“อนุชา” โฆษกขั้ว “ประยุทธ์” ชายขอบ พปชร. ไม่โต้การเมืองน้ำเน่า

อนุชา บูรพชัยศรี
อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สัมภาษณ์พิเศษ
ปิยะ สารสุวรรณ

อนุชา บูรพชัยศรี โบกมือลาพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมชายคากระทรวงเสมากับเพื่อนซี้-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ก่อนมาลงเรือลำเดียวกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แหกด่านการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ-คว้าไมค์โฆษกรัฐบาล

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง” กับสารพัดปัญหาบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมือง-เศรษฐกิจ และความมั่นคงของรัฐบาล กับข้อกล่าวหา “ผู้นำเผด็จการ” ที่ดังก้องรอบรั้วทำเนียบ

Q : ข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐบาลเผด็จการจะอธิบายให้เข้าใจได้อย่างไร

คำว่าเผด็จการอาจจะมาจากในช่วงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่หลังจากนั้นเรามีการเลือกตั้ง และมี ส.ส.ในสภาทั้งหมด มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มีการโหวต มีการลงมติ

โดยข้อที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เข้ามามีส่วนร่วมเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ใช้ (19 พรรคการเมือง 500 เสียง) ส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรีกันเอง ยังไม่ถึงขั้นให้ ส.ว.เข้ามาร่วมโหวต (ส.ว. 249 เสียง)

ประธานรัฐสภาในปัจจุบัน (นายชวน หลีกภัย) เองก็มาจากการลงมติคล้ายคลึงกันตามรัฐธรรมนูญเหมือนกันในสภา

กระบวนการทั้งหมด ในฝ่ายนิติบัญญัติ ในฝ่ายรัฐบาลมาตามครรลองของรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ถ้าคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ถูกต้องในประเด็นใดก็ตาม ต้องแก้ไข ซึ่งมีกลไกในสภาพูดคุยในสภาและจบที่ตรงนั้น

รัฐบาลไม่มีประเด็นอะไรที่จะต้องเข้าไปแทรกแซง เป็นหน้าที่ของเราที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุบสภาก็ดี การพิจารณาว่าจะอยู่ในตำแหน่ง อย่างไรก็ดี มีกลไกที่เดินอยู่ เมื่อสภาเดินหน้าอย่างนี้อยู่แล้ว การเรียกร้องทำให้เกิดความชะงักงัน ด้วยการที่จะมีกลไกอื่น นอกระบบอาจจะไม่ถูกต้อง และอาจจะเป็นในเรื่องของการที่ปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างถูกวิถีอยู่แล้วด้วย

Q : ขยายความคำว่ากลไกอื่นนอกระบบ

หมายถึงการออกมาชุมนุมเรียกร้องในสถานที่ต่าง ๆ ตอนนี้อยากจะให้ใช้ช่องทางที่เป็นกลไกที่มีอยู่ เช่น เวทีเปิด หรือการไปยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่มีธงจะแก้หรือไม่แก้ เป็นกลไกของสภาและพรรคการเมือง รัฐบาลจะไปกำหนดให้ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันในบางเรื่องอาจจะลำบาก ส่วนรัฐบาลจะมุ่งเน้นเรื่องการแก้เศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชน

Q : รัฐบาลกับพรรคการเมืองแยกขาดออกจากกันเลยหรือไม่

ไม่แยกขาดออกจากกัน เพราะมีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด แต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็น leader แต่การเมืองเป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินและการคุมเสียงในสภาจึงต้องไปด้วยกัน

Q : จะสื่อสารอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลที่มาจาก คสช.ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องมากกว่าเรื่องความมั่นคง

สิ่งที่ทำให้เห็นล่าสุดคือท่านนายกฯสั่งชะลองบประมาณการจัดซื้อเรือดำน้ำ เพราะเห็นถึงความกังวลของประชาชนและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564

