ประยุทธ์ ออกไป เปิดชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี “อนุทิน” หัวหน้าพรรคอันดับ 2

กระแสในม็อบราษฎร เปล่งเสียง “ประยุทธ์ ออกไป” เช่นเดียวกับโลกออนไลน์ ที่ติดแฮทแท็กไล่ “ประยุทธ์ออกไป” หากเสียงนี้เป็นจริง ใครเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ได้บ้าง มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าขณะนี้ “อนุทิน” คือหัวหน้าพรรคอันดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาล ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด 

หลังจากเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 มีการนัดแฟลชม็อบในโลกออนไลน์ ให้พิมพ์คำว่า “ประยุทธ์ออกไป” โดยพร้อมเพรียงกัน ให้เต็มทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย จนทำให้ #ประยุทธ์ออกไป ถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยมีนักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวการเมืองหลายคน อาทิ โบว์ ณัฏฐา, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด

รวมทั้งแฟนเพจแฟนคลับศิลปินเกาหลี วงต่าง ๆ ก็ออกมาโพสต์ข้อความ ติดแท็ก ทำให้ขึ้นที่ 1 ทวิตเตอร์ในเวลาไม่นาน

ในช่วงค่ำของวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เกิดกระแสข่าวลือไปไกลถึงระดับว่าจะมีการรัฐประหาร รูปแบบใหม่ แต่แหล่งข่าวในวงการความมั่นคง และแกนนำรัฐบาลก็ได้ปฏิเสธทันที ผ่านทุกช่องทาง

ขณะที่แหล่งข่าวที่เป็นนักการเมืองมากประสบการณ์หลายราย ให้ความเห็นตรงกันว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง น่าจะไปไกลสุดที่การเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ระบุถึงไทม์ไลน์ ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด

ทั้งนี้ หาก “ประยุทธ์ ออกไป” บุคคลที่เคยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคการเมือง ต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ และตามรายชื่อที่เสนอแนบท้ายสำหรับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562  มีรายชื่อ ดังนี้

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อคนเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี

พรรคเพื่อไทย เสนอ 3 ชื่อ คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ

พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พรรคอนาคตใหม่  เสนอชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอชื่อ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา

พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

พรรคชาติพัฒนา เสนอชื่อ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ

พรรคประชาชาติ เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม

พรรคเสรีรวมไทย เสนอชื่อ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

แม้มีความเชื่อจากพรรคแกนนำรัฐบาลว่า หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินใจลาออกขณะนี้ อย่างไรเสีย ชื่อ “นายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ก็ยังชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เพราะกติกาการเลือกตั้งเก่า-รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ 2560 ที่ให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี อีกสมัย

แต่สถานการณ์การเมือง ในขณะนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กระแสความนิยมในตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏในรอบ 7 ปี ที่ขึ้นครองอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นพรรคมีจำนวน ส.ส.อันดับ 2 ในรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย ที่มีหัวหน้าพรรคชื่อ “อนุทิน” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสาธารณสุข ที่อาจจะเป็นบุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ทั้งในแง่จำนวน และตามรัฐธรรมนูญ

สำหรับพรรครัฐบาล 19 พรรค รวม 276 เสียง  ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 120  เสียง ภูมิใจไทย 61 เสียง ประชาธิปัตย์ 52 เสียง ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง  พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง ชาติพัฒนา 4  เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2

พรรคเล็ก 10 พรรค พรรคละ 1 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคไทยศรีวิไลย์  พรรคประชาธรรมไทย  พรรคไทรักธรรม

และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง

ทั้งนี้ พรรคพลังชาติไทย ยุบไปรวมกับ พลังประชารัฐ เมื่อ 20 มิถุนายน 2563 ทำให้พรรคร่วมรัฐบาล จาก 20 พรรคเหลือ 19 พรรค

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนของพรรค ว่า พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้ง และจะยึดมั่นอุดมการณ์นี้ไม่มีเปลี่ยนแปลง

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนจำนวนมากพอสมควร แม้ว่าจะผ่านการทำประชามติของประชาชนมาแล้ว แต่เมื่อนำมาใช้แล้วพบว่า ก่อให้เกิดปัญหาก็ต้องแก้ไข

“พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกันใหม่ ยกเว้นหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

นาอนุทิน ยืนยันว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนผู้ชุมนุม จะทำให้การเผชิญหน้ากันลดลง และรัฐสภาจะเป็นเวทีการแก้ปัญหาความขัดแย้งของประชาชนที่ดีที่สุด

“ขณะนี้ปัญหาของประเทศไทย นอกเหนือจากปัญหาการเมือง ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ หรือ ปัญหาปากท้องประชาชน อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก”

“พรรคภูมิใจไทยมีความเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของประชาชนที่ลดลง รวมทั้งการว่างงาน ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้น จึงมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ซึ่งเป็นจุดยืนที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการทำงานของพรรคภูมิใจไทย เพื่อประชาชน” นายอนุทิน กล่าว