‘ธนาธร’ ไต่เส้นอาญา ม.116 งัดรัฐธรรมนูญ ล้มคำสั่ง คสช. ขึ้นศาลพลเรือน

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”  หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่ 1 ยังคงต้องลุ้นว่าจะได้เข้าสภาก่อนขึ้นศาลทหารหรือไม่

ข้อกล่าวหาอุกฉกรรจ์ หนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น สอง มาตรา 189 พาผู้ต้องหาหลบหนี และสาม มาตรา 215 มั่วสุมเกิน 10 คน ยังต้องรอ “ธนาธร” แก้ต่าง

“ข้อกล่าวหาทั้ง 3 ข้อ เราเชื่อมั่นว่าเราบริสุทธิ์ มีข้อกังวลอยู่นิดเดียวเท่านั้นเอง คือ คดีนี้ไม่ได้ขึ้นศาลพลเรือน คดีนี้ต้องขึ้นศาลทหาร ซึ่งเป็นข้อกังวลใจนิดหน่อย” 

แม้ “คำสั่งปลดล็อก”-คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยยกเลิกประกาศ-คำสั่ง 9 ฉบับ ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ

ทว่าประกาศ คสช.ที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร “สองสถาน” ไม่อยู่ในลิสต์ “คำสั่งพิเศษ 9 ฉบับ” ปลดแอกพรรคการเมือง

ฐานความผิดตามประกาศ คสช.ที่ 37/2557 ประกอบด้วย 1.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตามความผิดองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 และ 2.ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

กระนั้นก็ตาม แม้ประกาศ คสช.ที่ 37/2557 จะถูกยกเลิก แต่ “กฎเหล็ก” ที่คงอำนาจของศาลทหารไว้ยังคงอยู่ยง-ไม่มีผลลบล้างการกระทำที่เกิดขึ้นหลังประกาศคำสั่งปลดล็อก 9 ฉบับ

“ข้อ 2 การยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้” คำสั่งปลดล็อก 9 คำสั่งพิเศษระบุ

ทำให้ “คดีธนาธร” ยังคง “เห็นต่าง” ว่า จะต้องขึ้นศาลทหารหรือ “ศาลพลเรือน” โดยนายธนาธรจะส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 15 พ.ค. 62

“กฤษฎางค์ นุตจรัส” ทนายความแก้ต่างให้กับนายธนาธร เปิดเผยถึงข้อกังวลการขึ้นศาลทหารว่า ศาลทหารกับศาลพลเรือนมีระบบและองค์กรพิจารณาคดีแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการดำเนินคดีในศาลทหารก็ไม่เหมือนกับการดำเนินคดีกับศาลพลเรือน และองค์คณะในศาลทหารที่ได้มาแตกต่างจากองค์คณะในศาลยุติธรรม

“คดีนี้ต้องขึ้นศาลพลเรือน ซึ่งกฎหมายที่อ้างถึงการขึ้นศาลทหารขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะโดยสิทธิแล้ว พลเรือนต้องขึ้นศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญ 60 แยกศาลทหารกับศาลพลเรือนไว้อย่างชัดเจน”

“ในระหว่างดำเนินคดีจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า บทกฎหมายที่นำมาใช้อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะคำสั่งของ คสช.ที่ 55/2559 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องถูกยกเลิกไป แม้การกระทำจะเกิดขึ้นก่อนปี 2559 ก็ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร”

แม้ “คณะสอบสวน” ที่มี “พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “นั่งหัวโต๊ะ” พนักงานสอบสวนจะยก “เทคนิค” ทางกฎหมาย-เวลาคาบเกี่ยวระหว่างการกระทำผิดกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

“กรณีคุณธนาธรเป็นคดีที่เกิดก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 หรือเกิดขึ้น มิ.ย. 58 แต่เขายังคิดว่าให้ดำเนินคดีในศาลทหาร แต่ผมคิดว่าคดีนี้ต้องขึ้นศาลพลเรือนแน่นอน เพราะหลังปี 2559 หรือวันที่ 6 เม.ย. 2560 มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีข้อความยืนยันรับรองการแบ่งแยกอำนาจของศาลทหารกับศาลพลเรือนอย่างชัดเจน และยังมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพในการต่อสู้ของพลเรือนไว้อย่างชัดเจน”

อีก “ข้อกังวล” หนึ่ง คือ การไม่ให้อุทธรณ์-ฎีกาตามระเบียบเดิมตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498

“คดีธนาธร” ไม่ใช่คดีแรกที่ “พลเรือน” ต้อง “ขึ้นศาลทหาร” เพราะนับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ 22 พ.ค. 57 มีคดีของ “ฝ่ายพลเรือน-ตรงข้าม คสช.” ต้องพิจารณาบนชั้นศาลทหาร “หลายพันคดี”

นับจาก 25 พ.ค. 57 ถึง 30 พ.ย. 59 มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 2,177 คน เป็นคดีพลเรือนในศาลทหารทั้งหมด 1,720 คดี เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธ 1,577 คดี

คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 86 คดี คดีฝ่าฝืนประกาศ หรือคำสั่ง คสช. 44 คดี

และคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จำนวน 13 คดี

อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ฝ่าฝืนประกาศ คสช. 41/2557 ไม่มารายงานตัว และกล่าวปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เข้าข่ายความผิด ป.อาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

นายสมบัติ บุญงามอนงค์-บ.ก.ลายจุด นักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหว ป.อาญา มาตรา 116 ขัดคำสั่ง คสช. 41/2557-ไม่มารายงานตัว และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

แม้ธนาธรโกยที่นั่งเข้าสภาได้ถึง 80 ที่นั่ง++ แต่วิบากกรรมของธนาธรและอนาคตใหม่อาจเพิ่งเริ่มต้น