สิระ : เสี่ยงโดนคดีอาญาซ้ำ จำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน

“สิระ เจนจาคะ” อาจโดนคดีอาญาซ้ำ จำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ข้อหารู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงเลือกตั้ง

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “สิระ เจนจาคะ” พ้นเก้าอี้ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ และสั่งให้เลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน และอาจเจอ “ดาบสอง” ข้อหารู้อยู่แล้วว่าตัวเองขาดคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถหยิบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไป “ต่อยอด” เอาผิดในคดีอาญาได้

โดยดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังลงสมัครซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

จุดเริ่มต้นคดีนี้ พ.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ยศในขณะนั้นร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ให้ดำเนินคดีนายสิระ กับพวกอีก 2 ราย ฐานฉ้อโกง สำนักงานอัยการพิเศษ ได้รับสำนวนจาก สน.ปทุมวัน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2538 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ปทุมวันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสิระเป็นจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงปทุมวัน

ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 91 และมาตรา 83 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 2526 มาตรา 4 และสั่งให้นายสิระคืนหรือใช้ราคาทรัพย์กับผู้เสียหาย และริบสัญญาจะซื้อจะขายทั้ง 3 ฉบับ และพนักงานอัยการมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหาที่ 2 และ 3 เนื่องจากคดีขาดอายุความ

21 พฤศจิกายน 2538 ศาลแขวงปทุมวัน มีคำพิพากษาเป็นคดีแดงที่ 2218/2538 ว่าผู้ถูกร้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำนวน 2 กระทง กระทงละ 4 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน และให้ผู้ถูกร้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์คืนกับผู้เสียหาย และริบสัญญาจะซื้อจะขายทั้ง 3 ฉบับ อย่างไรก็ตาม นายสิระไม่มีการอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์

20 กว่าปีต่อมาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤตมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน ซึ่งเป็น “คู่ปรับ” นายสิระได้

ได้ยื่นเรื่องนี้ไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่านายสิระ มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) หรือไม่

พร้อมกับส่งเรื่องคู่ขนานไปยัง กกต. เพื่อให้ กกต. ร้องไปยังศาลคดีอาญาแผนกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เอาผิดในคดีอาญา

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์แถลงข่าวดังกล่าวเมื่อ 22 ธันวาคม 2563 ว่า พรรคเสรีรวมไทยยึดมั่นในเรื่องตัวบุคคลเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน หรือฝ่ายรัฐบาล ถ้าเป็นคนดี เราก็ยินดีด้วยและพร้อมจะให้การสนับสนุน

แต่ถ้าเป็นคนไม่ดี แม้จะเป็นคนในพรรคเดียวกัน เราก็ไม่เอาด้วย ซึ่งในกรณีนายสิระนี้ เมื่อมีผู้ร้องมา ตนในฐานะประธาน กมธ.ปปช. ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ เพราะเราอยากให้สภาเป็นที่ของประชาชน เอาไว้ทำงานให้ประชาชน

3 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง ดังกล่าวและหนึ่งใน “พยาน” ที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกมาชี้แจงคือ พ.ต.ต.เขมรินทร์ (ยศขณะเกิดเหตุ) ซึ่งชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญสรุปความได้ว่า ตนเพียงผู้เดียวเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ทั้ง 3 คัน และจ่ายเงินดาวน์ 1,108,317.50 บาท

เจ้าหน้าที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไม่ได้นำรถยนต์ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก ตนหลงเชื่อว่ารถยนต์ที่พิพาทมีอยู่จริง ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะหมายเลขเครื่องและเลขตัวถังรถยนต์ที่พยานทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ได้อยู่ในสารบบของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์

แม้ผ่อนส่งค่างวดรถก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ รถยนต์ที่นายสิระนำมาแสดงให้ตนดูก่อนทำสัญญาเช่าซื้อเป็นรถยนต์ที่มีรุ่นและสีตรงกันเท่านั้น จึงร้องทุกข์ต่อ สน.ปทุมวัน นายสิระกับพวก 3 คน แต่อัยการไม่ได้ฟ้องผู้ต้องหาที่ 2 และ 3 และต่อมาศาลแขวงปทุมวันได้ตัดสินจำคุก 4 เดือน

ที่สุดแล้วคดีดังกล่าวก็นำพาให้ “สิระ” ต้องตกเก้าอี้ ส.ส.หลักสี่