6 ตุลา 43 ปี “หมอเลี้ยบ” ปลุกคนรุ่นใหม่ “สักวันความฝันที่ยิ่งใหญ่จะเป็นจริง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงาน “ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาคม 2519” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และไว้อาลัยต่อวีรชนผู้สูญเสีย โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ ญาติวีรชน โดยมีนักการเมือง อาทิ จากพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.และองค์กรต่างๆ เข้าร่วมงาน ณ บริเวณลานปฏิมากรรม

ทั้งนี้ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 จะผ่านมาแล้ว 43 ปี แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลายๆ ระดับ ซึ่ง ม.ธรรมศาสตร์ ตระหนักดีถึงความสำคัญและยอมรับความจริงในบาดแผลทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ ที่จะนำไปสู่การสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต

“เราจะร่วมกันจดจำรำลึก สืบทอดวัฒนธรรม คุณความดีและจิตวิญญาณของผู้วายชนม์เหล่านี้ไว้ ร่วมกันแปรความสูญเสีย ความโศกเศร้าให้เป็นพลังสร้างสรรค์ และร่วมกันจุดความสว่างไสวให้กับสังคมไทย ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต” รศ.เกศินี กล่าว

@ ฝันให้สังคมอยู่ดีกินดี

นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ตอนหนึ่งว่า เมื่อตนจบการศึกษา ตนผ่านประสบการณ์หลากหลาย ออกไปเป็นแพทย์ชนบท กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ ชีวิตมีขึ้นมีลงหลายครั้ง สูงสุดคืนสู่สามัญ แต่ไม่เคยลืมภาพจำของยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไรก็ตาม ความใฝ่ฝันของตน และผองเพื่อน และวีรชน 6 ตุลา คือ ทำอย่างไรที่ทำให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง ผ่านมาถึงวันนี้ หลังจากการก้าวเดินจากวันที่เปลี่ยนชีวิตผมมา 43 ปี สรุปบทเรียนบอกกับตนเองไว้ดังนี้

1.ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน 2.จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อและตัวตนของเราคนอาจจำได้ในสิ่งที่เราทำ โดยไม่ใส่ใจเลยสักนิดว่าใครทำเพราะเมื่อมีเรื่องราวอีกมากมายในประเทศนี้ หรือโลกใบนี้ที่จดจำกันไม่หมดและ อีก 100 ปี หรือ 1,000 ปีข้างหน้า ก็จะไม่มีใครจดจำรายละเอียดนี้ได้อีก

@ สักวันหนึ่งฝันที่ยิ่งใหญ่ย่อมเป็นจริง

3.ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าวอย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาใหม่ ใครคิดเก่ง ก็ช่วยคิด ใครพูดเก่งก็ช่วยพูด ใครทำเก่งก็ช่วยทำ ใครถนัดนำก็นำไป ใครถนัดตามก็ตามสนับสนุน ใครมีแรงก็ช่วยแรง ใครมีเงินก็ช่วยเงิน ระหว่างเดินไปด้วยกัน บ่นกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ตำหนิกันบ้างก็อย่าถือสา หนทางยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ต้องกุมมือกันไป กอดคอกันไป ไม่ชิงดีชิงเด่น ไม่ยึดติดในหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ ใช้ปัญญาในการออกแบบจำลองของความฝัน ทดลองทำ ใช้ไม่ได้ก็ปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่ ถ้าบรรลุซึ่งความฝันในช่วงชีวิตของเราก็ดี ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร คนรุ่นหลังเขาคงผลักดันความฝันของเขาเองต่อไป ถ้าคนรุ่นหลังไม่สำเร็จ คนรุ่นต่อไปก็จะมาทำต่ออีก สักวันหนึ่ง ฝันที่ยิ่งใหญ่ย่อมเป็นจริง ผมเชื่อเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตำหนิกันว่า ทำไมคนรุ่นคุณทำไม่สำเร็จ

