เปิดจุดเสี่ยง “ประยุทธ์” นายก 8 ปี เดิมพันคดี ฝ่าแรงปะทะพลังประชารัฐ

รายงานพิเศษ

กลางปี 2566 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา กำลังจะก้าวขึ้นทำเนียบ “รัฐบาลเลือกตั้ง” ที่ “อยู่ครบวาระ” อายุขัย 4 ปี ต่อจาก “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” และเป็น “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” อยู่ในอำนาจต้องห้าม-เก้าอี้นายกรัฐมนตรี 2 สมัย 8 ปี 9 เดือน 17 วัน

ทว่าระหว่างทาง-จุดหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพบนเส้นลวดแห่งอำนาจ กว่าจะถึงปลายทาง อาจจะ “ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ”

เปิดสภา-ขึ้นเขียงนิติบัญญัติ

เพราะทันทีที่ “เปิดสภา” สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 มี “กฎหมายฉุกเฉิน” และ “กฎหมายพิเศษ” ที่ “ต่อคิว” อย่างน้อย 2 ฉบับ ซึ่งส่งผลต่อการอยู่-การไปของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ฉบับแรก ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. เป็น “กฎหมายฉุกเฉิน” ที่จะนำมามาใช้ทดแทน พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

“จุดตาย” ของ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อยู่ใน “หมวด 6/1 สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” มาตรา 44/13 ซึ่งพรรคก้าวไกล “ดักคอ” เป็นการ “สอดไส้” กฎหมาย “นิรโทษกรรมโควิดเหมาเข่ง” โดยบัญญัติไว้ว่า

“ในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใด ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณด้านวิชาชีพ ภายใต้สถานการณ์ พฤติกรรม และวิสัย รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ หรือได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ มาตรการ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ หรือ คำสั่ง (ตามมาตรา 44/4) โดยสุจริตแล้ว ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่ไม่ตัดสิทธิ์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”

เป็นบทบัญญัติ “ยกเว้นการรับผิด” โดยการ “การเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งที่เป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เช่น อาสาสมัคร ผู้ช่วยพนักงานและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยไม่เกี่ยวกับฝ่ายนโยบาย” และให้บรรจุไว้ใน “บทเฉพาะกาล”

ฉบับที่สอง “พ.ร.ก.วาด้า” หลังจากองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) ประกาศแบนนักกีฬาไทย ไม่ให้จัดการแข่งขัน-ส่งนักกีฬาไทย รวมถึงใช้ธงชาติไทย “ปักหน้าอก” ในการแข่งขันกีฬาระดับชาติ เป็นระยะเวลา 1 ปี

“ถ้าออกเป็น พ.ร.ก.จะกระทบต่อเสียงในสภาหรือไม่ก็ต้องพิจารณา และต้องดูด้วยว่าเข้าข่ายการออกเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ และจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมูลค่าเท่าไร่ เป็นการบ้านที่มอบให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ไปดูร่วมกัน” เนติบริกร-วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายระบุ

คลื่นใต้น้ำในพลังประชารัฐ

ไม่นับรวม “งานประจำปี” ของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ที่จะต้องยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ฝ่ายบริหาร” ทั้งแบบลงมติ-ไม่ลงมติ เพื่อตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

รวมถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะเป็น “งบปีสุดท้าย” ของรัฐบาล “ก่อนครบวาระ” และ เป็น “กฎหมายการเงิน” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องรู้ร้อน-รู้หนาว เพราะถ้าหาถูกสภาตีตก-ล้มคว่ำ ตามธรรมเนียมปฏิบัติก็ต้องประกาศยุบสภาเพื่อแสดงความผิดชอบ

ปฏิเสธได้ยากว่า คลื่นใต้น้ำ-ความขัดแย้งภายในพรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐ ยากที่จะกลับมาสามัคคี-กลมเกลียว และนับวันยิ่งร้าวลึก หลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์” เดินหมากอันตราย “ปลดฟ้าผ่า” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พ้นจากตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาล กลายเป็น “เอฟเฟ็กต์” รัฐบาล 3 ป.

