ปฏิบัติการล็อกถล่ม ส.ว.หักดิบรัฐธรรมนูญ พลังประชารัฐ

รัฐสภา
(file photo)REUTERS/Chalinee Thirasupa

การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ แบบมาราธอนของรัฐสภา ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน

เปิดฉากอภิปรายกันตั้งแต่เช้าวันที่ 23 มิถุนายน ต่อเนื่อง 24 มิถุนายน แม้ว่าอภิปรายของ ส.ว. และ ส.ส.จบลงเมื่อเวลา 16.50 น. ตามแผนที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา และ วิป 3 ฝ่ายวางไว้

แต่การลงคะแนนทีละคนด้วยการขานชื่อ รับ-ไม่รับหลักการ 13 ฉบับ ทั้งหมด 733 คน กินเวลานานกว่า 6 ชั่วโมงครึ่ง

แต่ในเนื้อหาการลงมติ แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล จะเป็นผู้คุมเกม ในฐานะที่เป็นแกนนำถือธงแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่ 5 ประเด็น 13 มาตรา โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ยื่นร่าง

ทว่า ส.ว.250 คน ผู้มีอาญาสิทธิ์ร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. ยังถืออาวุธลับในการโหวตรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ คุมเกมเหนือพลังประชารัฐอีกที

เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (3) กำหนดว่า การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ นอกจากคะแนนเสียงจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว จะต้องมีเสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา จึงจะผ่านชั้นรับหลักการ

ส.ว.จึงเปิดปฏิบัติการ “หักดิบ” ตีตกร่างรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่งดออกเสียงให้กับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีก 10 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ขณะเดียวกัน ส.ว.ต่างเทคะแนนให้กับร่างแก้ไขเพิ่มเติมร่างที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอแก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ แบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ย้อนกลับไปก่อนเวลา 17.00 น. สถานการณ์อึมครึมตั้งแต่ก่อนการโหวต หากจับอาการของ “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการอภิปรายสรุปในส่วนของเพื่อไทยว่า

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 ในสมัยของเรา เพื่อนสมาชิกบอกว่าใจเย็น ๆ คราวนี้ยื่นมารีบด่วนมาก ประธานส่งเอกสารมากระชั้นชิดมาก แต่พวกผมก็ได้เอกสารมาพอ ๆ กัน ไม่บ่นหรอก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ผ่านก็แก้ใหม่ยังมีเวลา แต่ผมเองเรียนตรง ๆ ไม่เชื่อว่าจะมีโอกาสได้แก้อีก ถ้าวันนี้ตก ล้มเหลว”

เพราะเวลาคล้อยจนจะจวนแล้ว แม้จะบอกว่าอีก 2 ปี จะครบสมัย แต่ผมไม่เชื่อหรอกมันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเวลาที่มีก็ควรแก้ ถ้าตกวันนี้เวลาไม่พอ ไม่มีเวลาให้คิดไปแก้หรอก และถ้าตกวันนี้จะไปอ้างสาระอะไรอีก ไม่มีอะไรจะอ้างแล้ว ไม่มีเวลาสับขาหลอกแล้ว ประชาชนรู้ทันแล้ว

“ภาวนา 13 ร่างน่าจะผ่าน แต่ฟังไปฟังมา ฟัง ส.ว.พูด ความหวังริบหรี่ลง เรื่องบัตรสองใบ คิดว่าอย่างน้อยไม่ถือว่าพวกผมเป็นพวกท่าน แต่กาของพรรคพลังประชารัฐ ก็โอเคน่าจะได้ แต่ฟังไปฟังมาไม่น่าจะใช่แล้ว ถ้าตรงนี้ไม่ได้แล้วตรงไหนจะได้ล่ะทีนี้ นี่กำลังเล่นอะไรกันหรือเปล่า ผมกำลังถูกหลอกให้ออกโรงเรียนอีกหรือเปล่า ก็มีสิทธิคิด เพราะประสบการณ์สอน”

เมื่อถึงนาทีการโหวตจริง ส.ว.งดออกเสียง-ไม่รับหลักการร่างของพรรคพลังประชารัฐจริง จึงมีหน่วยจรยุทธ์ไปหารือกับ “ไพบูลย์” ว่าจะต้องคว่ำร่างพลังประชารัฐ

ไพบูลย์ยอมรับความพ่ายแพ้ตั้งแต่ตอนช่วง 4 ทุ่ม ว่า น่าจะผ่านแค่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 เพียงฉบับเดียว ส่วนตนก็จะทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมาธิการจนจบขั้นตอน

เขาพ่วงท้ายว่า “แต่เป็นไปตามความเห็นชอบของเรา”

ภายหลังการประชุมนานกว่า 2 วัน 2 คืน บวกการนับคะแนนอีก 2-3 ชั่วโมง มติออกมาดังนี้

ร่างที่ 1 : พรรคพลังประชารัฐ 5 ประเด็น 13 มาตรา มติรับหลักการ 334 คะแนน เป็น ส.ส. 334 คะแนน ส.ว. 0 คะแนน ไม่รับหลักการ 199 คะแนน เป็น ส.ส. 71 คะแนน วุฒิสมาชิก 128 คะแนน งดออกเสียง 173 คะแนน เป็น ส.ส. 75 คะแนน วุฒิสมาชิก 98 คะแนน เท่ากับร่างนี้ไม่ผ่านกระบวนการ

