วันนอร์ : ไขรหัสรัฐธรรมนูญพิการ ร่วมฝ่ายค้านกำมะลอ รอเชือดพวกสืบทอดอำนาจ

สัมภาษณ์พิเศษ โดยปิยะ สารสุวรรณ

 

สมการการ “จัดตั้งรัฐบาล” หลังเลือกตั้งถูกคิดคำนวณออกมาเป็นสูตรสำเร็จแต่ไม่ตายตัวระหว่าง “พรรคเครือข่ายทักษิณ” กับ “พรรคเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์” “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) อดีตประธานรัฐสภา-อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณ

พรรคเครือข่ายเพื่อไทย ?

พรรคส่งผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 58 คน ผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต 212 คน เพราะข้อจำกัดทางกฎหมาย ข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะพรรคเพิ่งตั้งขึ้น 5-6 เดือนเท่านั้น อีกประการหนึ่งพรรคไม่ได้หวังจะต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.เยอะ เพื่อเปลี่ยนคะแนนเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียว แต่มุ่งคุณภาพผู้สมัคร ส.ส.ที่ประชาชนยอมรับ ยุทธศาสตร์ของพรรคจึงส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตเฉพาะพื้นที่ที่พรรคคาดว่าจะชนะและมีคะแนนมากพอเพื่อรวมเป็นคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ บางพื้นที่ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.เพราะอาจจะได้คะแนนน้อย

พรรคนี้เกิดขึ้นจากประชาชนส่วนหนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลาที่คิดกันว่าควรมีพรรคการเมืองของคนใน 4 จังหวัดภาคใต้ เหมือนกับพรรคชาติไทยพัฒนาของท่านบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติพัฒนา ของคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคพลังชล ของคุณสนธยา คุณปลื้ม

เป็นพรรคมุสลิม ?

ผมเล่นการเมืองมา 40 ปี ก็เป็นคนใต้ ก็อาจจะทำให้คนใต้เลือกพรรคเยอะหน่อย ซึ่งภาคใต้พรรคส่ง 49 เขต จากทั้งหมด 50 เขต เพราะผู้สมัครมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ 1 คน หัวหน้าพรรคเป็นคนภาคใต้ คนใต้รู้จักพรรคมากพอสมควร ไปเปิดตัวพรรคครั้งแรกที่ จ.ปัตตานี ทำให้คนใต้รู้จักเยอะ เพราะพรรคคิดว่าประเทศไทยไม่ใช่เพียงแค่กรุงเทพฯ แต่สามารถไปเปิดตัวที่ไหนก็ได้ พรรคไม่ได้ทิ้งภาคอื่น กรุงเทพฯส่งครบ 30 เขต แต่ขาดคุณสมบัติไป 1 คน ทำให้เหลือ 29 เขต ภาคอีสานส่ง 87 เขต จาก 116 เขต เกินครึ่ง ภาคเหนือส่ง 28 เขต ภาคกลางส่ง 18 เขต

ทีเด็ดที่ขาดช่วงโค้งสุดท้าย ?

การแก้ปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะทำอย่างไรให้พืชผลของเกษตรกรราคาดีขึ้น เพราะถ้าพืชผลเกษตรกรตกต่ำ ประชาชนก็ลำบาก สอง การกระจายอำนาจไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน เพื่อประชาชน ประชาชนหรือท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องงบประมาณ บริหารจัดการท้องถิ่นตัวเอง ต่อไปรัฐบาลจะเล็กลง ถึงเวลาคืนอำนาจให้ประชาชน

สาม ความสามัคคีปรองดองคนในชาติ ความแตกแยกทางความคิดที่นำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้งอย่างไม่มีขีดจำกัด อันตรายและเป็นตัวถ่วงไม่ให้ประเทศไปข้างหน้า ปช.แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น คือ ประการแรก การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้คนไทยทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม ทุกท้องถิ่นมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เรื่องของการพูดอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติด้วย

โปรเจ็กต์เรียกแขก ?

ประการที่สอง ประเทศไทยถึงเวลาต้องมีโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนในโลกมาร่วมกันลงทุน เช่น ระบบน้ำเพื่อชลประทานทางการเกษตร การสร้างระบบคมนาคมขนส่ง รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ พรรคจะเสนอให้ศึกษาขุดคลองไทย หรือคลองคอดกระเพราะเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนและอ่าวไทย โครงการนี้พูดกันมาตลอดหลายร้อยปี ไม่ใช่ไม่มีทุน เราขาดสิ่งเดียว คือ ขาดผู้นำทางการเมืองที่สามารถพูดแล้วให้คนเชื่อว่าเกิดขึ้นโดยไม่เสียความมั่นคงและไม่เป็นหนี้มากมาย

คิดว่ามันถึงเวลาเพราะเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่จะนำรายได้มาสู่ประเทศให้พลิกกลับสู่ความรุ่งเรือง ความเจริญยิ่งกว่าเจอบ่อน้ำมันเสียอีก

จะได้ ส.ส.กี่คน ?

