เบื้องลึกจีนคุม “ฮ่องกง” ใช้เป็นสะพานดึงดูดนักลงทุน

การเยือนฮ่องกงของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน เมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก จากความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างแผ่นดิน

ใหญ่และเกาะแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2012 เมื่อคนฮ่องกงแบ่งเป็นสองฝ่าย ภายหลังฮ่องกงต้องคืนสู่อ้อมอกจีน กระทั่งฝ่ายต่อต้านชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ ส่วนฝ่ายสนับสนุนก็ออกมาปะทะ ดังนั้นจึงได้รับการจับตาว่า เมื่อผู้นำสูงสุดของจีนไปเยือนในครั้งนี้จะเกิดปฏิกิริยาอย่างไร

การมาเยือนฮ่องกงครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ สี จิ้นผิง นับจากขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีน และน่าจะต้องการส่งสัญญาณปรามชาวฮ่องกงที่ท้าทายอำนาจปักกิ่งด้วย โดยในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ความยาว 30 นาที ผู้นำจีนพูดชัดว่า จะปล่อยให้มี “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

ต่อไปฮ่องกงจะยังมีเสรีภาพ มีอิสระด้านตุลาการ แต่ใครก็ตามที่ท้าทายอำนาจปักกิ่งจนข้ามเส้นแดง ไม่อาจยอมรับได้

นักวิเคราะห์เชื่อว่า การที่จีนต้องการให้ฮ่องกงมีเสถียรภาพทางการเมือง ก็เพราะฮ่องกงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อแผ่นดินใหญ่ และต้องการใช้เป็นจุดดึงดูดให้บริษัทตะวันตกที่กำลังมองหาสถานที่ในการตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคนี้มุ่งมาที่ฮ่องกง

“เหา โจว” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของคอมเมิร์ซแบงก์ชี้ว่า จากมุมมองของปักกิ่งนั้น ฮ่องกงยังคงมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นสะพานเชื่อมกับโลกภายนอก จีนจึงต้องการให้ฮ่องกงมีเสถียรภาพการเมืองต่อเนื่อง รวมทั้งมีภาคบริการการเงินที่แข็งแกร่ง

เพื่อช่วยให้จีนสามารถเร่งการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่รูปแบบใหม่ที่ให้ภาคบริการเป็นตัวนำ แทนการพึ่งพาการส่งออกและผลิต ดังนั้นเชื่อว่าจะได้เห็นนโยบายสนับสนุนจากจีนหลายอย่างตามมาในอีกไม่ช้า

“สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ฮ่องกง ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของจีน ควรเล่นบทบาทสำคัญเพื่อรับใช้เป้าหมายที่ทะเยอทะยานระดับโลกของจีน” โจวกล่าว

แม้จะเกิดความตึงเครียดทางการเมืองในฮ่องกง ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา แต่นักลงทุนและภาคธุรกิจจากแผ่นดินใหญ่ยังคงลงทุนในฮ่องกงเพิ่มขึ้น ฮ่องกงเปิดประตูต้อนรับนักลงทุนจีน ส่วนบริษัทตะวันตกก็เลือกที่จะตั้งฐานในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย เพราะฮ่องกงเป็นสะพานเชื่อมระบบการเงินของจีนเข้ากับโลกภายนอก

“วิลเลียม หม่า” ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของโนอาห์ โฮลดิ้ง บอกว่า บริษัทจีนที่มีมูลค่าตามราคาตลาดใหญ่ที่สุดหลายบริษัท อย่างเช่น เทนเซนต์ และไชน่า คอนสตรักชั่นแบงก์ จดทะเบียน

ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ทั้งที่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีบริษัทจีนจดทะเบียนที่นี่ แต่เพียงปีที่แล้ว 90% ของบริษัทที่เสนอขายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในฮ่องกง มาจากแผ่นดินใหญ่

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านจีนอย่าง “มาร์ติน ลี” อดีตสมาชิกนิติบัญญัติและผู้นำสนับสนุนประชาธิปไตยชี้ว่า จีนจะทำให้ฮ่องกงรับใช้ผลประโยชน์ของจีนได้เป็นอย่างดี เพราะสี จิ้นผิง มีโครงการใหญ่โตอย่าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้น จีนก็ต้องการทำให้ประเทศเหล่านี้แน่ใจว่า พวกเขามีระบบที่ดี มีระบบกฎหมายที่จะทำให้พวกเขาแก้ไขข้อพิพาทได้ในศาล “ลองมองดูสิ นอกจากฮ่องกงแล้ว มีเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้จีนอีกไหมที่มีระบบนิติรัฐ” ลีกล่าว

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมเวิลด์อีโคโนมิก นิว แชมเปี้ยน หรือที่เรียกว่า การประชุมดาวอส ฤดูร้อน ที่เมืองต้าเหลียนของจีน ซึ่งเป็นเวทีประชุมของนักธุรกิจชั้นนำของโลก

โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ว่า จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตามเป้า เนื่องจากจีนกำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจโดยเน้นนวัตกรรมและส่งเสริมการ เป็นเจ้าของกิจการ

อันจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทั่วถึงครอบคลุม โดยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างงานใหม่ในเขตเมืองได้แล้วกว่า 50 ล้านตำแหน่ง