เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญสั่งก้าวไกลเลิกพูด-เขียน-พิมพ์ ห้ามแก้ ม.112

เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 : 0 สั่งพรรคก้าวไกล-พิธา ให้เลิกการพูด การเขียน การพิมพ์ สื่อสาร เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายการล้มล้างการปกครอง

วันที่ 31 มกราคม 2567 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่าการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการเซาะกร่อน บนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้วางมาตรฐานเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันนี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า พระมหากษัตริย์ดำรงสถานะอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใด ๆ ที่เป็นการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะ เป็นการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น จะต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพก็ตาม

แต่คำว่าสิทธิหมายถึงอำนาจที่กฎหมายรับรองและให้ความคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลใดรุกล้ำ หรือใช้สิทธิเกินส่วนของตนอันถือเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น ส่วนคำว่าเสรีภาพ หมายถึง เป็นสภาวะของมนุษย์ที่เป็นอิสระว่าตนเองจะกระทำการหรือไม่กระทำการอันใด แต่ทั้งนี้ การใช้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อความสงบ เรียบร้อย หรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย

ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 34 ได้กำหนดกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของบุคคล และสิทธิทางการเมืองมาตรา 19 ไว้ 3 ข้อ ดังนี้ ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการ ความคิดเห็นเพื่อการเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค

แม้เหตุการณ์คำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การรณรงค์ให้มีการยกเลิก หรือ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของผู้ถูกร้องทั้งสอง มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นกระบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน

“ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ซึ่งวรรคสองให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74

จากนั้น นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่า การวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริตและใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรือ อาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 38 วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษทั้งตักเตือน จำคุก หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท