เปิดสภารีสตาร์ตฝ่ายค้าน ซักฟอก “บิ๊กตู่” เกาะติดเงินกู้ 1.9 ล้านล้าน

รายงานพิเศษ

ขณะที่หัวหน้าฝ่ายรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำลังชุลมุนแก้ปัญหาโควิด-19 เป็นจังหวะเดียวกับที่ “ลูกหาบ” พลังประชารัฐ ในก๊วนพี่ใหญ่ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ก่อคลื่นใต้น้ำ กวนน้ำให้ขุ่น ทวงตำแหน่งรัฐมนตรี หวังเขี่ย 4 กุมาร ทีมเศรษฐกิจ

ทั้ง “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พลังงาน เลขาธิการพรรค “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

แต่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง หลังเปิดเกม ลูกสมุนที่ซ่อนข้างหลัง “พล.อ.ประวิตร” ต้องพ่ายแพ้เกมอำนาจ เพราะคนที่จะยืนหนึ่ง ปรับคณะรัฐมนตรีมีเพียง “พล.อ.ประยุทธ์” ล่าสุด เมื่อ 5 พ.ค.เรียกทั้ง “อุตตม-สนธิรัตน์” พบที่ห้องทำงาน ไทยคู่ฟ้า ปิดเกมชิงอำนาจวุ่น ๆ ในพรรค ให้โฟกัสแก้ปัญหาโควิด-19 ให้จบเรียบร้อย หนุนหลังให้ทั้งคู่ทำงานต่อ

เรื่องวุ่น ๆ ในฝ่ายรัฐบาล ถูกซุกไว้ใต้พรม ว่ากันใหม่หลังโควิด-19 ซาลง

แต่การเมืองที่เคย “พักรบ” จะรีสตาร์ตใหม่ 22 พ.ค.นี้ โดยรัฐสภาจะเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 พรรคฝ่ายรัฐบาลตั้งรับสถานการณ์โควิด-19 ในที่ตั้ง หลัง “พล.อ.ประยุทธ์” ลดบทบาทนักการเมืองในขั้วรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายค้าน 6 พรรค กำลังเตรียมตัวซักฟอกงบประมาณ

วางประเด็นโควิด-ทุจริต

เกมใหญ่ฝ่ายค้าน “ซักฟอก” 3 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สู้วิกฤตโควิด-19 คือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยกู้ธนาคารพาณิชย์ ให้ช่วยเหลือ soft loan แก่ภาคธุรกิจ SEMs 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ช่วยเหลือหุ้นกู้ภาคเอกชน 4 แสนล้านบาท รวมถึงร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 2563 หักงบฯ ทุกกรมกอง 10% มาแก้ไขโควิด-19 ทั้ง 4 ฉบับ ฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย คาดการณ์ว่า จะใช้เวลาอย่างน้อย 2 วันเต็ม มากสุด 1 สัปดาห์รอแค่สภาเปิดทำการ

ทั้งนี้ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จริง ๆ แล้วถ้าไม่เกิดปัญหาโควิด-19 จะเป็นเรื่องของการตรวจสอบเรื่องทุจริตกับประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล แต่พอหลังเกิดโควิด-19 อาจจะต้องหนักหน่วงเรื่องการตรวจสอบประสิทธิภาพการบริหารสถานการณ์ในภาวะวิกฤตที่มีข้อบกพร่องผิดพลาด จนทำให้การบริหารงานในช่วงวิกฤตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“ฝ่ายค้านมีหน้าที่ตรวจสอบทั้งในแง่ทุจริตต่าง ๆ ที่ค้างคาอยู่และประสิทธิภาพการทำงาน แต่ต้องดูว่าโควิด-19 จะยาวแค่ไหน น้ำหนักจะอยู่ที่ใดบ้าง”

ก้าวไกลฉายซีรีส์เงินกู้

ด้าน “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรคก้าวไกล เตรียมเปิดซีรีส์ ซักฟอกปมกู้เงิน 3 episode

