยังแสดงความเห็นตรงกันว่าพร้อมจะยกมือสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล อยู่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล

“หากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ พวกเขาก็ยังยืนยันว่าจะไม่ให้เสียงสนับสนุน นี่คือสภาพปัญหาที่เรายังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคงต้องได้นำไปหารือกันในที่ประชุมพรรคร่วมต่อไป จากนั้นพรรคเพื่อไทยจะได้นัดประชุม สส.ในวันที่ 3 สิงหาคม ที่รัฐสภา ก่อนที่จะโหวตผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้”

วันที่ 2 สิงหาคม ถือเป็นการเดินเกมบีบให้พรรคก้าวไกลต้องยอมจำนน เป็นฝ่ายค้านแบบไม่ต้องเจรจามากความ เป็นการโยนเผือกร้อนไปที่พรรคก้าวไกล ว่าจะอยู่ หรือไป

เพื่อไทยเขียนเอ็มโอยูใหม่

จากนั้นนำไปสู่การสลายเอ็มโอยูฉบับก้าวไกล และเขียนใหม่โดยพรรคเพื่อไทย ดีลรัฐบาลล่าสุด พรรคเพื่อไทยล็อกรัฐบาลข้ามขั้ว แต่จะไม่หักน้ำใจมวลชน ฝืนกระแสสังคมเกินไปนัก โดยอันดับแรกจะไม่มีพรรค 2 ลุง

ดึงพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง ของบ้านใหญ่ศิลปอาชา พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง ของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เอ็กซ์ตร้าด้วยกลุ่มอำนาจใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่มี 19 เสียง

โดยทั้งพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า เป็น 3 ใน 5 พรรค ที่มาร่วมวงหาทางออกประเทศที่พรรคเพื่อไทย เมื่อ 22-23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เว้นแต่พรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่มีหัวหน้าพรรคชัดเจน

แต่ปรากฏว่า 25 กรกฎาคม มีรายงานว่า “เฉลิมชัย” ได้ส่งมือขวาคือ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ เดินทางไปฮ่องกงเพื่อพบกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

มีการยืนยันตัวเลข สส.ในมือของ “เฉลิมชัย” มีอยู่ 19 เสียง ซึ่งกำหนดทิศทางการโหวต-การลงมติต่าง ๆ ในพรรค

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม 19 เสียงของฝ่ายอำนาจใหม่จึงถูกบรรจุอยู่ในสมการตั้งรัฐบาล (และอาจมีมากกว่า 19 เสียง หากขั้วของเฉลิมชัย คว้าเก้าอี้หัวหน้าพรรค)

บวกกับ 3 พรรคการเมืองที่ตามมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย คือพรรคประชาชาติ 9 เสียง เพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และเสรีรวมไทย 1 เสียง รวม 255 คน

จุดยืนธนาธร ยอมเป็นฝ่ายค้าน

และจะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคก้าวไกล จำนวน 151 เสียงเข้ามาเสริม กลายเป็น 406 เสียง ก่อนจะผันตัวไปเป็นฝ่ายค้าน ตามข่าวลือเจรจาลับที่ฮ่องกง ระหว่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผู้นำจิตวิญญาณพรรคก้าวไกล กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ศูนย์รวมจิตใจพรรคเพื่อไทย

ทว่าไม่ต้องรอให้เบื้องหลังดีลลับคลี่คลาย “ธนาธร” เคยเผย “จุดยืน” ก่อนการเลือกตั้ง 2566 ไว้หลายรอบ หลายเวทีดีเบต บนบริบทการเมืองที่ต้องหยุดระบอบประยุทธ์ ว่า

“อย่างที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานให้พรรคก้าวไกล ที่ผมได้รับบรีฟมา นั่นคือ ถ้ามีพรรคอื่นได้รับการไว้วางใจจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง และจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่มีพรรคทหารจำแลง พรรคก้าวไกลพร้อมปิดสวิตช์ สว.ให้” ธนาธรพูดในการดีเบต หัวข้อ ‘ทั้งรักทั้งชังชาติ’ ธนาธร VS ไพบูลย์ ของ “เดอะสแตนดาร์ด”

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ธนาธรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในจุดยืนเดียวกันนี้ว่า “ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ ถ้าเงื่อนไขของพรรคอนาคตใหม่ที่จะต้องมาลงนามเอ็มโอยูร่วมกันไม่ได้รับการยอมรับ เราก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน ไม่ต้องร่วมรัฐบาลก็ได้ แต่เราพร้อมที่จะยกมือให้นายกรัฐมนตรีที่ได้รับเสียง สส.สนับสนุนมากที่สุด เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.ก่อน”

วัดใจขั้วอำนาจ

แหล่งข่าว สส.พรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า สุดท้ายพรรคเพื่อไทยต้องตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เพราะถ้าไม่ข้ามขั้วก็มองไม่ออกว่าจะเป็นรัฐบาลได้อย่างไร หรือตั้งรัฐบาลสำเร็จได้อย่างไร เพราะพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ยอมยกมือให้ ถ้ายังมีพรรคก้าวไกล ดังนั้น พรรคก้าวไกลต้องถอยบ้าง เพื่อให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

“จากนั้นพรรคเพื่อไทยจะเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญกับพรรคก้าวไกล หรือพรรคก้าวไกลต้องการอะไรจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทยก็จัดการให้ได้”

อย่างไรก็ตาม สูตรรัฐบาลข้ามขั้วที่มีพรรคพลังประชารัฐ-พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจยังไม่ถึงคิวต้องใช้บริการ แต่สามารถเก็บไว้เป็นบริการเสริมได้ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

“โดยอาจยกมือเป็นกลุ่ม ไม่ไปทั้งพรรค ซึ่งในพรรคพลังประชารัฐ ก็มาจากพรรคเพื่อไทยเก่า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มสันติ พร้อมพัฒน์ 2.กลุ่มวราเทพ รัตนากร 3.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 3 กลุ่มนี้เจรจากันในภาษาการเมือง เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็คุยกันง่าย เพราะในการเมืองไม่มีการยกมือให้ฟรี ๆ” แหล่งข่าววิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วมาถึงจุด “วัดใจ” ทุกขั้วอำนาจ อำนาจเก่าที่มีตัวเล่นคือพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ แม้ไม่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไขก๊อกทางการเมือง แต่ยังมี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในวัย 77 ปี การโหวตนายกฯ หลังเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นครั้งสุดท้ายในการเมือง เกมเจรจาต่อรองอำนาจจึงยังไม่สะเด็ดน้ำ หาก พล.อ.ประวิตรผนึกกำลังคิดสู้

ขณะที่ขั้วอำนาจเพื่อไทย ภายใต้หมากของ “ทักษิณ ชินวัตร” ไม่ว่าขยับไปทางไหนก็ยาก อยู่ขั้วเดิมไม่ข้ามขั้วก็ตั้งรัฐบาลยาก และยังสัมพันธ์กับแผนกลับบ้าน แต่เมื่อตั้งรัฐบาลข้ามขั้วก็ต้องเจอสถานการณ์ “มวลชน” ที่ไม่พอใจ

แม้พรรคเพื่อไทยจะมั่นใจว่ามีฝีมือแก้ไขเศรษฐกิจ แต่ถ้ามีม็อบป่วน แม้ไม่ใหญ่ แต่รัฐบาลที่ยึดคำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่กล้าปรามม็อบ เศรษฐกิจก็อาจมีสะดุด

ดังนั้น การข้ามขั้วจึงต้องมีหลายลีลาจ่ายต้นทุนน้อยที่สุด และในคำตอบสุดท้ายต้องมีชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30