จิรายุ โฆษก 200 ล้าน ผู้มีตำแหน่งในทำเนียบรัฐบาล มหาดไทย กลาโหม

จิรายุ ห่วงทรัพย์

กลายเป็นกระแส เมื่อ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม หรือ “บิ๊กทิน” ตั้ง “จิรายุ ห่วงทรัพย์” อดีต สส.กทม.พรรคเพื่อไทย นั่งเก้าอี้โฆษกกระทรวงกลาโหม โดยคำสั่งระบุว่า…

“เพื่อให้การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะทำงานด้านโฆษก เกิดประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อภารกิจของกระทรวงกลาโหม จึงแต่งตั้งนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นโฆษกกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ประสานงานโฆษกของกองทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รวมทั้งกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อร่วมกันชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ในภารกิจต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหม”

สั่ง ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“สุทิน” กล่าวถึงเหตุผลในการตั้ง “จิรายุ” ว่า ในงานของกระทรวงกลาโหมยุคนี้มีประเด็นค่อนข้างเยอะ ซึ่งโฆษกประจำที่เป็นข้าราชการไม่ถนัดที่จะไปตอบโต้กับนักการเมือง ซึ่งตนเห็นใจโฆษกที่เป็นข้าราชการ จึงคิดว่าน่าจะต้องมีโฆษกกระทรวงกลาโหมที่สามารถพูดเรื่องการเมืองได้แบบไร้ข้อจำกัด พร้อมคิดว่านายจิรายุน่าจะเหมาะสม

“จิรายุคุยกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ก็น่าจะเหมาะ ผมคิดว่าปากและภูมิปัญญาทันกัน”

ส่วนจะแต่งตั้งใครเพิ่มเติมอีกหรือไม่ “สุทิน” กล่าวว่า ต้องรอดูไปก่อน หากนายจิรายุรับมือได้ก็ไม่จำเป็น ซึ่งตอนนี้ขอใช้คนเท่าที่จำเป็นก่อน

ย้อนไปวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต สส.กทม. เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) โดยให้มีหน้าที่ศึกษาข้อมูล ให้คำปรึกษา เสนอความเห็น หรือเสนอแนะต่าง ๆ และการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาและกํากับของรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนภารกิจของรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ตามที่ได้รับมอบหมาย ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566

ขณะเดียวกัน นายจิรายุยังเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย (มท.3) ซึ่งกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การจัดการน้ำเสีย และองค์การตลาด

“จิรายุ” จึงมีตำแหน่งทั้งในกระทรวงมหาดไทย ในทำเนียบรัฐบาล และในกระทรวงกลาโหม

โฆษก 200 ล้าน

ย้อนไปอีกเมื่อ 23 มิถุนายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีพ้นจากตำแหน่ง สส.เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66

ปรากฏว่า “จิรายุ” ไม่ได้ระบุสถานภาพว่ามีคู่สมรส แต่แจ้งว่ามีบุตร 2 คน ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ พร้อมระบุว่ามีทรัพย์สินทั้งสิ้น 204,009,864 บาท ทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ในรายการสินทรัพย์อื่น 134,210,000 บาท ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ 45 รายการ ทองคำ 160 รายการ โบราณวัตถุ 350 รายการ พระบูชา 35 รายการ พระเครื่องและวัตถุมงคล 926 รายการ

ทั้งหมดได้มาในเดือนตุลาคม 2565 และยังมีอาวุธปืน 15 รายการ และนาฬิกา 13 รายการ ที่ได้มาในช่วงปี’38-65 นอกจากนี้ แจ้งว่ามีที่ดิน 38,500,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 22,500,000 บาท ขณะเดียวกัน มีหนี้สิน 4,855,387 บาท

มีรายได้ต่อปี ประกอบด้วย เงินเดือน 1,440,000 บาท เบี้ยประชุมและอื่น ๆ 200,000 บาท รายได้จากการขายบ้านและที่ดินที่ จ.ชัยนาท 4,800,000 บาท มรดกเงินสด 3,500,000 บาท มรดกทรัพย์สิน 124,270,000 บาท พร้อมระบุเป็นหมายเหตุด้วยว่า บิดาและมารดาเสียชีวิตเมื่อปี’65 อยู่ระหว่างการแบ่งมรดกพี่น้อง