แต่เรื่องของความมั่นคงก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะทรัพยากรทางทะเลของประเทศที่มีอยู่และศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้ เพื่อส่งเสริมให้กองทัพเรือปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกันถ้าเราบอกว่า การสร้างถนน สร้างท่าเรือชะลอไว้ก่อน แต่เรื่องการเยียวยาเป็นเรื่องนำ อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง

การลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศต้องมีความเชื่อมั่น ถ้าความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงทางการเมืองน้อยความเชื่อมั่นการลงทุนก็จะไม่มีดังนั้นความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงทางการเมืองและความเชื่อมั่นเรื่องความมั่นคงของการปกป้องทรัพยากรต้องไปด้วยกัน แล้วการลงทุนจะเกิดขึ้น และต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์พอสมควร

Q : การชะลอซื้อเรือดำน้ำออกไปก่อนเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้กับรัฐบาล

ความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลมีหลายประเด็น แต่เรากำลังพูดถึงความมั่นคงของประเทศ เช่น การดูแลทรัพยากร การป้องกันอธิปไตยของประเทศ มากกว่ามองในเรื่องรัฐบาล

Q : จะฉายภาพใหญ่ให้เห็นเป็นผลงานของนายกฯ ผลงานของรัฐบาลให้เด่นขึ้นมาอย่างไร

ท่านนายกฯมีศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ใช้โมเดลเดียวกันกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งประสบความสำเร็จ เพราะมีทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ไม่เฉพาะฝ่ายการเมือง เพื่อขับเคลื่อนให้ตรงเป้า ตรงจุด

Q : การตัดสินใจเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ พรรคร่วมรัฐบาลจะไปด้วยกันทั้งองคาพยพ เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้กลไกสภาเป็นหลัก ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการยุบสภาและการลาออก พรรคร่วมรัฐบาลต้องมีการพูดคุยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ทั้งในส่วนของหัวหน้าพรรคการเมืองของแต่ละพรรคและวิปรัฐบาล

Q : พรรคร่วมรัฐบาลเหนียวแน่นมากน้อยแค่ไหน

ณ วันนี้ทุกอย่างยังทำงานด้วยดี ไม่ใช่เป็นการต่างคนต่างทำ ยังทำงานด้วยดี

Q : ทำไมถึงถูกเลือกมาเป็นโฆษกรัฐบาลในสถานการณ์ที่การเมืองเต็มไปด้วยม็อบรอบทำเนียบ

คงตอบลำบากว่า ทำไมถึงถูกเลือกมา เพราะสุดท้ายแล้วต้องขึ้นอยู่กับคนที่เลือก แต่ถ้าถามว่า เราคิดอย่างไรถึงได้ตัดสินใจมาทำหน้าที่นี้ ในช่วงสถานการณ์แบบนี้อาจจะตอบได้ตรงมากกว่า

เดิมที่อยู่ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่พอคิดว่า สามารถมาดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาลแล้วจะทำประโยชน์ส่วนรวมได้มากกว่า พูดเรื่องเศรษฐกิจได้ พูดเรื่องความมั่นคงได้

ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการศึกษา แต่เป็นเรื่องที่เราจะอธิบาย ขยายความในเรื่องของแนวนโยบายรัฐบาล แนวคิดของท่านนายกฯ และมาตรการที่จะออกมาในอนาคตในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนสนใจ และเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับโดยตรง

Q : นายกฯกำชับให้พูดอะไรเป็นพิเศษ

ช่วยอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจภารกิจของรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะช่วงปัจจุบันที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง แต่ให้ไปดูในเรื่องของการทำงานของท่านนายกฯในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วย และหลังจากการเลือกตั้ง 1 ปีผ่านมาบวกกับปีที่ 2 ที่กำลังจะมาถึง

พยายามอธิบายให้คนเข้าใจง่าย ๆ ไม่ใช้ศัพท์ทางการ หรือทางราชการ สื่อสารกับประชาชนให้มีความเข้าใจตรงกันได้มากที่สุดในเรื่องความตั้งใจของรัฐบาล

Q : ไม่เคยร่วมงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่พรรคพลังประชารัฐ ต้องทำการบ้านอะไรบ้างเป็นพิเศษ

