จอน อึ๊งภากรณ์ หัวขบวน iLaw ดึงแนวร่วมประชาชน สู้เกมแก้รัฐธรรมนูญ

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

จังหวะเกมแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เข้มข้นดุเดือด ส.ส.นักเลือกตั้ง ประจันหน้า ส.ว.นักแต่งตั้ง เปิดศึกวิวาทะเกมแก้รัฐธรรมนูญในญัตติพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างถึงพริกถึงขิงด้านนอกสภา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) นำขบวนยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน แนบด้วยรายชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อ จนกลายเป็นปรากฏการณ์

แม้ว่าร่างของภาคประชาชนจะ “ตกรถไฟ” ไม่ทันการพิจารณาร่วมกับร่างแก้ไขของบรรดา ส.ส.ผู้ทรงเกียรติแต่ “จอน อึ๊งภากรณ์” ผู้อำนวยการiLaw เชื่อว่าแรงกดดันของภาคประชาชนจะไม่ยอมให้นักเลือกตั้งในสภามองข้าม แม้จะเป็นเกมการต่อสู้ที่ยาว

คนเบื่อรัฐบาลหนุนแก้ รธน.

“อาจารย์จอน” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจว่า” iLaw คิดหนักมากว่าจะหา 5 หมื่นรายชื่อได้ไหม เป็นวิธีการเดียวที่ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการผลักดันรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป็นวิธีเดียวที่จะกดดันต่อผู้มีอำนาจ รัฐบาล รัฐสภา ให้เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้แต่จากประสบการณ์การล่าหมื่นกว่ารายชื่อในปีก่อน เพื่อยกเลิกคำสั่ง คสช.ใช้เวลากว่า 1 ปีด้วยความยากลำบากมาก ๆ

เจ้าหน้าที่เราไปพูดตามมหาวิทยาลัย ได้ชื่อมาทีละร้อย สองร้อย 5 หมื่นรายชื่อจึงเป็นเรื่องที่หนักมาก จนผมได้รับเชิญไปพูดของกลุ่มแคร์ที่โรงหนังลิโด้ ประกาศนิดเดียวว่าให้ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนมาลงชื่อเป็นพันในบ่ายวันเดียวกัน ถึงรู้ว่าเรื่องนี้ตรงใจกับประชาชนจำนวนมหาศาล

“พิสูจน์ว่าที่เราทำตรงใจกับประชาชนจำนวนมาก จะบอกว่าเป็นความปรารถนาของคนทั้งประเทศ…คงไม่ใช่ แต่ประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นประชาชนข้างมาก”

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือในระยะต้นปีนี้ ตั้งแต่มีปัญหาโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ เกิดการลุกขึ้นมาเรียกร้องของคนหนุ่มสาวทั่วประเทศ กระแสที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประชาธิปไตย และเบื่อหน่ายกับรัฐบาลนี้ ซึ่งคือ รัฐบาล คสช.สมัยที่ 2 คนต้องการเห็นอะไรใหม่ ๆ เริ่มสะสมตั้งแต่ความนิยมพรรคอนาคตใหม่ การยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญ สร้างความรู้สึกกับประชาชนมากในความเชื่อของผม”

มวลชนกดดัน-สภานิ่งเฉยไม่ได้

iLaw ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แนบ 1 แสนชื่อต่อสภา ยังต้องฝ่าด่านโหด-หิน ของนักการเมืองที่พร้อม “แปรญัตติ” รื้อร่างกฎหมาย “อาจารย์จอน” รับว่า “เป็นความยาก”

“เราไม่คิดว่ายื่น 1 แสนรายชื่อแล้วจบ…ไม่ใช่เลย ยังต้องต่อสู้อีกยาวนานให้สภาพิจารณาร่างของประชาชนด้วย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะพรรคการเมือง มีปัญหาว่าตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ยื่นแล้วเขาจะรับเลย ต้องใช้เวลา 45 วัน ตรวจสอบรายชื่อ ในระหว่างนั้นร่างของพรรคการเมืองก็พิจารณาแล้ว เป็นปัญหาของกฎหมายภาคประชาชนโดยตลอด”

