“พิชิต” ทษช.ชี้ ระเบียบ-ประกาศ กกต. ยุ่งยาก-ซับซ้อน ปชช.เข้าใจยาก แนะ ยกเครื่องหลังเลือกตั้ง

นายพิชิต ชื่นบาน  ประธานที่ปรึกษากฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า เท่าที่ตนได้ศึกษา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ระเบียบและประกาศของ กกต.ทั้งหมดรวม 10 ฉบับ ที่ออกมาบังคับใช้กับพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว เห็นว่าแม้แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและระเบียบในฐานะผู้ปฏิบัติงานเลือกตั้งเอง ก็จำเป็นต้องศึกษาระเบียบที่ออกมาให้เข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้งเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นการยากมากที่พรรคการเมือง นักการเมือง ประชาชนโดยทั่วไป และผู้เกี่ยวข้องจะสามารถศึกษาเรื่องเหล่านี้ได้ ในระยะเวลาสั้นๆ

นายพิชิต กล่าวว่า เช่น ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดวิธีการหาเสียงการเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ว่า ผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดแล้วแต่กรณีสามารถใช้วิธีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วยตนเอง หรือมอบหรือว่าจ้างบุคคลหรือนิติบุคคลดำเนินการแทนได้ ขอบเขตของระเบียบดังกล่าวจึงตีความได้กว้างมาก เช่น การจ้างประชาสัมพันธ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ มีเทคนิค วิธีการ ช่องทางและค่าใช้จ่ายมากน้อยต่างกัน ถ้าผู้สมัครคนใดสามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสารหรือผู้ที่บังคับใช้กฎหมายได้ย่อมได้เปรียบกว่านักการเมืองที่ไม่รู้จักกับผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเสนอความคิดเห็นที่สุ่มเสียงต่อความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งทั้งที่ประชาชนมีเจตนานำเสนอความคิดเห็นโดยสุจริต

นายพิชิต กล่าวว่า หรือแม้กระทั่ง ระเบียบเกี่ยวกับการร้องเรียนและไต่สวนที่จะต้องนำมาบังคับใช้จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร สาเหตุหลักจึงเกิดจากการที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560  หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ได้เปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายของประเทศ ตามความต้องการของคนส่วนน้อยที่ยังไม่อาจเติมเต็มด้านความรู้ความสามารถตลอดจนขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อขั้นตอน วิธีการ และความเป็นจริงในทางการปฏิบัติงานเลือกตั้ง  จึงทำให้มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าความพร้อมและกำลังคนที่มีอยู่จะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์  เช่น กระบวนการรับสมัครสมาชิกพรรค การจัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และการสรรหาผู้สมัคร มีขั้นตอนบังคับให้ต้องรายงานต่อนายทะเบียนพรรคตามระยะเวลาที่กำหนด และมีขั้นตอนการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการลงมติที่ยุ่งยาก จนทำให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละพรรคใช้วิธีการที่แตกต่างกันจึงไม่มีมาตรฐานเดียวกันจนอาจนำไปสู่การกระทำผิดตามกฎหมายได้โดยง่าย

“ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง สมควรอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบที่เป็นอุปสรรคจนทำให้การเลือกตั้งขาดประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม ในการจัดการเลือกตั้งแต่เนิ่นๆ  ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ระเบียบ และแนวทางในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งไปในทิศทางเดียวกัน” นายพิชิต กล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!