ส.ส.รวมกันทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ 20-30 คน หรือ 1.5-2 ล้านเสียง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 10-12 คนเป็นอย่างต่ำ ที่เหลือเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เฉพาะภาคใต้คาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 คน เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) 10 เขตเป็นอย่างน้อย จ.สงขลากระแสดีมีโอกาสชนะ 2-3 เขต

บนสมมุติฐาน 1.ผมเป็นคนในพื้นที่ 3 จชต. 2.นโยบายสอดคล้องกับพี่น้องประชาชน 3.ผู้สมัครติดพื้นที่และหลายคนเป็นอดีต ส.ส. 5-6 คน เป็นอดีต ส.ว. 2 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. (สอบตก) ที่ได้คะแนนอีกไม่กี่ร้อยก็จะได้เป็น ส.ส. ไม่ใช่คนหน้าใหม่ ขณะที่ผลการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่ 3 จชต. 60-70% ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้มั่นใจว่าจะได้เกือบทุกที่นั่ง

คู่แข่งพรรคประชาชาติ ?

คู่แข่งเป็นเจ้าเดิม คือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของกำนันสุเทพ จ.สุราษฎร์ธานีจะได้สักกี่คน ฟังจากเสียงในพื้นที่แล้ว ไม่ค่อยมีกระแสเท่าไหร่ ผิดจากที่ผมคาดไว้ เห็น ปชป.ท้าทายอยู่ว่า ใน จ.สุราษฎร์ฯอาจจะได้แค่คนสองคน ไม่ได้ยกทีม ปชป.หวงนะ

ปชป.ยังเป็นคู่แข่งอันดับ 1 อยู่ เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม แต่โชคดีเพราะไม่มีการเลือกตั้งมา 7-8 ปี พูดแบบตรงไปตรงมา ปชป.ความนิยมชมชอบในภาคใต้ลดลงกว่าเดิม เป็นโอกาสที่พรรคจะปักธงลงในพื้นที่ภาคใต้ได้ พรรคหวังว่าจะได้คะแนนเป็นพรรคอันดับ 2 เพราะภาคใต้ตอนบน ปชป.ยังแข็งอยู่ แต่ภาคใต้ตั้งแต่ จ.สงขลาลงมา ผมว่าผมได้เยอะกว่า

จุดขายที่จะทำให้แบ่งคะแนนจาก ปชป.ได้ในภาคใต้ คือ หนึ่ง แนวทางและนโยบายสอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ภาคใต้ เช่น ราคายางพารา ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนภาคใต้

สอง บังเอิญว่าผมอาจจะเป็นหัวหน้าพรรคพรรคเดียวที่เป็นคนภาคใต้โดยกำเนิด เคยเป็นประธานรัฐสภา เคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักพอสมควร ส่วนคุณชวน หลีกภัย ไม่ใช่หัวหน้าพรรค และสาม ผู้สมัคร ส.ส.ได้ตัวดี ๆ มาเยอะ

เกมหลังเลือกตั้ง ? 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนออกมาพิกลพิการ พรรคอันดับหนึ่งอาจจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล บางทีเสียงเกินครึ่งในสภาผู้แทนราษฎรอาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาล คนที่ได้เสียงในสภาผู้แทนฯเพียง 126 เสียง จาก 500 เสียง 1 ใน 4 เท่านั้นเอง ไปบวกเสียงจาก ส.ว. 250 คนก็ตั้งรัฐบาลได้ ถ้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯได้ ก็เป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ ไม่มั่นคง อยู่ไม่นาน ขาดความมั่นใจ นักลงทุนไม่กล้าลงทุน ผมไม่คิดว่าคนที่หวังดีต่อบ้านเมืองจะคิดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพมาบริหารประเทศ แต่ถ้าใครสามารถรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนฯจากพรรคไหนก็แล้วแต่เกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 251 เสียง โดยไม่ต้องหวังเสียงจาก ส.ว. 250 คน ต้องยอมรับว่าเขาเป็นรัฐบาลโดยชอบธรรมที่จะสามารถบริหารประเทศได้

พปชร.ตั้งรัฐบาล 251 เสียง ?