EP 1 พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่แบ่งออกเป็น 555,000 ล้านบาท ที่จะไปใช้เยียวยาประชาชน ใช้กระบวนการพิสูจน์ความจนไม่จบไม่สิ้น ตั้งคำถามว่าประชาชนจะได้ถ้วนหน้า ครอบคลุมและทันต่อเหตุการณ์หรือไม่ ส่วนงบฯ 45,000 ล้าน ที่สนับสนุนด้านสาธารณสุข การขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ยังมีอยู่หรือไม่ โดยที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้ใช้ นอกจากนี้ 400,000 ล้าน ที่ไว้ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เหมือนตีเช็คเปล่า ไม่มีกรอบการใช้จ่ายใด ๆ ที่ชัดเจน

“ก้าวไกลตั้งกรอบสั้น ๆ ว่า อย่าให้เหมือนโครงการไทยนิยมยั่งยืน เรากลัวว่าจะเป็นโครงการขุดลอกคูคลองสู้ภัยโควิด ชุมชนเข้มแข็งสู้ภัยโควิด ผักสวนครัวรั้วกินได้สู้ภัยโควิด ไม่เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ”

“กรอบตรวจสอบ คือ เราสามารถพยุงการจ้างงานได้หรือไม่ พยุงกำลังซื้อในประเทศได้หรือไม่ พยุง SMEs ได้หรือไม่ เกิดการว่าจ้างงานกันต่อได้หรือไม่”

พ.ร.ก.ที่ 2 คือการให้ ธปท.ปล่อยกู้ธนาคารพาณิชย์ ช่วยเหลือเงินกู้ soft loan ให้กับ SMEs ตามคอนเซ็ปต์ดี แต่การช่วยเหลือจะไปถึง SMEs รายเล็กรายน้อยจริงหรือไม่

ส่วน พ.ร.ก.ที่ช่วยเหลือตลาดตราสารหนี้ ต้องดูเป็นรายตัว เช่น ถ้าพยุงตราสารหนี้ที่กองทุนประกันสังคมไปถือ ถ้าตราสารหนี้ตัวนั้นมีปัญหาส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเห็นด้วยที่จะเข้าไปพยุง ปล่อยให้มีปัญหาไม่ได้ แต่ถ้าเป็นหุ้นกู้เป็นของนายทุน ทั้งที่เขาควรจะช่วยเหลือตัวเองได้ “ก้าวไกล”จะตรวจสอบ

EP 2 ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 63 คำถามคือ งบฯที่ควรถูกโอนได้โอนมาหรือไม่ งบฯที่ไม่ควรโอน เช่น งบประมาณหลักประกันสุขภาพไม่ควรโอนจะโอนมาทำไม งบฯที่โอนมาได้รีดไขมันหรือเปล่า หรือโอนมาเฉพาะงบฯที่ตนเองไม่มีศักยภาพในการใช้แล้วเท่านั้น เช่น กองทัพบกโอนงบฯร้อยละ 30 แต่ตัวเลขการเบิกจ่ายของกองทัพบก เบิกจ่ายได้แค่ร้อยละ 50-60 ต่อปี ที่โอนมาร้อยละ 30 คือ ส่วนที่เบิกจ่ายไม่ได้

EP 3 เรื่องงบประมาณปี”64 สะท้อนกับสภาวการณ์ เป็นงบฯที่ถูกกาลเทศะหรือไม่ เพราะนายกฯมีมติให้ไปแก้ให้สอดคล้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้าแก้แล้วยังขี้เหร่ ซื้ออาวุธจัดหนัก จัดเต็ม มีงบฯสัมมนา อบรม สัมมนาต่างประเทศ เราเห็นว่าไม่สมควร

ตรวจเงินกู้ทุกบาท ทุกสตางค์

“วิโรจน์” ขอให้จับตาไฮไลต์สำคัญ การเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตามการใช้งบประมาณจาก พ.ร.บ.เงินกู้และงบฯกลาง เพราะที่ผ่านมาประชาชนถามเยอะว่า งบฯกลางถูกใช้ไปเพราะอะไร ซึ่งการมี กมธ.ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดจะทำให้ประชาชนมั่นใจว่าเงินทุกบาทถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังติดตามการปฏิรูปกองทัพ ด้วยการเสนอญัตติตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามปฏิรูปกองทัพ

ส่วนประเด็นที่ “ก้าวไกล” ต้องจี้ต่อ คือ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสุราเสรี ว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเมื่อใด

