ประวัติจักรภพ เพ็ญแข กลับจากลี้ภัย สู้คดี “ร่วมกันมีอาวุธ-อั้งยี่”

จักรภพ เพ็ญแข Jakrapob Penkair
Jakrapob Penkair

ประวัติ จักรภพ เพ็ญแข อดีดนักการเมืองพรรคไทยรักไทย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เคยถูกระบุมีทัศนะคดิอันตราย โดนฟ้องคดี ม.112 แต่อัยการยกฟ้องไปแล้ว

วันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 08.00 น. นายจักรภพ เพ็ญแข เดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยลงเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีพี่สาวมารอรับและนำกระเป๋าออกจากสนามบินบริเวณชั้น 2 ประตู 9 จากนั้น ตำรวจได้นำตัวนายจักรภพ เดินทางไปกองปราบปราม ถ.พหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

เพื่อดำเนินคดีในหมายจับในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็นอั้งยี่

นายจักรภพ เพ็ญแข ได้เดินทางออกนอกประเทศ ลี้ภัยทางการเมือง 15 ปี โดยอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2552

ประวัติจักรภพ เพ็ญแข

ก่อนที่นายจักรภพ เพ็ญแข จะเดินทางออกนอกประเทศด้วยเส้นทางธรรมชาติ เขาเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

  • นายจักรภพ อายุ 56 ปี เกิดวันที่ 21 ตุลาคม 2510
  • จบการศึกษาระดับประถมและมัธยม ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • จบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • จบปริญญาโท และปริญญาเอก ที่วิทยาลัยระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูง พอล เอช.นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา

ก่อนเข้าสู่วงการเมือง นายจักรภพ เติบโตจากครอบครัวนายทหาร และเคยทำงานที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ รับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ

เคยเป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการโทศทัศน์ให้หลายช่อง เป็นนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย อดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี

เมื่อเข้าเส้นทางการเมืองจักรภพ เพ็ญแข ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร จากนั้นสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในนามพรรคไทยรักไทย แต่สอบตกทั้ง 2 ครั้ง

ในรัฐบาลทักษิณ 2 นายจักรภพ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยุคหลังรัฐประหาร 2549  นายจักรภพ เป็นแกนนำเวทีปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในนามแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เคลื่อนไหวร่วมกับนายวีระ มุสิกพงศ์,  นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง

เลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนนตรี ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 และนายจักรภพ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อของรัฐ ทั้งช่อง 9 และช่อง 11 ในขณะนั้น

หลังการยุบพรรคพลังประชาชน นายสมัครถูกเปลี่ยนตัวนายกฯกลางสภา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นองเขยทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนขั้วรัฐบาลในเวลาต่อมา นายจักรภพ มีบทบาทในการก่อตั้ง นปก.ก่อนมาเป็น กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายจักรภพตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ ในช่วงเดือน เมษายน 2552

คดีนายจักรภพ 112-อั้งยี่

นายจักรภพ เคยโดนฟ้องร้องคดีอาญามาตรา 112 จากการปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “ระบบอุปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย” วันที่ 29 สิงหาคม 2550 ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (เอฟซีซีที) ขณะนั้นถูกเรียกว่า”ทัศนคติอันตราย” แต่อัยการสั่งยกฟ้อง เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2554

หลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งที่ 49/2557 เรียกให้นายจักรภพ ไปรายงานตัว แต่นายจักรภพ มิได้ไปตามคำสั่งดังกล่าว ศาลทหารจึงออกหมายจับข้อหาฝ่าฝืนการไปรายงานตัว และข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง

จากนั้นวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ศาลอาญาได้ออกหมายจับนายจักรภพ ในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็น อั้งยี่

ก่อนกลับประเทศไทยในวันนี้ (28 มีนาคม 67) นายจักรภพ เพ็ญแข แจ้งผ่านเฟซบุ๊ก จักรภพ เพ็ญแข – Jakrapob Penkair  ระบุว่า “วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 07.35 น. จักรภพ เพ็ญแข กลับไปรับใช้ เมืองไทยครับ”

โทษของจักรภพคดีอั้งยี่

สำหรับความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 เจตนารมณ์ของความผิดฐานนี้ เพื่อใช้ควบคุมการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจะทำสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือเรียกว่า ปราบปรามกลุ่มแก๊งผู้มีอิทธิพล

กฎหมายมาตรา 209 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท