เศรษฐา ข้องใจ ถนนพระราม 2 สร้าง 54 ปี ไม่เสร็จ

นายกรัฐมนตรีข้องใจถนนพระราม 2 สร้างมา 54 ปีไม่เสร็จ มีปัญหาตลอดเวลา ด้าน “สุริยะ” เตรียมเรียกผู้รับเหมามาคุย มั่นใจ 100% จะทำให้เสร็จ

วันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาก่อสร้าง ถ.พระราม 2 ที่ล่าช้า ได้มีการสั่งการในเรื่องนี้แล้วหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่าสั่งการไปแล้วหลายหน ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็จะลงพื้นที่ ถ.พระราม 2

“ถนนอะไรสร้างมา 54 ปีแล้ว ปัญหามันมีตลอดเวลา เข้าใจว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว นายสุริยะเป็น รมว.คมนาคม ก็มีการแก้ไขปัญหาพื้นที่ตรงบริเวณบางขุนเทียนที่เชื่อมต่อกับถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งผู้รับเหมาทิ้งงาน ท่านก็เป็นคนไปจัดการและแก้ไข วันนี้ผ่านมา 17-18 ปี นายสุริยะก็เวียนมาเป็น รมว.คมนาคม ท่านก็คงจะต้องกลับไปแก้ไขอีก มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมา 50 กว่าปีแล้ว”

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯจะหาโอกาสลงพื้นที่ ถ.พระราม 2 ด้วยตนเองหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าแน่นอนว่าต้องโอกาส แต่ท่านก็ทราบตารางงานตนอยู่ว่าแน่นขนาดไหน

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนั้นตนก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีประชาชนสัญจรมากในช่วงถนนบางขุนเทียน ใช้เวลาก่อสร้างนานมาก ไม่เสร็จสักที ตนจึงลงไปสั่งการให้ยกเลิกผู้รับเหมา และให้ผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการแทนก็เสร็จตามเวลา ซึ่งตนได้เจอเอกสารเป็นหลักฐานว่า ตนดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง พร้อมชูหลักฐานให้สื่อมวลชนดู

นายสุริยะกล่าวต่อว่า เมื่อตอนนั้นมีการพูดว่า ‘ที่สุดของถนนเจ็ดชั่วโคตร’ ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ผู้รับเหมาก่อสร้างต่อสัญญาไม่ได้ เพราะขาดสภาพคล่อง ต้องทิ้งงานก่อสร้างไปหน้าตาเฉย ดังนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้ต้องลงมาที่ก่อสร้างให้เสร็จในปี 2546

“ผมก็ไม่คาดว่าปัญหาที่ผ่านมาแล้ว 20 ปีก็ยังคงอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องกลับมาแก้ปัญหาอีกครั้ง” นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะกล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้ตนจะเชิญผู้รับเหมามาพูดคุยว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้รับเหมาจึงได้ต่อสัญญาไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งหากดำเนินการภายในกรอบระยะเวลานี้ไม่ได้ ก็จะมีการยกเลิกสัญญา และหาผู้รับเหมาใหม่ สิ่งที่ผู้รับเหมาทุกคนกลัวที่สุดคือการยกเลิกสัญญา เพราะในอนาคตเรื่องการเข้ามารับเหมากับกรมทางหลวงนั้นจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก

เมื่อถามว่าทางกระทรวงคมนาคมมีเกณฑ์ในการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาอย่างไรบ้าง นายสุริยะกล่าวว่าต้องทำให้เสร็จภายในกำหนดการเป็นหลัก ช่วงระยะเวลาที่เหลือประมาณหนึ่งปีกว่า ทางผู้รับเหมาก็ต้องเร่งดำเนินการ และกระทรวงคมนาคมจะตั้งบุคคลเพื่อไปตรวจสอบความคืบหน้าในแต่ละเดือน และต้องรายงานให้ตนทราบ เบื้องต้นตนมั่นใจว่าจะเสร็จทันตามสัญญา

เมื่อถามต่อว่าในระยะเวลาที่เหลือนี้จะไม่มีการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมาใช่หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่าขณะนี้เป็นไปตามระยะเวลาที่เราเซ็นสัญญากันอยู่ หากยังไม่ถึงเวลาที่กำหนด เราก็คงเข้าไปทำอะไรไม่ได้ แต่เราจะเตือนเขาว่า จะมีคนคอยไปกำกับดูแลทุกเดือน และคอยแจ้งว่าตอนนี้การก่อสร้างล่าช้าไปแล้ว จะต้องเพิ่มคน หรือเครื่องจักร เพื่อเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ

“มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะทำให้เสร็จ” นายสุริยะกล่าว