ร่างที่ 2 : พรรคเพื่อไทย-เพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน มีมติรับหลักการ 399 คะแนน เป็น ส.ส. 393 คะแนน วุฒิสมาชิก 6 คะแนน ไม่รับหลักการ 136 คะแนน เป็น ส.ส. 8 คะแนน วุฒิสมาชิก 128 คะแนน งดออกเสียง 171 คะแนน เป็น ส.ส. 79 คะแนน วุฒิสมาชิก 92 คะแนน เท่ากับร่างที่ 2 นี้ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 3 : พรรคเพื่อไทย-เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ มีมติรับหลักการ 376 คะแนน เป็น ส.ส. 340 คะแนน วุฒิสมาชิก 36 คะแนน ไม่รับหลักการ 89 คะแนน งดออกเสียง 241 คะแนน เท่ากับร่างที่ 3 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 4 : พรรคเพื่อไทย-ที่มานายกรัฐมนตรี มีมติรับหลักการ 455 คะแนน เป็น ส.ส. 440 คะแนน วุฒิสมาชิก 15 คะแนน ไม่รับหลักการ 101 คะแนน งดออกเสียง 150 คะแนน เท่ากับร่างที่ 4 นี้ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 5 : พรรคเพื่อไทย-รื้อมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีมติรับหลักการ 327 คะแนน เป็น ส.ส. 326 คะแนน วุฒิสมาชิก 1 คะแนน ไม่รับหลักการ 150 คะแนน งดออกเสียง 229 คะแนน เท่ากับร่างที่ 5 นี้ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 6 : พรรคภูมิใจไทย-ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 454 คะแนน เป็น ส.ส. 419 คะแนน วุฒิสมาชิก 35 คะแนน ไม่รับหลักการ 86 คะแนน งดออกเสียง 166 คะแนน เท่ากับร่างที่ 6 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 7 : พรรคภูมิใจไทย-รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 476 คะแนน เป็น ส.ส. 421 คะแนน วุฒิสมาชิก 55 คะแนน ไม่รับหลักการ 78 คะแนน งดออกเสียง 152 คะแนน เท่ากับร่างที่ 7 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 8 : พรรคประชาธิปัตย์-เพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 469 คะแนน เป็น ส.ส. 421 คะแนน วุฒิสมาชิก 48 คะแนน ไม่รับหลักการ 75 คะแนน งดออกเสียง 162 คะแนน เท่ากับร่างที่ 6 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 9 : พรรคประชาธิปัตย์-ตัดอำนาจ ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 415 คะแนน เป็น ส.ส. 400 คะแนน วุฒิสมาชิก 15 คะแนน ไม่รับหลักการ 102 คะแนน งดออกเสียง 189 คะแนน เท่ากับร่างที่ 9 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 10 : พรรคประชาธิปัตย์-แก้การตรวจสอบ ป.ป.ช. ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 431 คะแนน เป็น ส.ส. 398 คะแนน วุฒิสมาชิก 33 คะแนน ไม่รับหลักการ 97 คะแนน งดออกเสียง 178 คะแนน เท่ากับร่างที่ 10 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 11 : พรรคประขาธิปัตย์-ที่มานายกรัฐมนตรี ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 461 คะแนน เป็น ส.ส. 440 คะแนน วุฒิสมาชิก 21 คะแนน ไม่รับหลักการ 96 คะแนน งดออกเสียง 149 คะแนน เท่ากับร่างที่ 11 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 12 : พรรคประชาธิปัตย์-กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 457 คะแนน เป็น ส.ส. 407 คะแนน วุฒิสมาชิก 50 คะแนน ไม่รับหลักการ 82 คะแนน งดออกเสียง 167 คะแนน เท่ากับร่างที่ 12 ก็ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ

ร่างที่ 13 : พรรคประชาธิปัตย์-เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีมติรับหลักการ 552 คะแนน เป็น ส.ส. 342 คะแนน วุฒิสมาชิก 210 คะแนน ไม่รับหลักการ 24 คะแนน งดออกเสียง 130 คะแนน เท่ากับร่างที่ 13 คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง และได้เสียงจากวุฒิสมาชิกเกิน 1 ใน 3

ที่ประชุมรัฐสภา ยังตั้ง คณะอรหันต์แปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญ อีก 45 คน ดังนี้ ส.ว. 15 คน ประกอบด้วย 1.กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 2.กิตติ วะสีนนท์ 3.คำนูณ สิทธิสมาน 4.จเด็ด อินสว่าง 5.นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ 6.ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 7.ถวิล เปลี่ยนศรี

8.พล.อ.นาวิน ดำริกาญจน์ 9.พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 10.มหรรณพ เดชวิทักษ์ 11.ศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล 12.สมชาย แสวงการ 13.สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ 14.พล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล 15.ประสิทธิ์ ปทุมารัตน์

พรรคเพื่อไทย 8 คน ประกอบด้วย 1.สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม 2.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน 3.องอาจ วงษ์ประยูร ส.ส.สระบุรี 4.สมบัติ ศรีสุรินทร์ ส.ส.สุรินทร์ 5.นิรมิต สุจารี ส.ส.ร้อยเอ็ด 6.จตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น 7.สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี 8.สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน

พรรคพลังประชารัฐ 8 คน ประกอบด้วย 1.ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.สมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 5.พรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย 6.พรชัย ตระกูลวรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.จักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 8.วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคภูมิใจไทย 4 คน ประกอบด้วย 1.ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ฐิตินันท์ แสงนาค ส.ส.ขอนแก่น 3.ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา 4.คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกล 3 คน ประกอบด้วย 1.รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก 3.ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน 1.บัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช 3.ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 1 คน นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ

พรรคประชาชาติ 1 คน กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ศุภดิศ อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยนัดประชุม กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

เกมรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 29 มิ.ย. 2564 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภาฯ ชั้น 6 อาคารรัฐสภา

โดยมีร่างเดียวที่ผ่านให้พิจารณาคือ ระบบเลือกตั้ง สมปรารถนาของ “นักเลือกตั้ง”