แต่ก่อนในการล่ารายชื่อกฎหมายประกันสุขภาพ เราล่ารายชื่อได้ 7 หมื่นรายชื่อ แต่ของพรรคไทยรักไทยเขาเสนอเข้าสภาก่อน ของเรายังไม่ทันนับ แต่บังเอิญมี ส.ส.หยิบร่างกฎหมายของเราไปเสนอในชื่อของเขา เพื่อให้เข้าสภา จึงได้รับการพิจารณาอยู่ด้วย อันนั้นไม่เป็นปัญหามาก เพราะฉบับไทยรักไทยตอนนั้น ดัดแปลงจากของเรา ยังใกล้เคียงกับร่างของประชาชน

“สะท้อนให้เห็นว่าดูง่ายที่จะล่ารายชื่อแล้วสภาต้องพิจารณา แต่ในความเป็นจริงยากกว่านี้เยอะ เหมือนเราตกรถไฟ เราก็ต้องสู้ กดดันให้กฎหมายของประชาชนได้รับการพิจารณาด้วย ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่เป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่ามีแรงผลักดันเพียงพอจากประชาชนที่ทำให้สภานิ่งเฉยไม่ได้ จากประสบการณ์อะไร ๆ ที่ยากลำบาก ต้องใช้แรงกดดันของประชาชน”

อาจารย์จอนไม่คาดเดาว่า รัฐบาลจะ “ยอมอ่อนข้อ” ในเกมแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการเมืองในอนาคตคาดการณ์ไม่ได้ จะต้องใช้แรงกดดันจากประชาชนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่พอใจ

“แม้ว่ารัฐบาลนี้พยายามผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหา แต่ก็จะไม่เป็นประชาธิปไตย จะต้องเกิดแรงจากภาคประชาชนที่จะไม่รับร่างของรัฐบาล การเมืองข้างหน้าคงจะยังยุ่งเหยิง มีการปะทะทางแรงกดดันทางสังคม ที่จะให้รัฐบาลนี้ต้องยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญในทางที่เป็นประชาธิปไตย”

“เพราะรัฐบาลนี้ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วตอน คสช. ที่เป็น คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ก่อนหน้านั้นยังตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ คสช.ก็ไม่เอารัฐธรรมนูญของเขาเอง เพราะเป็นประชาธิปไตยเกินไป บทเรียนจากรัฐบาลนี้ค่อนข้างชัด รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

ให้ ส.ส.ร.รับฟัง หมวด 1-2

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร. ถูกคั่นจังหวะด้วยเสียงคัดค้านการมี ส.ส.ร. เพราะจะเป็น “ตีเช็คเปล่า” ให้ ส.ส.ร.ไป แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ที่เกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์

“อาจารย์จอน” มองว่า หมวด 1 หมวด 2จะเป็นประเด็นล่อแหลมที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่มี ส.ส.ร.แล้ว ถ้าเรามองในแง่ประชาธิปไตย การที่เราไม่พิจารณาเลย มันไม่เป็นประชาธิปไตย ในเมื่อมีประชาชนบางส่วนต้องการ หน้าที่ ส.ส.ร.ต้องฟังความคิดเห็นประชาชนทุกส่วน ถึงจะเป็นประชาธิปไตย

“ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนยังต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องการในรูปแบบที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ตามแบบที่เกิดหลัง 2475 แต่ผมก็เห็นว่าเรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงเยอะ แต่ทำไมผู้มีอำนาจในปัจจุบันต้องกลัวการถกเถียงของประชาชนซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่เกิดการใช้ความรุนแรงต่อกันแต่เถียงกันโดยเหตุโดยผล ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอยู่แล้วที่ประชาชนจะมีความเห็นหลากหลาย”

“เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร.จะต้องจัดการให้เกิดการพูดคุยถกเถียงกัน ด้วยความเรียบร้อย และนั่นเป็นเหตุที่ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ”

