“สุพัฒนพงษ์” มือขวา “ประยุทธ์” ภารกิจเคลื่อนเมกะดีล-ฟื้นเศรษฐกิจ

รายงานพิเศษ

ช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน-โควิด-19 ระลอกสาม หายใจรดต้นคอ-จ่อคอหอยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีขุนพลไม่กี่ราย ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี “เงี่ยหูฟัง” เป็นทั้งคู่คิด-ที่ปรึกษาและไว้ใจ มอบหมายงานเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงงานทับซ้อนความมั่นคง-ลับสุดยอด

1 ในทีมที่นายกรัฐมนตรีเรียกหายามวิกฤต คือ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี-ควบกระทรวงพลังงาน

เขาโดดเด่นกลางวงล้อม “เสธ.กองทัพ” นายกรัฐมนตรี ใช้บริการมาตั้งแต่ดำรงสถานภาพหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

งานด่วนของมือขวา “บิ๊กตู่”

ความไว้เนื้อเชื่อใจ ประการแรก-ต้นทุนเดิม คือ การมอบหมายให้ “สุพัฒนพงษ์” คุมกระทรวงขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า-กระทรวงเกรดเอ เบียดโผ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำสามมิตรแห่งพลังประชารัฐ

ภารกิจเร่งด่วนของ “สุพัฒนพงษ์” ในกระทรวงพลังงาน คือ เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน-เอาเนื้อออกจากปากเสือ ทุกเมกะวัตต์ต้องถึงมือเกษตรกร-ไม่ใช่ลงกระเป๋านายทุน

เป็นความไว้ใจที่ส่งต่อมาถึงการได้ใจ-เสนอแผนฟื้นฟูการบินไทย ทั้งเพิ่มทุนจากเจ้าหนี้-ธนาคารและสถาบันการเงิน และให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการใส่เงินในการฟื้นฟูกิจการเจ้าจำปี

ตามมาด้วยการต่อยอดจากมาตรการเศรษฐกิจ copay โดยเฉพาะความดังทะลุเปรี้ยงของโครงการ “คนละครึ่ง” ที่มี “เจ้าพ่อบิ๊กดาต้า” และ “วิศวะจุฬาฯ คอนเน็กชั่น” ที่มี “สุพัฒนพงษ์” เป็นหัวขบวน-เบื้องหลังความสำเร็จ

รวมถึงแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ-เยียวยาประชาชนในช่วงโควิด-19 สร้างชื่อในนาม “เราชนะ”

หลังจากมาตรการเศรษฐกิจ ที่มี “สุพัฒนพงษ์” เป็นรองนายกฯเศรษฐกิจ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” หา “จุดลงตัว” เมนูเศรษฐกิจออกมาเป็นซีรีส์ 4 ตอนต่อเนื่อง ประคองการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน-รักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจ

จังหวะก้าวต่อไป “สุพัฒนพงษ์” ส่งไม้ต่อให้กับ “ขุนคลัง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ปรับโครงสร้างรายรับ-รายจ่ายภาครัฐให้เข้ารูปเข้ารอย รวมทั้งการขยายฐานภาษีเท่าที่ทำได้

เคลื่อนเมกะดีล “เรือธง”

จากนั้น “สุพัฒนพงษ์” เคลื่อนไปทำงานใหญ่ ด้วยการปักหมุดเมกะโปรเจ็กต์ลงทุน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น “เรือธง” ประเทศไทย เดินสายเคาะประตูทั่วโลก-ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เศรษฐีกระเป๋าหนักให้มาพำนัก-ลงหลักปักฐานในประเทศไทย ยินยอมควักกระเป๋าใช้จ่ายหวังโกยเงินเข้าประเทศ 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี

คู่ขนานกับการแก้ระเบียบ-กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน โดยมี “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุก-ทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ เป็นลมใต้ปีก

“สุพัฒนพงษ์” มักออกตัวกับ “นักข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบ” ว่า ถ้าไม่เห็นตัว-ไม่ได้ยินเสียงของเขาในช่วงไหน นั่นหมายถึงเขากำลังทำงานลับ สำคัญที่สุดที่ได้รับออร์เดอร์มาจากประมุข ตึกไทยคู่ฟ้า