ประชาชาติลับมีดรออภิปราย

เช่นเดียวกับพรรคประชาชาติ ที่มี “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นหัวหน้าพรรคเผยแผนเตรียมซักฟอก พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ เป็นแพ็กเดียวกับฝ่ายค้าน เพราะการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาลทำได้ไม่ดีเพียงพอ มีข้อบกพร่องเยอะ เยียวยาล่าช้า ไม่ทั่วถึง ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลประชาชนได้น่าพอใจ ดีกว่าหลายประเทศ ดังนั้น พรรคประชาชาติจะเชิญ วิทยากรมาให้ข้อมูลกับบรรดา ส.ส.พรรค ในวันที่ 18 พ.ค.ที่จะถึงนี้

ส่วนในระดับพื้นที่ ให้ ส.ส.พรรครับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยื่นต่อศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ และกระทรวงมหาดไทยแล้ว

คนอดอยาก กำหนดการเมือง

ในฐานะสังเกตการณ์การเมือง ผ่านร้อน-หนาวมาอย่างโชกโชน “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. สังเคราะห์การเมืองที่จะ “รีสตาร์ต” ว่า ไม่มีประเด็นอะไรใหญ่ไปกว่าการอดอยากของประชาชน

ท้ายที่สุดความอดอยากของประชาชนจะเป็นแรงกดดันของทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะฝ่ายค้านต้องสื่อสารมายังรัฐบาลว่า ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสเพียงใด เพราะที่ผ่านมาก่อนเกิดโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยย่ำแย่ติดต่อกันอยู่แล้ว

“การแจกสิ่งของแจกเงินโดยประชาชน แถวยาวเป็นกิโล รวมถึงการปิดการลงทะเบียนเยียวยาเงิน 5 พันบาทจะเป็นระเบิดเวลา ถ้ารัฐบาลไม่ยกเครื่องการแก้ปัญหาแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จะรับสถานการณ์เศรษฐกิจชุดนี้ไม่ได้”

หากเป็นม็อบการเมืองไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม ทุกคนคาดการณ์ได้ แต่ม็อบคนหิวยากที่จะคาดเดา ความอดอยากจากฆ่าตัวตาย จะนำไปสู่ลัก วิ่ง ชิง ปล้น นี่คือความน่าเป็นห่วง และยังไม่แน่ว่าเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 22 พ.ค. จะสามารถประชุมกันได้ต่อหรือไม่ เพราะถ้าเสียงข้างมากมีมติให้เลื่อนการประชุมออกไป จนกว่าวิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลาย เพื่อปิดปากฝ่ายค้านก็สามารถทำได้ เพราะดูอาการฝ่ายรัฐบาลไม่อยากให้เปิดประชุม แม้เป็นไฟต์บังคับ เพราะเป็นการเปิดสมัยประชุมสภา ก็สามารถใช้เสียงข้างมากเลื่อนการอภิปรายได้

“เรื่องความอดอยากน่าจะกลบทุกเรื่อง การเมืองกลายเป็นเรื่องเล็ก ความหิวจะเป็นตัวกำหนดสถานการณ์การเมืองรอบนี้ เรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ดูชื่อที่ปรากฏตามข่าวก็คงไม่ช่วยอะไร เป็นสมบัติผลัดกันชม ปัญหาของประเทศใหญ่เกินกว่าสถานการณ์ที่ดำรงอยู่ในขณะนี้”

“พล.อ.ประยุทธ์น่าจะรู้สถานการณ์ดีมากที่สุด การที่เอาข้าราชการมาแก้ไขปัญหาแทนนักการเมืองในศูนย์ ศบค. คงตัดสินใจบางอย่างล่วงหน้าแล้ว ถ้าคิดว่าอยู่ในรูปแบบปกติ ก็คงไม่ไปกระทบพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น การเมืองหลังเปิดสภามีอะไรที่ซ่อนเงื่อนอยู่มากมาย”

ถามว่าใช่การปฏิวัติซ้ำหรือไม่ “จตุพร” ตอบแบบไม่ฟันธงว่า สถานการณ์ไม่เอื้อเหมือน 22 พ.ค. 2557 ที่มีคนปูสถานการณ์จนเกิดความคิด แต่สถานการณ์ขณะนี้อยู่ท่ามกลางความอดอยาก มันยากแต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่อุณหภูมิการเมืองจะไม่เหมือนปี 2557

การเมืองหลังโควิด-19 รอระเบิด