สวัสดิการ “บิ๊กตู่” นิยม เท 1.2 หมื่นล้าน แก้จน

แฟ้มภาพ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. …พร้อมทั้งอนุมัติในหลักการงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาทเป็น “ทุนประเดิม” กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจรากฐานและสังคมจะเป็น “กองทุนหมุนเวียน” ล่าสุดเป็น “เครื่องมือ” ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

สำหรับ “แหล่งเงินทุน” มาจาก “เงินอุดหนุน” ของรัฐจะต้องจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มี “ผู้บริจาค” และเงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงดอก-ผล ผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน

สำหรับเงินของกองทุนที่ได้รับ 1.ใช้จ่ายในการจัด “ประชารัฐสวัสดิการ” ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” 2.ใช้จ่ายในการจัด “ประชารัฐสวัสดิการ” 3.ใช้จ่ายในการสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมผ่านหน่วยงาน มูลนิธิและองค์กรการกุศล และ 4.ใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อสังเกตว่า ควรกำหนดลักษณะของรายจ่ายสวัสดิการและหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนให้ชัดเจน เพื่อมิให้กองทุนดังกล่าวมีความซ้ำซ้อนกับภารกิจปกติ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …วงเงิน 12,730,497,700 บาท โดยจัดสรรไว้เป็น “งบฯกลาง” 1 หมื่นล้านบาท และจัดสรรเป็น “ทุนประเดิม” ของ “กองทุนประชารัฐ” 2,730 ล้านบาท

โดยนำงบประมาณดังกล่าวไปกำหนดเป็นงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อไปใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน และเพื่อจัดสรรให้กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ได้แก่ กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อปี

การ “ริบเงินคืน” ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ไม่สามารถตามแผนงาน-แผนการใช้จ่ายได้ตามเป้าหมายการเบิกจ่าย เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ยิ่งรัฐบาล-คสช.กำลังคิดค้น-ผลิตนโยบาย “โดนใจ” ประชาชนรากหญ้าเพื่อ “ปิดจุดอ่อน” ของการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล-ประชารัฐ จนถูกค่อนขอดว่า “รวยกระจุก-จนกระจาย”

การโอนงบประมาณรายจ่ายจึงได้ทั้ง “คะแนนนิยม”-เครื่องมือบูตเศรษฐกิจ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว