ทักษิณ เดิมพันกลับประเทศ ในดีลเพื่อไทยตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว

ทักษิณ
คอลัมน์ : Politics policy people forum

26 กรกฎาคมการเมืองไทยสั่นสะเทือน เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมกลับเมืองไทย วันที่ 10 สิงหาคม ผ่านการประกาศโดย “แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย บนโซเชียลมีเดียของเธอ

ผ่านไปหลายชั่วโมงในการประชุมพรรคเพื่อไทยช่วงค่ำวันที่ 26 กรกฎาคม “ทักษิณ” ที่ตั้งฐานบัญชาการรอการกลับประเทศที่เกาะฮ่องกง วิดีโอคอลเข้ามาหลังการประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เบื้องหลัง “ทักษิณ” ขนาบข้างด้วย 2 ส. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน 2 แกนนำเพื่อไทย แต่ดีลได้ทุกขั้วอำนาจ

“ทักษิณ” ประกาศว่า “การฉลองวันเกิดที่ต่างประเทศวันนี้ จะเป็นครั้งสุดท้าย” เป็นถ้อยคำเดียวกับที่วิดีโอคอลไปยังเวทีทำบุญวันเกิด ที่กลุ่ม ส.ส.อุบลราชธานี โดย เกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำเพื่อไทย เป็นแม่งานจัดพิธีให้ในช่วงเช้า

“ทักษิณ” จัดวาง 2 ตำแหน่งสำคัญให้คนในพรรคเพื่อไทยรับทราบโดยทั่วกันว่า “แพทองธาร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย จะปักหลักรีโนเวตพรรคเพื่อไทยให้กลับมาทันสมัย ส่วน “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ อีกราย จะเข้าไปประจำที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะนายกรัฐมนตรี

“ทักษิณ” ยังคุมหมากทั้งกระดานของพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางข่าวการเจรจาระดับ “ซูเปอร์ดีล” ที่ฮ่องกง มีทุกขั้วอำนาจไปชุมนุมทางการเมืองที่นั่น

หลังวันหยุดยาวท้ายเดือนกรกฎาคม แกนนำพรรคเพื่อไทยระดับผู้อาวุโส และมิตรสหาย ร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหาร-นายร้อยตำรวจของ “ทักษิณ” นัดกันเตรียมแผนสำคัญคู่ขนานกับการตั้งรัฐบาล

คือแผนดูแลความปลอดภัย และดูแลความเรียบร้อย ทั้งในมุมความมั่นคง และมุมการเมือง ประสานไปยังรุ่นน้องนายตำรวจที่ยังมีตำแหน่งทางราชการ เตรียมตัวรับ “ทักษิณ” กลับบ้าน

แผนรับทักษิณ

ตามกระบวนการกฎหมาย เมื่อ “ทักษิณ” แลนดิ้งที่ดอนเมือง จากนั้นจะมีกรมราชทันฑ์รอรับตัว โดยแจ้งใบแดงแจ้งโทษ เนื่องจากคดีของ “ทักษิณ” มีอยู่ 4 คดี หมดอายุความไปแล้ว 1 คดี โทษจำคุกรวมทั้งหมด 10 ปี

ประกอบด้วย

1.คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ โทษจำคุก 2 ปี คดีหมดอายุความไปแล้ว

2.คดีให้นอมินีถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โทษจำคุกรวม 5 ปี ไม่รอลงอาญา

3.คดีทุจริตโครงการออกสลากกินแบ่งพิเศษ 3 ตัว 2 ตัว หรือหวยบนดิน โทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

4.คดีปล่อยกู้รัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท โทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา

โดยกรมราชทัณฑ์จะไปรอรับตามอำนาจหน้าที่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อยและดูแลความปลอดภัย จากสนามบินจะมุ่งตรงไปสู่เรือนจำ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการ “ยอมรับเพื่อมีการบังคับโทษตามคำพิพากษา”

แหล่งข่าวที่อยู่ในวงการเตรียมงานทักษิณกลับบ้านบอกว่า นอกจากขั้นตอนทางกฎหมาย อื่น ๆ อยู่ที่การประสานจัดการให้เหมาะสม เพราะอดีตนายกฯ บินไปรอบโลกด้วยเครื่องบินลำเดียวกันกับที่จะมาลงดอนเมือง เมื่อเดินเข้าคุกก็น่าจะมีมาตรการที่เหมาะสม เพราะเขาคืออดีตนายกรัฐมนตรี

โหวตนายกฯไม่สะดุด

เครื่องบินไพรเวตเจ็ตของ “ทักษิณ” ที่เตรียมลงจอดบนรันเวย์สนามบินดอนเมือง ในวันที่ 10 สิงหาคม แต่ยังไม่ทราบ เวลา น. ที่ยังปิดเป็นความลับด้านการรักษาความปลอดภัย

แต่กว่าจะถึงวันนั้น ประเทศไทยอาจมีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าขณะนี้ยังมีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ซึ่งใช้ในการ “ตีตก” ญัตติโหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ในการโหวตเลือกนายกฯ รอบที่ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาในวันที่ 3 สิงหาคม

