“หมอวรงค์” นำทีมประกาศ เปลี่ยนอุดมการณ์ ปชป. เป็น “ปชต.สวัสดิการ”

“หมอวรงค์” นำทีมประกาศ เปลี่ยนอุดมการณ์ ปชป. จาก “เสรีนิยมประชาธิปไตย” เป็น “ประชาธิปไตยสวัสดิการ” เหตุ ล้าสมัย ชี้ นำไปสู่การผูกขาด ระบุ หากชนะศึก พร้อมโละส.ส.เก่าส่งเสริมคนใหม่ผ่านระบบไพรมารีโหวต

เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าปชป.เบอร์2 พร้อมกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ นำโดยนายถาวร เสนเนียม ร่วมกันแถลงจุดยืนและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ โดยนพ.วรงค์ กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการโดยประกาศยึดแนวทางประชาธิปไตยสวัสดิการ ไม่เห็นด้วยกับเสรีประชาธิปไตยเพราะได้รับการพิสูจน์แล้วว่านำไปสู่การผูกขาด ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และรวยกระจุก จนกระจาย หน้าที่ของเราต้องนำพาประชาชนเดินไปพร้อม ๆ กัน และวางนโยบายเร่งด่วน 2 ข้อ คือ เรื่องการบริหารจัดการภายในพรรค หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคจะทำให้เห็นผลภายในสองสัปดาห์คือ การคัดเลือกผู้สมัครจะให้สิทธิส.ส.เก่า แต่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้สมัครที่ต้องการแข่งขัน เช่น จังหวัดชุมพร เราเคารพสิทธิส.ส.เก่าแต่ถ้ามีผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีศักยภาพจะใช้ระบบไพรมารีโหวตให้สมาชิกในพื้นที่ตัดสิน ไม่ได้บ่งบอกว่าใครเป็นเด็กหรือเป็นคนของใคร เพราะสมาชิกพรรคเป็นคนตัดสิน โดยไม่ได้มีการล้างบางคนอดีตสส.ที่ไม่หนุนตัวเองอย่างที่มีบางคนเข้าใจ และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเปลี่ยนสส.ชุมพรยกจังหวัด แต่จะให้สมาชิกพรรคเป็นคนตัดสิน บนหลักการว่าพื้นที่ไหนที่มีการลดจำนวนสส. หรือมีการแข่งขัน เช่น พังงา มีส.ส.แข่งกันถ้าตกลงกันได้ ก็จบ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ผู้บริหารไม่ควรตัดสินแต่จะให้สมาชิกพรรคตัดสิน

นพ.วรงค์ กล่าวว่าา ตนจะเชิญประชุมประธานสาขาทั้งประเทศให้รับทราบทิศทางการนำพาพรรคและบทบาทการกระจายอำนาจไปยังประธานสาขาให้มีบทบาท อำนาจ หน้าที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ปชป.แข็งแกร่งขึ้น และจะสร้างให้พรรคปชป.สัมผัสได้ เข้าถึงง่าย ไม่ใช่เอื้อมไม่ถึง และวันใดที่ตนมีอำนาจในรัฐบาลมีสิ่งที่จะดำเนินการให้เห็นผลภายในสามเดือน คือ ปัญหาปากท้องประชาชนให้คนจน เกษตรกรมีเงินในกระเป๋า ซึ่งจะเป็นต้นทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้ง ปาล์ม ยางพารา และข้าว ทั้งนี้จากการพบประชาชนพบว่าเสรีนิยมทำให้เกิดการผูกขาด หากมีอำนาจจะทำลายการผูกขาดตรงนี้

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญที่ตนจะแก้ไขโดยมีเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคอีสาน สิ่งเหล่านี้คือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำภายในสามเดือน ส่วนระยะยาว 3-4 ปี จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านจุดแข็งของประทศ เช่น สินค้าเกษตร มีเกษตรปลอดภัย 100 % ส่งเสริมกษตรอินทรีย์ 50 % ของทุกจังหวัดภายใน 4 ปี ที่เป็นรัฐบาล รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการเพิ่มสวัสดิการด้วยการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย รวมทั้งจะมีการกระจายอำนาจด้วยการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศความเป็นมหานครให้กับ 10 หัวเมือง เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา อุบลราชธานี เป็นต้น ด้วยการเร่งออกพระราชบัญญัติมหานครหลังมีอำนาจ โดยตนขอประกาศนำประเทศไทยแข่งกับสิงคโปร์ ซึ่งตนพร้อมเป็นทั้งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี

