ฉีดไข่ให้ฝ่อ ร่างกฎหมายป้องกันกระทำผิดซ้ำทางเพศ-ความรุนแรง

ฉีดไข่ฝ่อ
ภาพจาก Freepik

วุฒิสภา คลอดร่างกฎหมายฉีดไข่ให้ฝ่อ ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง ต้องได้รับความยินยอมจากแพทย์ และผู้กระทำผิด

วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่รัฐสภาในการประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ประธาน กมธ. ในวาระ 2-3 โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจำนวน 43 มาตรา กมธ.มีการแก้ไข 12 มาตรา

สาระสำคัญร่างกฎหมายฉีดไข่ฝ่อ

สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้คือ การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย

ที่แม้จะถูกจำคุกพ้นกำหนดโทษ ได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว แต่มีผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งมีแนวโน้มทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีก จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

เงื่อนไขใช้ยากดฮอร์โมนเพศชาย (ฉีดให้ฝ่อ)

โดยกำหนดให้มีทั้งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะมีมาตรการทางการแพทย์สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย (ฉีดให้ฝ่อ) แก่ผู้กระทำผิด หากเห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2 คน เห็นพ้องกันและได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด และให้นำผลการใช้มาตรการทางการแพทย์ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้

มติที่ประชุมวุฒิสภา

โดยที่ประชุมวานนี้ (11 ก.ค.) ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 137 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

หลังที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวางพิจารณาครบทั้ง 43 มาตราแล้ว ในเวลา 17.10 น. ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 เห็นชอบด้วยคะแนน 145 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

ฉีดไข่ฝ่อ
ภาพจาก Freepik

ความเห็นแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์กัมปนาท พรยศไกร ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ได้โพสต์ความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก Sarikahappymen ฉีดยาให้ฝ่อ!! ยังไงดี โดยระบุว่า

จริง ๆ เรื่องนี้เถียงกันมานานแล้วหละครับ และก็ทำไปหลายประเทศแล้ว ทั้งฝรั่งและเอเชีย ซึ่งล่าสุดเกาหลีก็เพิ่งประกาศใช้วิธีนี้ในนักโทษที่ก่อคดีกับเด็กต่ำกว่า 16 หรือก่อคดีซ้ำซากนะครับ

เค้าเชื่อว่าคนไข้ที่ก่อคดีแบบนี้บ่อย ๆ  เนี่ย น่าจะมีฮอร์โมนเพศชายเยอะเกิน ซึ่งหลายคนคงรู้จักนะครับ เจ้าเทสโทสเตอโรนนั่นแหละ ซึ่งมีในผู้ชายทุกคน มีแล้วก็ทำให้คึกคัก ห้าวเป้ง บ้าพลัง อยากเป็นนายก อยากเผา อยากเลือกตั้ง (เล่นสองฝ่าย เจ๊ากันนะ)​ รวมทั้งมีอารมณ์ทางเพศ ครับ

ทีนี้ถ้ามีในระดับปกติ ก็จะเป็นเหมือนคนทั่วไป สุภาพ เรียบร้อย เหมือนแอดมินนี่แหละเอะอะเข้าวัดเข้าวา แต่ในบางคนมันมากไป แล้วขาดความยับยั้งชั่งใจ ก็จะไปหาที่ลงแบบไม่ดี อย่างไปก่อคดีพวกนี้แหละครับ

ดังนั้นเมื่อก่อคดีแบบนี้ปุ๊บ ก็เลยมีคนคิดว่านอกจากจะติดคุกแล้ว เราก็ควรจะลดฮอร์โมนเพศไปด้วยดีไหม เพื่อที่สังคมจะได้ปลอดภัย ไม่ไปก่อคดีอีกทีหลัง ก็เลยเกิดสารพัดวิธีนี่แหละครับ

วิธีลดฮอร์โมนเพศชาย

ปกติทางการแพทย์เนี่ย เรามีวิธีลดฮอร์โมนเพศชายอยู่แล้วครับ เพื่อเอามารักษาในคนไข้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งก็มีให้เลือก 2 วิธี คือ