ทว่า ผู้เก๋าเกมกฎหมายในพรรคเพื่อไทยประเมินแล้วว่า คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะถูกศาล “ตีตก” ในวันที่ 3 สิงหาคม

โดยเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะ “ยกคำร้อง” ไม่รับพิจารณา คือ 2 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่วางหลักไว้ว่าจะไม่พิจารณาคดีที่ก้าวล้ำเขตอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

คำวินิจฉัยแรกคือ คำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา

ซึ่งเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา เนื่องจากที่ประชุมรัฐสภาเห็นว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลออกมาเป็นเสียงข้างมาก ระบุว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งกรณีนี้ไม่ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวล่วงอำนาจของรัฐสภา ที่มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อีกหนึ่งคำวินิจฉัยคือ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 โดยเป็นเรื่องร้องเรียนของ นายรัชนันท์ ธนานันท์ ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่ถูกที่ประชุมวุฒิสภา “ตีตก” ไม่ให้ความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด

นายรัชนันท์จึงร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการใช้อำนาจของวุฒิสภา ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 198

โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ตอนหนึ่งว่า “การให้ความเห็นชอบของผู้ถูกร้อง (ส.ว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ส.ว.ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติมีบทบาทกลั่นกรองผู้มีความเหมาะสมและสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้ศาลปกครองเป็นองค์กรตรวจสอบหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการยอมรับนับถือจากคู่กรณี”

ทั้งสองคำวินิจฉัยจึงถูกนำมาคาดการณ์ ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้อง หรือแม้ร้ายที่สุด หากศาลรับคำร้องก็น่าจะไม่ชะลอการโหวตนายกฯออกไป

สอดคล้องกับ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ว่า ได้รับทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว และจะเริ่มพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 3 สิงหาคมนี้

ผมคิดว่า หากมีการพิจารณาในเรื่องแรก คงจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ หากรับแล้วก็จะพิจารณาอย่างไร รวมถึงจะสั่งให้สภาชะลอการพิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปอย่างไร”

“เมื่อศาลจะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 3 สิงหาคม ก็จะประชุมรัฐสภากันในวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งจะมี 2 วาระคือ วาระเลือกนายกรัฐมนตรี และวาระการแก้ไขและธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งหากศาลรับคำร้อง ก็จะยกวาระ 2 ขึ้นมาพิจารณาก่อน”

โอกาสโหวตนายกฯ วันที่ 4 สิงหาคม เพื่อเลือกนายกฯ จึงมีความเป็นไปได้สูงยิ่ง

โหวตนายกฯ ก่อนกำหนดการที่ “ทักษิณ” จะแลนดิ้งที่ดอนเมือง

ที่สุดแล้วชื่อ “พิธา” จะถูกปิดประตูตาย และไม่ถูกนำมาโหวตในการเลือกนายกฯ รอบ 3

ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย จะถูกยืนขึ้นมาเป็นเต็งหนึ่ง

ตั้งรัฐบาลยังไม่จบง่าย

แม้ว่าขณะนี้พรรคเพื่อไทยจะยังไม่ประกาศชงชื่อ “เศรษฐา” เข้าสู่การโหวตนายกฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งตามกำหนดเดิมจะต้องประกาศชื่อในวันที่ 26 กรกฎาคม โดยผ่านการรับรองจากที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย

แต่หลังจากการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมกับการเลื่อนการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ วันที่ 27 กรกฎาคม เช่นเดียวกัน

ทำให้ที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย เมื่อช่วงค่ำ 26 กรกฎาคม จึงยังไม่มีวาระการ “รับรอง” ชื่อของ “เศรษฐา” จากที่ประชุม ส.ส.พรรค และวาระดังกล่าวจะนำไปพิจารณาใหม่สัปดาห์หน้า เมื่อที่ประชุมรัฐสภามีมติโหวตนายกฯ วันที่ 4 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยจะต้องมีมติช้าที่สุดคือวันพฤหัสบดี 3 สิงหาคม

หลัง “ทักษิณ” ตั้งฐานบัญชาการฟอร์มรัฐบาล-กลับประเทศที่เกาะฮ่องกง กระแสข่าวการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลก็ฝุ่นตลบ

หลังปรากฏว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ไปร่วมขบวนเจรจาที่ฮ่องกง สูตรการจัดรัฐบาลใหม่ของเพื่อไทย ก็ยังอยู่บนสมมุติฐานว่า มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการ แต่อีกสูตรหนึ่ง เพื่อไทยจัดรัฐบาลข้ามขั้ว แล้วถีบพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

นาทีนี้ไม่ว่าจบสูตรไหน ชื่อนายกฯ คนที่ 30 จะลงล็อกที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ตามที่ “ทักษิณ” กล่าวไว้ต่อหน้าที่ประชุม ส.ส.ใจความว่า

“อยากกลับมาเลี้ยงหลาน”

จะให้ “แพทองธาร” มาอยู่ช่วยงานที่พรรค ส่วน “เศรษฐา” คงอยู่ที่ทำเนียบ

เดิมพันของ “ทักษิณ” ในการกลับประเทศ พรรคเพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น