การสื่อสารสามารถมีช่องทางไหน อย่างไรบ้าง และจะสื่อสารในประเด็นใดบ้าง เตรียมเนื้อหาในประเด็นใดบ้างที่เป็นประโยชน์ จาก character ที่เป็น ส.ส.มาตั้งแต่ปี 2550 มีประสบการณ์การทำหน้าที่ในสภามาแล้ว 2 สมัย ไม่ใช้วิธีการเชิงตำหนิ แต่นำเสนอข้อเสนอแนะ อยากเห็นการเมืองลักษณะสร้างสรรค์ ลดการเผชิญหน้า การหันหน้าพูดคุย ชี้แจงสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ และบางเรื่องที่ต่อเนื่องกับกลไกสภา

Q : ห้ามพูดโต้ตอบเรื่องการเมืองเลย

เรื่องของการเมืองหลีกหนีไม่ได้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับวิธีการที่จะนำเสนอมากกว่า การเมืองในทางสร้างสรรค์ การหักล้างด้วยข้อเท็จจริง ไม่แตะความเห็นส่วนตัว พูดบนฐานของข้อเท็จจริง

Q : ไม่ใช่สายตรงทำเนียบฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แหกด่านการเมืองมาเป็นโฆษกรัฐบาลได้อย่างไร

ตอนนั้นมีชื่อได้รับการเสนอเป็นโฆษกรัฐบาลในส่วนของพรรคพลังประชารัฐด้วยนะ จึงไม่ถึงขั้นแหกโผคนในมา เป็นมติของพรรคพลังประชารัฐที่ส่งชื่อเข้ามาให้ท่านนายกฯพิจารณาด้วย

Q : ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พูดได้หรือไม่ว่า เป็นโฆษกรัฐบาลนอกไส้พรรคพลังประชารัฐ

เป็นโฆษกรัฐบาลที่มาช่วยงานนายกฯมากกว่า เหมือนกับรัฐมนตรีคลัง (ปรีดี ดาวฉาย) เหมือนกับรองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ (พันธ์มีเชาว์) เป็นโควตานายกฯ

Q : อยู่ก๊กเดียวกับกลุ่ม กทม.-อดีต กปปส.ในพรรคพลังประชารัฐ

ในทางการเมืองทุกคนรู้จักกันหมด อย่าเรียกว่าเป็นสายใครเลย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม จังหวะ ท่านมองแล้วว่าน่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ท่านอาจจะไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่ามาจากไหน ใครสนิทกับใคร มาสายไหน ท่านอาจจะดูการทำงานของเราที่ผ่านมา ท่านอาจจะดูการที่เราแสดงในเรื่องการทำหน้าที่อย่างไร อย่าไปมองอย่างเดียวว่าสายใคร หรือไปมองว่าสนิทสนมกับใคร ถามว่า มีส่วนไหม แน่นอน การทำงานท่านนายกฯอาจต้องสอบถามความเป็นมาเป็นไป นิสัยใจคอ character เป็นแบบไหน เป็นการตรวจสอบเบื้องต้น

Q : ทำไมคนที่ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วได้ดิบได้ดีทุกคน

ตั้งแต่เป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว จะมีขั้นตอนที่เข้มข้นในการเลือกผู้สมัคร เมื่อมีส่วนร่วมในการเข้าไปทำงานการเมืองกับพรรคก็จะมีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านคอยชี้แนะในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนที่ดีควรจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร หรือวิธีการที่จะเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส. การอภิปราย การเก็บข้อมูล การดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงเป็นส่วนหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำให้เรามีแนวทางในการปฏิบัติในส่วนของการเป็นนักการเมืองที่มีผู้หลักผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างให้เราเห็น

Q : แล้วทำไมถึงออกจากพรรคประชาธิปัตย์

เพราะมาทำหน้าที่ในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีที่ไม่ใช่โควตาของประชาธิปัตย์จึงต้องลาออกเพื่อมารยาท