พรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้ง ได้ ส.ส. ต่ำร้อยมาแล้ว 13 ครั้ง

พรรคประชาธิปัตย์ถูกตีแตกแหลกละเอียดโดยเฉพาะพื้นที่สมรภูมิภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นหลักของพรรคมาหลายทศวรรษ

เมื่อแกนนำคนสำคัญหลายคน ตัดสินใจอำลาพรรคประชาธิปัตย์ คนแล้ว คนเล่า ล่าสุดคือ กรณี นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เตรียมย้ายไปซบพรรค 4 กุมาร ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเปิดตัวปี 2565

ประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคเก่าแก่ 75 ปี ย่างก้าวสู่ปีที่ 76 ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมามากมาย เคยผ่านการขึ้นสู่จุดสูงสุด เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

มีนายกรัฐมนตรีในนามพรรคทั้งที่ชนะการเลือกตั้ง แล้วได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เช่นในยุครัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ชนะเลือกตั้ง ในปี 2518 และการเลือกตั้งในปี 2519 รัฐบาลชวน 1 มีนายกฯ ชื่อ ชวน หลีกภัย-พลิกขั้วจากฝ่ายค้านมาเป็นรัฐบาลด้วยการรวบรวมเสียงข้างมาก เช่น รัฐบาลชวน 2-รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือถูกเชิญให้มาเป็นนายกฯ หลังรัฐประหารก็เคยมีมาแล้ว ในกรณีของ “ควง อภัยวงศ์”

ผ่านสมรภูมิเลือกตั้งอย่างเป็นทางการมาแล้ว 19 ครั้ง ไม่นับช่วงที่พรรคบอยคอตการเลือกตั้ง 3 หน ในการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2495 การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

ทว่าในยุคปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในสถานการณ์ที่เลือดไหลไม่หยุด ถูกครหาว่าเป็นพรรค “ต่ำร้อย” เพราะได้ ส.ส.จากการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพียง 52 เสียง และแกนนำคนสำคัญหลายคนได้ทยอยลาออกจากพรรค เลือกเส้นทางการเมืองกับพรรคอื่น

“ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ ยุคที่มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคว่า “เกียรติภูมิของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเดิม”

“เป็นห่วงเหมือนกับที่คนอื่นเป็นห่วง และเห็นใจผู้บริหารพรรค ซึ่งต้องเร่งหาทางแก้ไข แต่ก็เข้าใจว่าชื่อเสียงเกียรติภูมิพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นไปอย่างเดิม ก็มีความเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาและสถานการณ์ เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมั่นคงอยู่”

“ที่น่าเสียดายคือ คนที่ได้ตำแหน่งในช่วงที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์ แล้วออกจากพรรคไปเป็นคู่แข่ง ทำให้พรรคเหนื่อยเป็นพิเศษ ที่จะต้องแข่งขันกับคนของตัวเอง หลายคนผมก็ขอร้องไม่ให้ออกไป แต่ก็เป็นสิทธิของเขา”

ต่อไปนี้คือ สถิติการเลือกตั้งทั้งหมด 19 ครั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์ลงสนามเลือกตั้ง บางยุคเป็นยุครุ่งเรือง สลับกับตกต่ำ-ต่ำร้อย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลตัวเลข ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าสภาได้ แม้บางช่วงตัวเลขอาจ “ต่ำร้อย” แต่ด้วยจำนวนเต็มของ ส.ส.ในสภาที่บางช่วงมีประมาณ 160-300 กว่าเสียง อาจไม่แฟร์นักที่จะกล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง

เพราะยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือการเลือกตั้งเมื่อ 26 มกราคม 2518 ได้ 72 เสียง เลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 ได้ ส.ส.114 เสียง ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 ได้ ส.ส. 79 คน ในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ก็มีเสียงไม่ถึง 100 เสียง

แต่ถ้าย้อนสถิติในช่วง 20 ปีหลัง ที่จำนวน ส.ส. เพิ่มเป็น 500 คน ยกเว้นการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2551 ที่มีจำนวน ส.ส. 480 คน

พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในภาวะ “ต่ำร้อย” 2 ครั้ง คือ การเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ได้ ส.ส. 96 เสียง ได้เป็นรัฐบาลก็เพราะการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล ในยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

และครั้งล่าสุด การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ได้ ส.ส. แค่ 52 เสียง อาจกล่าวได้ว่า ต่ำร้อยที่สุดในช่วง 20 ปี

ในภาวะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเลือดไหลไม่หยุด การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ก็เหลือเวลาอีกไม่ถึง 15 เดือน

เป็นโจทย์ใหญ่ และโจทย์ยากของ “จุรินทร์” ที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับสู่พรรคเต็มร้อย