4. คำถามว่า “โลกพระศรีอารย์ หรือ ยูโทเปีย เป็นอย่างไร และเป็นไปได้จริงหรือ” ไม่มีผลต่อความใฝ่ฝันของตน นักวิชาการบางคนเคยบอกว่า ประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว เราได้การเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจเสรี สังคมอุดมคติแล้ว มาวันนี้นักวิขาการบางคนกลับบอกว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เสรีนิยมล้มเหลว โลกกำลังเปลี่ยนแกนไปทางขวาวิกฤตการณ์ในประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังท้าทายภูมิปัญญาดั้งเดิม และต้องการทฤษฎีแบบใหม่ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีอีกมากมายอาจเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา แต่ไม่ว่าความพลิกผันจะมีมากเพียงใด แต่เมื่อคิดย้อนไปที่จุดตั้งต้น ความฝันของตนยังคงง่ายเหมือนเดิม คือ เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง เปิดใจกว้างรับความรู้ใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ ไม่จำกัดเฉพาะความรู้ดั้งเดิมของตนเอง

@ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า – อย่าหยุดทำ

5.สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ตนทำได้ ทำเรื่อยๆ ทำไม่หยุด ทำเสริมซึ่งกันและกัน จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ความใฝ่ฝันย่อมเป็นจริง

6 สุภาษิตของทิเบตกล่าวว่า “พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน” วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจหลับไปตลอดกาลวันนี้จีงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างราวกับว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตไม่มีอะไรติดค้างใคร ไม่มีอะไรติดค้างในใจเพื่อวินาทีที่เราจะจากไป เราบอกกับตัวเองได้ว่าฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฉันฝันแล้ว

@ การเมืองไทย ไม่กลับที่เก่า

ต่อมา นพ.สุรพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเมืองไทยเปลี่ยนไปมาก บางคนบอกว่าเรากลับมาที่เดิม แต่ไม่คิดเป็นแบบนั้น เพราะ 43 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ใน ม.ธรรมศาสตร์นำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ของสังคม มีการจับกุมผู้ร่วมชุมนุม จับกุมปัญญาชน มีนิสิตนักศึกษาไม่น้อยต้องเข้าไปอยู่ในป่าเขา เกิดภาวะสุ่มเสี่ยงสงครามกลางเมือง หมิ่นเหม่ที่จะทำให้เป็นบ้านเมืองไร้ความหวัง ไร้อนาคต แต่การออกคำสั่ง 66/2523 นำมาสู่ความปรองดองพูดคุยกันและร่วมกันสร้างบ้านเมืองของเราใหม่ แต่สถานการณ์วันนี้ยังไม่รุนแรงเหมือนในอดีต เป็นเรื่องชั่วคราว วันนี้สังคมมาไกล คนรุ่นใหม่มีสำนึกประชาธิปไตย เสรีภาพสูง สถานการณ์ปัจจุบัน สักวันหนึ่งสถานการณ์ก็จะเริ่มคลี่คลายไป ไม่ต้องใช้เวลาถึง 43 ปี

“การเมืองในระบบรัฐสภา เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่มีการชิงไหวชิงพริบ สร้างความนิยมให้กับประชาชน เป็นเรื่องปกติ แน่นอนเป็นการเมืองที่มีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ กลุ่มคนต่างๆ ที่มีสถานะทางสังคมต่างกัน แต่พิสูจน์มามากพอในเลา 13 ปีที่ผ่านมา ถ้าปล่อยให้มีความขัดแย้งยังคงอยู่ต่อไป บ้านเมืองจะถอยหลังไปเรื่อยๆ มีตัวอย่างเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ฟิลิปปินส์ ที่ถดถอยอย่างยาวนาน คนที่มีความคิดต่างกัน โดยส่วนใหญ่เริ่มหาทางออกว่าจะออกแบบไหน” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

@ บ้านเมืองยังมีหวัง อย่าทิ้งไปอยู่ ตปท.

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ถึงคนรุ่นหลังที่เริ่มเข้ามาสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง ปัญหาทุกวันนี้เทียบกับ 43 ปีที่แล้ว ปัญหายังน้อยกว่า อย่าท้อแท้ อย่ากลัวว่าบ้านเมืองเดินต่อไปไม่ไหว ทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปอยู่ต่างประเทศ แล้วคิดว่าบ้านเมืองไม่มีอนาคตอีกแล้ว เรายังฝ่าฟันเมื่อ 43 ปีก่อน ดังนั้น ปีนี้สถานการณ์แบบวันนี้ยังมีโอกาสหากตั้งใจจริง สิ่งที่ทุกคนช่วยกันทำจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา ณ จุดตัดเวลาหนึ่ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