เขาอยู่วงในสุด ในการนำเสนอวาระระดับชาติ เคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระดับฐานราก และภารกิจกอบกู้วงการธุรกิจไทย

“สุพัฒนพงษ์” คือ คีย์แมน 3 ประสาน ร่วมกับ ทศพร ศิริสัมพันธ์ และ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ปลุกปั้น Phuket Sandbox หรือ “ภูเก็ตโมเดล” ปักธงเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อนำร่องการเปิดประเทศ ไตรมาสแรกของปี 2564

โดยมีวัคซีน 100 ล้านโดส เป็นเดิมพันขับเคลื่อนคู่ขนานกับ 3 สภานักธุรกิจ ทั้งสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นกลจักรสำคัญใน “ทีมไทยแลนด์”

เชื่อมร้อยกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ รวบอำนาจการบริหารจัดการภายใต้กฎหมาย 31 ฉบับ ยึดหัวหาดการเป็นประธานกรรมการรับใช้ชาตินับ 10 คณะ

ภารกิจใหญ่ บีบหัวใจ และนับถอยหลังคือ แผนการกระจายวัคซีน 100 ล้านโดสให้กับคนไทย 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ภายในระยะเวลาสิ้นปี 2564

โดยมี นายดนุชา-เลขาฯสภาพัฒน์ ร่วมปฏิบัติการกับ 4 ทีมผสมภาครัฐ-ภาคเอกชน

การประชุม ศบค.ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ “สุพัฒนพงษ์” คุมข้อมูล-การวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขาของ ศบศ. ในการทำงานร่วมกับเอกชน 4 ทีม เพื่อฉีดวัคซีนให้กับแรงงานในระบบ-ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกว่า 30 ล้านคน และผู้ถือบัตรทอง

แผนปฏิบัติการตามลำดับชั้นมีดังนี้ 1.จัดทำแผนการกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคม 2.ประสานงานกับมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข ในการกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมในจังหวัดต่าง ๆ

3.ประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงแรงงาน และภาคเอกชนในการรวบรวม ตรวจสอบ ข้อมูลความต้องการวัคซีนของแรงงานในระบบประกันสังคม และจัดส่งให้กรมควบคุมโรค และ 4.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในกรณีที่ภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนด้วยตัวเอง

คุมแผนเยียวยาระลอก 3

ศูนย์กลางอำนาจ ศบค.ยังมอบหมายให้ “สุพัฒนพงษ์” ในฐานะเป็นแกนนำในศูนย์บริหารเศรษฐกิจ (ศบศ.) ออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการ “ล็อกดาวน์” 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-14 พฤษภาคม 2564

โดยเฉพาะการเร่งรัดในการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยและประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยใช้อำนาจทางลัด ทางด่วนไม่ต้องอ้อมผ่านเส้นทางรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ภายใต้กฎหมาย 31 ฉบับ

หลังล็อกดาวน์ 14 วันอันตราย “สุพัฒนพงษ์” จะเข็นมาตรการ “คนละครึ่งเฟส 3” ออกมา คู่ขนานมาตรการดึงเงินออมจากภาคเอกชน 5-6 แสนล้านบาท ให้มาลงทุน-ใช้จ่าย โดย “รัฐร่วมจ่าย” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “คนละเสี้ยว”

ภายใต้ความคาดหวังในการออกมาตรการต่อเนื่อง-ต่อยอดโครงการเดิม ที่ได้ผลน่าพอใจ เช่น โครงการเราชนะแจกเงิน 7,000 บาท, โครงการ ม33เรารักกัน แจกเงิน 4,000 บาท, โครงการคนละครึ่ง แจกเงิน 3,500 บาท และโครงการเราไม่ทิ้งกัน แจกเงิน 5,000 บาท รวมทั้งโครงการเราผูกพัน ที่คาดว่าจะแจกเงินให้ข้าราชการรายได้น้อย รายละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท

บทบาท ย่างก้าวของ “สุพัฒนพงษ์” ในฐานะมือขวาของผู้นำหมายเลข 1 จึงน่าจับตาและพิสูจน์ฝีมือ