1.ผ่าตัดเอาลูกไข่ออก ซึ่งเป็นตัวผลิตฮอร์โมน วิธีนี้ก็ง่าย สะดวก ประหยัดดี กับ

2.ฉีดยากดฮอร์โมน ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน ข้อดีคือไม่ต้องผ่า เก็บสองลูกนั้นไว้ได้ แต่ต้องฉีดยาทุก 3 เดือนตลอดชีวิตครับ ค่ายาปีเป็นแสนเลยครับ

ผลข้างเคียง

ทีนี้ผลของการไม่มีฮอร์โมนเพศชายแล้วเป็นไง ก็คือจะหงอยเหงา ซึมเซาครับ ความต้องการทางเพศลด ความแข็งก็ลด ขนาดที่มีก็ลด จากเท่าขาก็อาจเหลือเท่าแขน จากเท่าแขนก็อาจเหลือเท่านิ้วได้ ซึ่งตรงนี้แหละ เค้าเลยคิดว่าถ้าเอามาใช้กับนักโทษคดีพวกนี้แล้วสังคมน่าจะปลอดภัยขึ้นครับ

ลดฮอร์โมนเพศชาย ป้องกันกระทำผิดซ้ำ ดีจริงไหม

แล้วดีจริงไหม อันนี้ก็มีข้อสังเกตครับ ซึ่งหลายประเทศก็เถียงกันมานานแล้วว่า

1.คดีข่มขืนลดลงจริงหรือ เค้าก็ไปหาข้อมูลดูครับ พบว่าคดีข่มขืนลดลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าเกิดแล้วหนักกว่าเดิมครับ คือสมมติจากเมื่อก่อนข่มขืนเสร็จแยกย้าย กลายเป็นข่มขืนเสร็จแล้วฆ่าปิดปากเลย เนื่องจากกลัวโดนจับได้ทีหลัง กลายเป็นหนักกว่าเดิมครับ

2.แล้วถ้าเป็นแพะหละ คือระบบยุติธรรมบ้านเราก็ยังเป็นที่คาใจในหลาย ๆ เรื่องครับ และถ้าหากคนที่โดนดันเป็นแพะขึ้นมา ตัดไปแล้วมารู้ทีหลังว่าเป็นแพะ แล้วจะเอาที่ไหนมาคืนเค้าครับ ยิ่งปัจจุบันมีแบบเอาก่อนฟ้องทีหลังด้วย พวกนี้แหละน่ากลัวครับ

3.ใครจ่าย อันนี้ก็เป็นปัญหาครับ อย่างล่าสุดที่อังกฤษก็มีคนโวยวายว่าคุ้มไหม กับการต้องเอาภาษีปีเป็นแสนมาจ่ายเป็นค่ายากดฮอร์โมนให้ผู้ต้องหา 1 คน ในขณะที่คนไข้มะเร็งต่อมลูกหมาก 30 บาทยังเบิกยาตัวนี้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

และสุดท้ายต่อให้กำจัดฮอร์โมนเพศชายจริง จะลดพฤติกรรมได้จริงหรือ คืออย่างที่เห็นปัจจุบันผู้หญิงหลายคนก็ก่อคดีได้สะเทือนขวัญไม่แพ้กันทั้งที่ไม่มีฮอร์โมนเพศ ดังนั้นก็เลยมีทั้งประเทศที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเถียงกันนานแล้วหละครับ

ก็สุดท้ายในความเห็นส่วนตัวนะครับ วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรใช้เฉพาะในรายที่เกิดซ้ำซากจริง ๆ แบบเกินจะเยียวยาแล้ว และสู้คดีกันถึงที่สุดจนมั่นใจได้ว่าไม่ใช่แพะแน่ ๆ ก็เอามาจัดการเหอะครับ และก็ควรผ่าตัดแบบทีเดียวจบ ไม่ต้องมาฉีดยาทุกสามเดือนให้เป็นภาระหมอพยาบาลครับ

ฉีดไข่ฝ่อ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sarikahappymen: ประเทศที่ออกกฎหมายลดฮอร์โมนเพศชาย