พรรคร่วม เร่งเกมปรับคณะรัฐมนตรี “รทสช.-ประชาธิปัตย์” ฝุ่นตลบทวงเก้าอี้

เศรษฐา
คอลัมน์ : Politics policy people forum

เกมเขย่าปรับเก้าอี้รัฐมนตรี จะทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ 152 จบลง

และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐสภา ปิดสมัยการประชุม พักยาวนาน 3 เดือน กว่าจะเปิดเทอมอีกครั้งต้นเดือนกรกฎาคม ไม่มีการต่อรองจำนวนมือในสภา

แม้ว่า “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ออกมาดับกระแสข่าวลือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน ว่า “ข่าวลือก็จบที่ข่าวลือ”

จับตาปรับ ครม.หลังปิดสภา

แหล่งข่าวจากพรรคร่วมรัฐบาลรายหนึ่ง วิเคราะห์จังหวะการเมืองในการปรับ ครม.ว่า คาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนเมษายน นอกจากเป็นช่วงสไตล์การปรับ ครม.ของพรรคเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ที่จะปรับกันทุก 6 เดือนแล้ว ยังเป็นช่วงปิดสมัยประชุมสภา เหมาะที่สุดที่จะขยับ-ปรับ ครม.ในช่วงนี้

ขณะที่รัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทย เริ่มเช็กสัญญาณการเขย่าปรับเก้าอี้ ครม.ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ว่าใครจะอยู่ ใครจะหลุด

ที่สำคัญ โควตารัฐมนตรีของเพื่อไทยยังว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง คือเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนรัฐมนตรีที่สุ่มเสี่ยงจะโดนปลด หลุดจากเก้าอี้ ต้องเค้นฟอร์มการทำงานแบบสุด ๆ ในวันที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ย่างเท้าเข้าพรรคเพื่อไทย บรรดารัฐมนตรีทั้งที่อยู่ในข่ายหลุดเก้าอี้-อยู่ต่อ ต้องไปแสดงตัวคอยต้อนรับถึงหน้าประตู

คนใกล้ชิด “ทักษิณ” บางคนอธิบายว่า “ทักษิณมักพูดเสมอว่า เวลาจะทำอะไรให้ได้ผลดี บางทีต้องมีเสียงดัง, เหมือนทฤษฎีการปั่นน้ำแอปเปิล ตอนปั่นจะเสียงดัง สั่น สะเทือน แต่ได้ผลเป็นน้ำผลไม้หอมหวาน”

รัฐมนตรีเพื่อไทย โชว์ฟอร์ม-เค้นอีเวนต์เต็มที่ในตอนนี้

ยังไม่ถึงเวลา ปชป.

ดูเหมือนว่า จุดศูนย์กลางการเขย่าการปรับ ครม.จากพรรคร่วมรัฐบาล แรงไม่แพ้พรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยมีสัญญาใจทางการเมืองต่อกัน ย้อนไปในวันอภิปรายทั่วไป 3 เมษายน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายนายกฯ นายกฯทำตัวเป็นเซลส์แมน ถามว่าปิดการขายได้บ้างหรือไม่

อยากบอกว่าคนไทยอยากได้ของจริงมากกว่าการตลาด อะไรที่ยังไม่ใช่ ยังไม่ต้องตีปี๊บก็ได้ มันเสียเหลี่ยม และคนไทยก็ไม่ได้กินแกลบ พูดอะไรที่ยังไม่ใช่เขาจับได้ คนไทยอยากเห็นนายกฯของเขาบินเหมือนเหยี่ยว มากกว่าแมลงวันที่บินทั้งวันแต่ไม่ได้อะไร

ขณะที่เศรษฐา ตอกกลับในไม่กี่ชั่วโมงต่อมาโยงถึงการปรับ ครม.ว่า ทุกครั้งที่ออกไปต่างประเทศเพื่อเปิดโอกาส และสร้างการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ มั่นใจว่าผลจะตามมา ไม่มีหรอกที่นายกฯจะบินไปเหมือนกับแมลงวัน ขณะเดียวกัน ตนก็ไม่อยากเห็นว่าฝ่ายค้านเป็นแมลงหวี่ที่จ้องจะเล่นแต่การเมือง

“ผมขอฝากไว้ว่า ท่านอย่าเป็นฝ่ายค้านที่ทำให้โลกงง วันหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายค้าน อีกวันก็มีข่าวว่าจะขอเข้าร่วมรัฐบาล ผมกลัวพี่น้องประชาชนจะงงมากกว่า” นายกฯกล่าว