“จุดยืนทางการเมืองนั้นต้องการให้การเมืองประเทศมีเสถียรภาพ โดยตนตั้งตัวเป็นตัวหลักมีจุดยืนทางการเมือง 4 ประการคือ 1.ไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่ถทอว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ 2. จะร่วมมือและทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมืองที่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ 3. จะต่อต้านพรรคการเมืองที่ใช้อำนาจไม่ชอบ ใช้เสียงข้างมากเพื่อประโยชน์ส่วนตน และ 4. ระบอบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ จึงประกาศชัดเจนว่าประชาธิปัตย์จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นพรรคการเมืองใดมีพฤติกรรมจาบจ้วงถือว่าเป็นศัตรูกับพรรคปชป. ถ้าผมชนะเลือกตั้งจะเอาคนที่มีจุดยืนตรงกันมาร่วมงาน แต่ถ้าแพ้เลือกตั้งก็ต้องยืนหยัดสี่ประเด็นนี้เช่นเดียวกัน” นพ.วรงค์ กล่าว

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า ตนเป็นคนไม่ยึดติด หากตนได้เป็นหัวหน้าพรรค แม้ชนะเลือกตั้ง แต่ถ้าผลงานออกมาไม่ดีถูกวิจารณ์ คะแนนนิยมตกต่ำ ตนไม่อยู่ ไม่ยึดติดในอำนาจ ต้องเปิดโอกาสให้คนใหม่มาทำหน้าที่ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้หมายถึงการลาออกจากหัวหน้าพรรคทันทีหากผลงานไม่ดีเพราะมีวาระ 4 ปี ตนเพิ่งเข้ามาลองไปถามคนที่อยู่มา 13 ปีจะดีกว่า และไม่ขอตอบว่าหากได้เป็นหัวหน้าพรรคแต่แพ้เลือกตั้งจะออกจากตำแหน่งหรือไม่

ด้านนายถาวร กล่าวว่า สาเหตุที่ความนิยมของปชป.ลดลงเป็นเพราะมีภาพลักษณ์ไม่ก้าวหน้า ไม่มีอะไรใหม่ ประกอบกับผลโพลล่าสุดพบว่าผู้นำปชป.ได้รับความนิยมลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับผู้นำพรรคอื่น พวกตนจึงกล้าเปลี่ยนเพื่อประชาชน ที่ผ่านมาเราถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นความจริง ดังนั้นการกำหนดจุดยืนและแนวนโยบาของพรรคต้องตรงกับสถานการณ์ การที่พรรควางแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเคยได้ผลในการต่อสู้กับเผด็จการ ใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน เองจากการเมืองไม่ได้แบ่งขั้วสุดโต่งเป็นซ้ายหรือขวาอย่างในอดีต ขณะเดียวกันแนวทางเสรีนิยมทำให้เกิดปรากฏการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” อีกทั้งประชาชนต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ จับต้องได้ “เสรีนิยม” จึงล้าสมัยไปแล้ว ซึ่งนพ.วรงค์ได้จดตั้งกลุ่มขึ้นมาแสดงความกล้าเปลี่ยนจุดยืนเสรีนิยมประชาธิปไตยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยสวัสดิการ และจะดูแลสังคมให้เท่าเทียมภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ขณะที่นายศุภชัย ศรีหล้า อดีตส.ส.อุบลราชธานี กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ปชป.ไม่ประสบความสำเร็จในภาคอีสานว่า เกิดจาก 2 สาเหตุคือ 1. พรรคไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของคนอีสาน และ 2. ปชป.ในสายตาของคนอีสานจำนวนมาก รู้สึกว่าห่างไกล ไม่ใกล้ชิด ซึ่งเกิดจากความพ่ายแพ้และไม่มีตัวแทนในพื้นที่ปฏิบัติงานให้พรรคอย่างยาวนาน ดังนั้นการจะชนะเลือกตั้งได้ต้องได้ส.ส.พื้นที่ภาคอีสานในจำนวนที่มากพอ ตนอยู่พรรคมานับสิบปี รู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของตนจึงอยากทำให้ดีที่สุด และอยากเห็นบ้านหลังนี้เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยเชื่อว่านพ.วรงค์คือคนที่เหมาะสมจะนำพรรคต่อไป

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์