ผมว่ายาก ลองนับดู ลองคิดเล่น ๆ สูตรหลังเลือกตั้งซีกสนับสนุนประชาธิปไตย พท. 200 เสียง พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) อย่างต่ำ 40 เสียง เพราะกระแสดี มหาวิทยาลัยไปกับเขาเยอะ ปช. 20-30 เสียง พรรคเพื่อชาติ เสื้อแดงและพรรคเสรีรวมไทยอีก กลุ่มนี้รวม ๆ กันแล้วเกือบ 300 แล้ว นี่ไม่รวมพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถ้ารวมด้วยเนี่ย 320 เสียงขึ้น แล้วซีก พปชร.จะได้เกิน 250 ได้ยังไง เราพูดตัวเลขแบบเรียลิตี้ คนจะไปกด พท. 150 เสียง หรือน้อยกว่านั้นได้ยังไง

ส่วน ปชป.จะเป็นตัวแปรสำคัญหรือไม่ ถึงขณะนี้ ปชป.ยังพูดไม่ชัดเจนว่าจะยืนอย่างไร จะร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ จะเป็นนายกฯเอง หรือจะยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อไม่ชัดเจนก็พร้อมที่จะทำอะไรได้ทุกอย่างเมื่อถึงเวลา การเมืองมองสั้น ๆ ไม่ได้ ฉวยโอกาสสั้น ๆ ว่าต้องเป็นรัฐบาลอย่างเดียว แต่พอครบ 4 ปีรัฐบาลล้มเลือกตั้งใหม่ ประชาชนจะสั่งสอนพรรคนั้น ทำให้คะแนนเลือกตั้งน้อยลง

โอกาสที่ พท.เป็นฝ่ายค้าน ? 

การซื้อเสียงและการใช้อำนาจของรัฐ ส่วนอุบัติเหตุทางการเมืองเราทำนายสิ่งนั้นไม่ถูก ถ้าสิ่งนั้นเกิดขึ้น คิดว่าดีเหมือนกัน เป็นฝ่ายค้านที่ดีที่สุด ชี้ให้ประชาชนเห็นว่า อำนาจไม่ถูกต้องเป็นอย่างไร แล้วค่อยเอาชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนว่าครั้งนี้ต้องเป็นรัฐบาล แต่ต้องเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง สมมุติว่าสืบทอดอำนาจเป็นรัฐบาลต่อไป ผมว่าโอ้ มันส์น่าดู เพราะเขาบริหารประเทศในยุคเผด็จการจะทำอะไรก็ได้ แต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง อะไรที่ผิด ซ่อนอยู่ใต้พรมจะถูกรื้อ ประชาชนจะหูตาสว่าง ไม่มีใครบอกได้ เพราะตัวแปรคือ ส.ว. 250 คน พท.จะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯก็ได้ หรือถ้า พท.รวมได้ครึ่งหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้านที่มีคุณภาพก็ดี จะได้ชี้ให้ประชาชนเห็นอะไรได้มากขึ้น

พรรคการเมืองอย่าสนใจว่าเป็นรัฐบาลอย่างเดียว เพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศได้ แต่เป็นฝ่ายค้านที่ดีก็มีประโยชน์เยอะ ใจผมเป็นฝ่ายค้านที่ดี สบายใจกว่าเป็นรัฐบาลด้วยซ้ำไปเยอะ แต่ไม่ใช่ไม่อยากเป็นรัฐบาลนะ

โมเดลตั้งรัฐบาล ? 

โมเดลการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นได้หลังการเลือกตั้ง คือ 1.รัฐบาลเสียงในสภาผู้แทนฯน้อย (รัฐบาลเสียงข้างน้อย) คือ 376 เสียง โดยบวกจากเสียงของ ส.ว. 250 เสียง ซึ่งแน่นอน พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นนายกฯ และ 2.รัฐบาลที่มีเสียงจากสภาผู้แทนฯเกินกึ่งหนึ่งหรือ 251 คน เขาอาจจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้เพราะรัฐธรรมนูญสร้างมาเพื่อให้เขาเป็นรัฐบาล อาจจะคิดว่าเมื่อเป็นรัฐบาลไปสักระยะหนึ่งก็อาจจะซื้อเสียงจากพรรคอื่น ๆ มาอยู่พรรครัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่า หลังการเลือกตั้งสามารถย้ายออกจากพรรคหนึ่งมาอยู่กับอีกพรรคหนึ่งได้