วันรุ่งขึ้น 4 เมษายน “เศรษฐา” ให้สัมภาษณ์ตอกย้ำถึง “ประชาธิปัตย์” ทวงสัญญาการเมือง ว่า “ผมเชื่อว่าต้องมีบ้าง แต่เขาคงไม่พูดกับผมหรอก เพราะผมพูดตลอดเวลา โดยส่วนตัว 314 เสียงแน่นแล้ว และเราเองก็ทำงานกันได้ดี ส่วนจะไปคุยอะไรกับใครก็เป็นเรื่องของเขาไป แต่ว่ามันมีแน่นอน”

ย้อนกลับไปช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ระหว่างการชุลมุนตั้งรัฐบาลที่สลับจากพรรคก้าวไกล มาเป็นพรรคเพื่อไทย

คนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ซึ่งเวลานั้นเป็นรองหัวหน้าพรรค ก่อนจะมาเป็นเลขาธิการพรรคในปัจจุบัน ได้เดินทางไปฮ่องกง คิวสำคัญคิวหนึ่งคือพบกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเป็นการเปิดดีลเข้าร่วมรัฐบาล

สลับฉากถึงตอนโหวตนายกรัฐมนตรี 22 สิงหาคม 2566 ก่อนที่ประชุมรัฐสภาจะเทคะแนนให้กับ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

ปรากฏว่าช่วงเช้าของการโหวต แกนนำพรรคเพื่อไทยเช็กเสียงที่สนับสนุน “เศรษฐา” ยังไม่นิ่ง เพราะฝ่าย สว.สายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ แห่งพรรคพลังประชารัฐ ยังสงวนท่าที ดังนั้น เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ จึงถูกนำมา “สำรอง” ไว้ตอนฉุกเฉิน

พอถึงช่วงเวลาโหวตนายกฯ จึงมี สส.ประชาธิปัตย์ถึง 16 คน โหวตให้กับ “เศรษฐา” หลังการโหวต แม้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณว่า ให้อยู่นิ่ง ๆ เพื่อรอจังหวะ แต่เมื่อจังหวะเหมาะจึงออกมาเขย่าปรับ ครม.

พลังประชารัฐ

ขณะที่ปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในสภาพที่ศูนย์กลางอำนาจบ้านป่ารอยต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ค่อยออกซีนการเมือง รัฐมนตรีที่อยู่ในสาย เช่น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข บทบาทอาจไม่เท่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่กำลังขึ้นหม้อ ตั้งแต่ก่อนทริปลาราชการเชียงใหม่ เดินคู่กับอดีตนายกฯ คนที่ 23

โควตาของพรรคพลังประชารัฐ ในรัฐบาลเศรษฐา ยังเหลืออีก 1 เก้าอี้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีชื่อ “ไผ่ ลิกค์” นั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์ แต่คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีไม่ผ่านรอบตัดเชือก

ปิดประตูไผ่

อย่างไรก็ตาม ชื่อของ “ไผ่ ลิกค์” อาจถูกปิดประตูเป็นรัฐมนตรีไปทันใด เพราะคุณสมบัติมีปัญหา

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องของเขา ที่ให้ศาลวินิจฉัย ว่า เขาถูก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กกต., ผู้ตรวจการแผ่นดิน 4 หน่วยงานละเมิดสิทธิให้ความเห็นเรื่องคุณสมบัติการเป็น รมช.พาณิชย์ จนเขาพลาดตำแหน่ง

แต่ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็น ไม่รับคำร้องของ “ไผ่”

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ยังมีคนที่รอต่อคิวเป็นรัฐมนตรีอยู่หลายคน ที่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่แล้ว อย่าง “อนุชา นาคาศัย” รมช.เกษตรและสหกรณ์ “สุชาติ ชมกลิ่น” อดีต รมว.แรงงาน จึงมีข่าวว่ายื่นขอปรับเก้าอี้รัฐมนตรีในส่วนของพรรค งวดนี้ หากพลาดเก้าอี้มีสิทธิเกิดแรงกระเพื่อมในพรรคสูง

ภูมิใจไทยเหนียวแน่น

ฟาก “ภูมิใจไทย” ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” เจ้าของรหัส มท.1 แม้มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะขอสับเปลี่ยนกระทรวง ดึงกระทรวงมหาดไทยมาคุมเอง แต่งานนี้ต้องมีกระทรวงมาแลกแบบ “สมน้ำสมเนื้อ” เท่านั้น เป็นเงื่อนไขตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล

อนุทินจึงกล่าวว่า ถ้าถามว่าภูมิใจไทยอยากได้กระทรวงอะไร ถ้าพูดออกไปเดี๋ยวจะตกใจกันหมด แต่ตอนนี้กระทรวงที่ภูมิใจไทยได้ก็ทำงานตอบสนองนโยบายนายกรัฐมนตรีทุกเรื่อง เปิดปุ๊บติดปั๊บ ทำงานแบบมืออาชีพ

ความเคลื่อนไหวการปรับ ครม.จะอึกทึกครึกโครมในอีกไม่ช้า แม้นายกฯจะยืนยันว่า เป็น “ข่าวลือ”