แม้ภาพการ “วัดพลัง” จะถูกลบจากการส่ง “ไผ่ ลิกค์” รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มาคอย “จัดคิว” การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคไม่ให้ “ทับเส้น” แต่ทั่วทั้งยุทธจักรรู้ว่า “ไผ่ ลิกค์” คือ “ลูกน้องผู้กองธรรมนัส” สะท้อนให้เห็นการ “ถือไพ่เหนือกว่า” บนสังเวียนการเมือง

การจะหวังพึ่งพาจำนวนมือ-เสียงสนับสนุนจากพลังประชารัฐที่ไม่เป็นปึกแผ่น-แตกยับ คงไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์จึงขาลอย ต้องเล่นบท “ถนอมน้ำใจ” พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ไม่ให้ “ผิดใจ” จนสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาล

เปิดประเทศเดิมพันโควิดระลอก 5

ขณะที่ “นอกสภา” หาใช่ “ม็อบทะลุฟ้า” แต่เป็นอีเวนต์ “120 วัน เปิดประเทศ” ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ-ชุบชีวิตการท่องเที่ยวให้กลับมาหายใจอีกครั้ง

“ล็อกแรก” วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เปิด 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง ตราด

“ล็อกสอง” วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ปลดล็อกให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้-เปิดสถานบันเทิง-หัวใจของการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มอรรถรสในการส่งท้ายปีเก่า-เคานต์ดาวน์ปีใหม่ และ “ล็อกสาม” วันที่ 1 มกราคม 2565 “เปิดประเทศ” อย่างเป็นทางการ ไม่ให้แพ้ชาติไหนในโลก

เป็นการ “เดิมพันสูง” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (อีกครั้ง) หากเกิดการระบาดระลอกใหม่-ตัวเลขผู้ติดเชื้อทะลุ 3 หมื่นคน และมีคนตายเป็นใบไม้ร่วง มาตรการล็อกดาวน์-ชัตดาวน์เศรษฐกิจจะกลับมาตั้งต้น “นับ 1” ใหม่อีกครั้ง แต่เป็นเรื่องรับได้ยากที่จะได้กลับมาแก้ตัว

ระเบิดเวลา “นายกฯ 8 ปี”

รวมถึง “ระเบิดเวลา” ที่ถูก “วางยา” เงื่อนปม “นายกฯ 8 ปี” ยังไม่ถูก “ถอดสลัก” พร้อมที่จะ “พลีชีพ” ทันทีเมื่อถึงเดือนสิงหาคม 2565 “พล.อ.ประยุทธ์” จึงมีเวลานั่งอยู่บนบัลลังก์ประมุขตึกไทยคู่ฟ้าอย่างน้อย 11 เดือน จนกว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ “สถานะนายกฯ”

ระหว่างทาง-ในองค์กรอิสระ “ควันหลง” ศึกซักฟอก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องแก้ต่าง-แก้ข้อกล่าวหา หลังจาก 6 พรรคฝ่ายค้าน ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. มาตรา 172 รวม 4 ข้อกล่าวหา

ข้อกล่าวหาที่ 1 ร้อง “ครม.ทั้งคณะ” กรณีจัดหาวัคซีนโควิด-19 ผิดพลาด และส่อทุจริตต่อหน้าที่ และข้อกล่าวหาที่ 2 กรณีจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด

ข้อกล่าวหาที่ 3 ร้อง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ
ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไร้ประสิทธิภาพ

ข้อกล่าวหาที่ 4 ร้อง พล.อ.ประยุทธ์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กรณีออกมติ ครม.ขัดกฎหมายและเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตสต๊อกยางพารา

เป็นระเบิดเวลา-กับดักทางการเมืองในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่พร้อมจะเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