ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4 ฝ่ายค้านปั่นราคา ประยุทธ์ ฝ่า ส.ส.เสียงปริ่มน้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานพิเศษ

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีอีก 10 คน จะเป็นเที่ยวสุดท้ายเพราะเข้าสู่สมัยประชุมสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์

แม้ราคาคุยฝ่ายค้านต้องการใช้ศึกซักฟอกครั้งนี้ให้เกิด “จุดเปลี่ยน” น็อก พล.อ.ประยุทธ์ให้ได้ในสภา แต่ในความเป็นจริงในพรรคฝ่ายค้านเองก็มี “งูเห่า” อยู่ไม่น้อย

ของเดิมที่มีอยู่แล้ว 15 ตัว อาจทะลุ 20 ตัวก็ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายใกล้เลือกตั้ง เสียงของฝ่ายค้านอาจจะลดต่ำกว่า 190 เสียง ต้องหวังเสียงของพรรคเล็กร่วมรัฐบาลราว 30 เสียงให้แปรพักตร์ร่วมกับฝ่ายค้านล้ม พล.อ.ประยุทธ์

แต่ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์คุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดการก่อกบฏรอบสอง ทุกอย่างก็จบ อยู่ยาวไปจนจบการประชุมเอเปค เผลอ ๆ อยู่ครบเทอม

อย่างไรก็ตาม หากย้อนสถิติการลงมติ “ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ก่อน พล.อ.ประยุทธ์กำลังเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ 4 จะพบว่าคะแนน “ไว้วางใจ” ต่ำลงทุกครั้ง สะท้อนภาพรัฐบาลยิ่งอ่อนแอ

ทั้งที่ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านในการซักฟอกนายกฯและคณะจะอยู่ในลักษณะ “วนลูป” อยู่กับเรื่องเดิม ๆ

ยกที่ 1 แก๊ง 3 ป.แข็งแกร่ง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบที่ 1 ฝ่ายค้านยื่นญัตติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ประเดิมซักฟอกนายกฯและรัฐมนตรีรวม 6 คนประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

ข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ สรุปได้ดังนี้ 1.ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ

2.มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง

3.ปล่อยให้มีการทุจริตเต็มบ้านเต็มเมือง ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง บริวารและพวกพ้อง เข้าข้างคนชั่วที่เป็นพวกโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

4.บริหารราชการแผ่นดินโดยขาดความรู้ความสามารถ ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง

5.แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ และองค์กรในกระบวนการยุติธรรม

6.ไม่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ เปิดเผย ไม่มีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม

7.ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง ใช้งบประมาณของรัฐสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเองและพรรคการเมือง ไร้ประสิทธิภาพในการดูแลด้านเศรษฐกิจจนก่อให้เกิดสภาพรวยกระจุก จนกระจาย

8.ให้ความสำคัญในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่าปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน

9.ล้มเหลวในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทันทีที่ลงมติในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้ทรงอำนาจ 3 ป.ต่างโชว์ความเป็นปึกแผ่นของคะแนนเสียงในปีแรก พล.อ.ประยุทธ์คะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 49 งดออกเสียง 2, พล.อ.ประวิตรมีคะแนนไว้วางใจ 277 ต่อ 50 เสียง งดออกเสียง 2, พล.อ.อนุพงษ์ มีคะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 54 เสียง งดออกเสียง 2,

ส่วนคนที่ได้คะแนนน้อยสุด ร.อ.ธรรมนัส ได้คะแนนไว้วางใจ 269 ต่อ 55 เสียง งดออกเสียง 7, จากข้อครหาเรื่อง “มันคือแป้ง”

ประยุทธ์

ยกที่ 2 ธรรมนัส โชว์ฟอร์ม

ช่วงโควิด-19 ระบาดหนักและรุนแรง ฝ่ายค้านเปิดเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้ง 2 โดยยื่นญัตติเมื่อ 25 มกราคม 2564 ซักฟอก 10 รัฐมนตรีประกอบด้วย ขาประจำ 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร

ที่เพิ่มเข้ามาคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ข้อกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ สรุปได้ดังนี้ 1.บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึก

2.มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก และมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว

3.ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง

4.ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ มุ่งประโยชน์แต่การสร้างความนิยมชมชอบให้กับตนเองโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

5.สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน

6.ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

20 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุมไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยคะแนนเสียง 272 ต่อ 206 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน ไม่มี เท่ากับ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ได้คะแนนเสียง 272 ต่อ 205 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน ไม่มี

แต่ไฮไลต์อยู่ที่ ร.อ.ธรรมนัสกลับมีเสียงไว้วางใจเท่า “พล.อ.ประวิตร” ในฐานผู้จัดการรัฐบาลคือ 274 เสียง และได้เสียงไม่ไว้วางใจต่ำที่สุด 199 เสียง

ทั้งที่ในศึกซักฟอกรอบแรกตอนเดือนกุมภาพันธ์ 2563 “ร.อ.ธรรมนัส” ได้เสียง “ไว้วางใจ” จากเพื่อน ส.ส.ต่ำที่สุด

ส่วนคนที่ได้รับคะแนนไว้วางใจต่ำที่สุดในศึกซักฟอกรอบที่ 2 คือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการเวลานั้น โดยได้เสียงไว้วางใจแค่ 258 เสียง แถมยังมีเสียง “ไม่ไว้วางใจ” สูงที่สุด 215 เสียง หลังจากนั้น “ณัฏฐพล” และแก๊ง กปปส.ก็ต้องพ้นเก้าอี้รัฐมนตรี หลังถูกศาลสั่งจำคุกผลจากการชุมนุมของ กปปส.

ยกที่ 3 ประยุทธ์เกือบถูกน็อก

16 สิงหาคม 2564 ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์และรัฐมนตรีอีก 5 คนประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ในเหตุการณ์นี้ “พล.อ.ประยุทธ์” เกือบถูกน็อกคาสภาเมื่อ ร.อ.ธรรมนัสที่พัฒนาตัวเองจากศึกซักฟอก 2 ครั้ง จนกระทั่งไม่อยู่ในโผการถูกซักฟอก รวบรวมไพร่พล เตรียมโหวต “ไม่ไว้วางใจ” พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์สรุปได้ดังนี้

1.เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสํานึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม และไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นําประเทศ ทําให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน

2.ขณะที่การกู้เงินของรัฐบาลจํานวนมากแต่กลับนํามาใช้จ่ายอย่างไร้ทิศทาง ไม่ลําดับความสําคัญของการใช้เงินงบประมาณที่หมดไปกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่รักษาวินัยการเงินการคลัง

3.การจัดหาวัคซีนที่มีพฤติการณ์ปิดบังอําพราง ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ทั่วถึง เลือกปฏิบัติ และไม่มีประสิทธิภาพสูงสุด

4.ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดหาและจองวัคซีนล่วงหน้า แต่กลับดําเนินการโดยล่าช้า ขาดความจริงใจ พฤติการณ์มีลักษณะ “ค้าความตาย” ร่วมกับนายอนุทิน โดยหวังการกอบโกยผลประโยชน์บนซากศพและคราบน้ำตาของพี่น้องประชาชน

5.ทําให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหวตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

กระทั่ง 4 กันยายน 2564 ผลการลงมติปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 264 ต่อ 208 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน

พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนน “ไม่ไว้วางใจ” มากที่สุด มากกว่านายอนุทิน นายสุชาติ นายศักดิ์สยาม นายเฉลิมชัย นายชัยวุฒิ และผลจากเอฟเฟ็กต์ซักฟอกคราวนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ปลดธรรมนัสพ้นจาก รมช.เกษตรฯ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มือขวาของ “ร.อ.ธรรมนัส” ออกจากเก้าอี้ รมช.แรงงาน

มาถึงยกที่ 4 พล.อ.ประยุทธ์อาจจะบาดเจ็บ แต่ไม่ถูกน็อกแน่นอน