“แต่ถ้าหากได้ ส.ส.ร.ที่แต่งตั้งมาส่วนหนึ่งแบบที่รัฐบาลพยายามผลักดันนั่นหมายความว่า ส.ส.ร.ส่วนหนึ่งอยู่ภายใต้คำสั่งของรัฐบาล เชื่อว่าจะไม่เกิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นในเรื่องสาระของรัฐธรรมนูญใหม่”

ถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญขึ้นโครงสร้างอำนาจทางการเมือง สังคมใหม่ อะไรที่จะแข็งขืน อะไรที่ต้องยืดหยุ่นประนีประนอม “อาจารย์จอน”

ตอบตรงว่า เรื่องร้อนแรงที่สุด ต้องเกี่ยวกับหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ มีคนเห็นต่างกันเยอะ เป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุด ส.ส.ร.ที่จะหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับได้โดยส่วนรวมตรงนี้จะยาก

ประเด็นอื่นอาจจะไม่ยากนัก เช่น การไม่มีวุฒิสภาแบบปัจจุบัน อาจมีการเถียงว่าควรมีวุฒิสภาหรือไม่ หรือเรื่องนายกฯ ควรเป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีประเด็นที่ถกเถียงในกลุ่ม

ทางสังคม เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน ป่าไม้ ที่ดิน เราจะเอาเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการหรือไม่ รวมถึงประเด็นศาสนา

แต่ถ้าปลายทางไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เลย “อาจารย์จอน” คิดว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ ประเด็นหมวด 1 หมวด 2 ต้องเป็นประเด็นที่มาจาก ส.ส.ร. ไม่ใช่เป็นประเด็นที่พรรคการเมืองในปัจจุบันเป็นผู้กำหนด ดังนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต้องเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้ ส.ส.ร.

รัฐธรรมนูญเป็นทางออกวิกฤต

“อาจารย์จอน” หวังว่าการมี ส.ส.ร.จะเป็นเครื่องการันตีว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนในการเมืองไทยมันมีขั้วอำนาจต่าง ๆ เล่นเกมสกปรกบ้าง แต่อย่างน้อย

ขอให้สังคมไทยพัฒนาก้าวหน้าไป ผมไม่ได้มองโลกในแง่ดีถึงมองว่าเราจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง กลายเป็นประเทศประชาธิปไตย ถ้าประเทศไทยไม่ก้าวหน้า ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ จะส่งผลกระทบในทุกด้าน

“ด้านเศรษฐกิจจะเกิดแน่นอน ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมีการควบคุมเศรษฐกิจด้วย ไม่ให้เกิดการผูกขาดโดยทุนใหญ่ไม่กี่กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ เราต้องมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กสามารถเจริญก้าวหน้า แข่งขันที่ยุติธรรม ประชาชนได้รับการคุ้มครองในฐานะผู้บริโภคด้วย ขอให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งแค่นี้ก็ยากลำบากแล้ว”

การแก้รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของทางออกวิกฤต เหมือนเป็นแบบฝึกหัด สังคมไทยต้องเรียนรู้อยู่ร่วมกันโดยความเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ต้องเรียนรู้การไม่ใช้อำนาจปืน หรืออำนาจทหาร เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย

“ต้องไม่ใช้อารมณ์ต่อสู้ทางความคิดต้องใช้เหตุผล รู้จักเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน และถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่ดีในระหว่างการหารัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าสื่อมวลชนทำหน้าที่สร้างความเข้าใจต่อมุมมองแต่ละฝ่ายได้ดี จะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย”

“อาจารย์จอน” ปิดท้ายว่า รัฐธรรมนูญเป็นเกมยาว แรงกดดันจากประชาชนที่มีชัดเจนตอนนี้คงไม่หายไปไหน ตราบใดที่ไม่มีการตอบสนอง ยิ่งนับวันประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่กลัวว่าประชาชนบางกลุ่มหมดศรัทธามาคิดใช้ความรุนแรง ซึ่งผมหวังว่าจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้