เปิดใจ “ประชุม มาลีนนท์” จากบุพเพสันนิวาส…ถึง ม.44

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บุพเพสันนิวาส” เป็นกระแสดัง ปัง เวอร์ ให้กับช่อง 3 และเหล่าบรรดานักแสดงมากแค่ไหน ท่ามกลางปรากฏการณ์ “ออเจ้า” ช่อง 3 สามารถทำศึกทวงบัลลังก์เรตติ้งละครหลังข่าวได้ โดยเรตติ้งทั่วประเทศเมื่อคืนวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาทั่วประเทศอยู่ที่ 16 หากแยกเฉพาะกรุงเทพฯ พุ่งทะลุไปถึง 23.4

แต่ทว่าอีกด้านการแข่งขันของสมรภูมิทีวีดิจิทัล ทั้งการแย่งงบฯโฆษณา 6 หมื่นล้านบาท จากช่องทีวีด้วยกัน การสู้กับสนามแข่งออนไลน์ รวมถึง ม.44 ที่ออกมาเยียวยาแก้ไขให้หายใจหายคอคล่องชั่วคราวนั้น ยังคงเป็นสนามรบที่ท้าทายและโจทย์สำคัญยิ่งของช่อง 3 ต้องหาทางออก

หัวเรือใหญ่ “ประชุม มาลีนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางจากนี้ ไม่เพียงมุมมองต่อการแข่งขัน การปรับตัวสู้ศึกทีวีดิจิทัล แต่ยังรวมถึงกระแสอิน ฟิน เวอร์ ปรากฏการณ์ “ออเจ้า”

Q : จะรักษาโมเมนตัมเรตติ้งจากฟีเวอร์ “ออเจ้า” อย่างไร

กระแสเรื่องนี้ดีมาก ๆ เรตติ้งสูงสุดแล้วเท่าที่เคยทำมา การจะรักษาโมเมนตัมกลายเป็นความท้าทาย ซึ่งละครแต่ละเรื่องมีข้อดีและมุมที่แตกต่างกัน แต่ว่าเรื่องนี้มีสูตรพิเศษที่แตกต่าง คือ คนดูเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เกิดการโพสต์ การแชร์ในโลกโซเชียลทำให้มีกระแสช่วย

Q : เพิ่มน้ำหนักละครแนวพีเรียดไหม

หลังจากนี้ต้องทำงานหนักขึ้นรักษาเรตติ้ง ต้องมีเอ็นเกจกับคนดูมากขึ้น ให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วม แต่ว่ามันคงไม่ใช่แนวเดียวกัน หรือเฉพาะแนวพีเรียดทั้งหมด สลับคละกันไปทุกแนว คอนเทนต์ก็จะมีความหลากหลาย คละกันไปเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนดู ซึ่งต่อไปหลังจบจากเรื่องบุพเพฯ ก็เป็นเรื่องราวต่อเนื่องของความรักชาติ รักแผ่นดิน เป็นหนังของคุณปิ่น (ณัฎฐนันท์ ฉวีวงษ์) ซึ่งเป็นสมัยต่อมาจากบุพเพฯ และจะยิงต่อจากเรื่องบุพเพสันนิวาสทันที เป็นพีเรียดเหมือนกัน แต่เล่าเรื่องราวอีกมุมหนึ่ง

Q : ช่อง 3 อยากเข้าถึงคนรุ่นใหม่

เรื่องบุพเพสันนิวาสดูสนุก เพราะเนื้อเรื่องมันใส่มุข ใส่มุมความตลกลงไปด้วย คนดูก็ชอบและตอบโจทย์คนดู โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น ที่ดูแล้วชอบก็จะเอาไปโพสต์ ไปแชร์ เอาไปเล่นต่อในโลกโซเชียล ล้อเลียนทั้งแรป ทั้งเพลง กลายเป็นความสนุกกัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีละครเรื่องไหนที่คนดูจะมีส่วนร่วมและแสดงความเป็นเจ้าของเหมือนเรื่องนี้

Q : ยังหนักใจกับการแข่งขันยังอยู่ไหม

มันก็ยังไม่ต่างจากที่ผ่านมา ๆ ยังหนัก และเหนื่อยจากปีที่ผ่านมา ๆ การแข่งขันก็หนักไม่น้อยกว่าปีที่แล้ว จำนวนช่องเท่าเดิมแต่เรื่องของการใช้งบฯก็ไม่ค่อยเติบโต แข่งขันเรื่องราคา ทำให้กลายเป็นปัญหากับโครงสร้างของตลาดโดยรวม แข่งขันยังสูง แชร์เท่าเดิม แต่การใช้งบฯก็ยังไม่ดี

Q : มาตรการ-ม.44 ช่วยได้แค่ไหน

ผมไม่ขอออกความเห็น ขอข้ามประเด็นนี้ไปดีกว่า แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี เห็นปัญหาและเห็นประเด็นที่จะมาช่วยกัน มันเป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลายด้วย เพราะจำนวนช่องที่มี 24 ช่อง ต้องตั้งคำถามว่าเยอะไปหรือเปล่าสำหรับตลาดโฆษณาในเวลานี้ นี่ยังไม่รวมช่องดาวเทียม แซตเทลไลต์ และสื่ออื่น ๆ ในปัจจุบันที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้ตลาดอีกจำนวนมาก การแข่งขันกับสื่ออื่น ๆ ตรงนี้มันยังไหวไหมสำหรับทีวี 24 ช่อง แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี เพราะเห็นปัญหาที่เป็นประเด็นแล้วก็ต้องพูดคุยกันต่อไป

Q : มีแนวคิดที่อยากจะคืนช่องไหม

คงไม่ มันคืออาชีพเรา แต่เราต้องปรับตัวและรับมือให้ทัน เพราะเมื่อสถานการณ์มันเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ

Q : จะเห็นการหาทางออกแบบคุณติ๋ม ไทยทีวีไหม

ก็ต้องดูกันไป ผู้ประกอบการแต่ละรายก็มีจุดยืนและแนวทางในการทำธุรกิจแตกต่างกัน

Q : มีทีมผู้บริหารใหม่จากข้างนอกเข้ามาเสริมทัพองค์กรอีกไหม

มันอยู่ที่เนื้องานมากกว่าว่าช่วงไหนที่เราต้องเพิ่มทีม เราก็ต้องเพิ่ม ถ้างานเพิ่มหรือเป็นงานส่วนที่ยังไม่มีใครเชี่ยวชาญหรือทำได้ เราก็ต้องเสริมคน เสริมทีมเข้ามา ไม่ใช่ว่าจะเอาคนใหม่มาแทนคนเก่า ต้องดูสถานการณ์เป็นเรื่อง ๆ ไป