กูรูจัดพอร์ตรับนโยบายเฟด เลี่ยง “หุ้นเทค-คริปโท” ถือเงินสด

กูรูนโยบายเฟด

ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากการประชุมรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 25-26 ม.ค. 2565 ทำให้ตลาดพากันหวาดวิตกว่าหลังจากนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยและการลดงบดุลจะ “เร็ว” และ “แรง” ขึ้นยิ่งกว่าคาดการณ์เดิมไปอีก ซึ่งยิ่งทำให้ตลาดปั่นป่วนหนักเข้าไปอีก เพราะมองไปข้างหน้าเต็มไปด้วยความกังวล ส่งผลต่อการลงทุนที่จะทวีความผันผวนมากขึ้นไปอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้

ในการนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ถึงการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อรับมือความผันผวนในระยะข้างหน้า

สหรัฐส่อคุมเงินเฟ้อไม่อยู่

เริ่มจาก “สรพล วีระเมธีกุล” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ท่าทีนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เริ่มมีความไม่มั่นใจว่าจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้ และตลาดเองก็เชื่อเช่นกันว่าเฟดจะไม่สามารถคุมเงินเฟ้ออยู่

ตลาดจึงเริ่มมีการพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 จากเดิมที่มองไว้ทั้งปีว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง โดยอาจจะเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือน มี.ค. และเพิ่มขึ้นถึง 50 bps ดังนั้น ปัจจัยนี้กลายเป็นปัจจัยที่กดดันให้การประเมินมูลค่าทั่วโลกลดลงมา

ปีแห่งการ “พักฐาน”

“สรพล” กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 2565 นี้ มองว่าเป็น “ปีแห่งการพักฐาน” แต่ไม่ได้มองว่าหุ้นจะเป็นขาลง แค่จะลดการประเมินมูลค่า (valuation) หรือลดอัตราส่วน P/E จากระดับประมาณ 18-20 เท่า ลงมาเหลือ 15-18 เท่า ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.สภาพคล่องของสหรัฐที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 2.การก้าวเข้าสู่ปีที่เทรนด์ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัวอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 2558 ดังนั้น 2 ปัจจัยนี้จะกดดันสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสุด

“สินทรัพย์เสี่ยงสูงสุดที่นักลงทุนควรต้องหลีกเลี่ยง คือ คริปโท และหุ้นที่มีการประเมินมูลค่าสูง ๆ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี รวมถึงควรหลีกเลี่ยงหุ้นไทยที่มีการประเมินมูลค่าสูง ๆ เช่นกัน ในกลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และค่อย ๆ ทยอยสะสมหุ้นที่เป็น value play เช่น หุ้นที่มีการจ่ายปันผลในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มไอซีที โดยแนะนำจัดพอร์ต สัดส่วนลงทุนในหุ้น 40% ทองคำ 20% กองทุนต่างประเทศ 20% และถือเงินสด 20%” นายสรพลกล่าว

เพิ่มน้ำหนักลงทุนตลาดเกิดใหม่

ขณะที่ “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ตลาดไม่ชอบ คือ ความไม่ชัดเจนของเฟดทั้งในแง่ของการขึ้นดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และในปริมาณเท่าไหร่

โดยถ้ามองด้านการลงทุนตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐหรือฝั่งยุโรป จะมีความเสี่ยงค่อนข้างมากเพราะเป็นตลาดที่เผชิญกับปัจจัยลบโดยตรง ดังนั้น สินทรัพย์ที่น่าสนใจจะเป็นหุ้นและเป็นหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแถบเอเชียหรือแม้แต่ประเทศในฝั่งอาเซียนก็สามารถถือไว้มาก ๆ ได้

ส่วนพันธบัตรควรเน้นไปที่ระยะสั้นและอยู่ในฝั่งตลาดเกิดใหม่ เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนยีลด์) จึงมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกยกให้เป็นการลงทุนในกองรีทภายในประเทศ เพราะราคาปรับลงมาค่อนข้างมาก บวกกับความเสี่ยงในการขึ้นดอกเบี้ยต่าง ๆ ยังน้อย

“ด้านทองคำและคริปโทจะแนะนำจัดพอร์ตไว้เฉพาะเพื่อกระจายความเสี่ยงเท่านั้น และต้องระมัดระวังในการลงทุนค่อนข้างมาก เนื่องจากในภาวะที่ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มเข้มงวดนโยบาย อาจจะทำให้สภาพคล่องทั่วโลกปรับตัวลดลงจนนำไปสู่การปรับตัวลดลงระหว่างทางของทองคำและคริปโท จึงแนะนำจัดพอร์ต แบ่งสัดส่วนเป็นหุ้น 50-60% โดยให้น้ำหนักหุ้นในฝั่งตลาดเกิดใหม่ 40% และ 20% ในฝั่งตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว ตราสารหนี้ระยะสั้น 20% ทองคำและคริปโทอย่างละ 5% และสุดท้ายลงในรีท 10%” นายณัฐชาตกล่าว

ระวังลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูง

ด้าน “มงคล พ่วงเภตรา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า รอบนี้เฟดแสดงความกังวลต่อเงินเฟ้อมากกว่าปกติ และเริ่มปรับนโยบายการเงินให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าการเริ่มปฏิบัติของเฟดจะค่อนข้างดุเดือด เนื่องจากใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายมานาน ดังนั้น เวลาที่จะเริ่มทำ (ขึ้นดอกเบี้ย) จึงดูรุนแรง โดยเฟดน่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค.

“แต่เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะยังไม่ได้ดีมากนัก และราคาน้ำมันที่น่าจะปรับขึ้นได้อีกไม่เกิน 10 ดอลลาร์/บาร์เรล ฉะนั้น เฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่เกิน 3-4 ครั้งในปีนี้”

“มงคล” กล่าวว่า สำหรับสินทรัพย์ที่ควรระมัดระวังในการลงทุนปีนี้จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างคริปโทเคอร์เรนซีและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากหุ้นเทคฯราคาปรับขึ้นมาสูงมากในรอบ 2-3 ปี รวมถึงค่า P/E ที่สูง ดังนั้น เวลาซื้อหุ้นกลุ่มนี้นักลงทุนมักจะติดดอย ส่วนสินทรัพย์ที่น่าสนใจในเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากกลุ่มนี้เงินเฟ้อยังไม่สูงมากและเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นช้ากว่า

แนะเพิ่มสัดส่วนถือเงินสด 40%

“หุ้นส่วนใหญ่ในตลาดเกิดใหม่ มักจะมีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และกลุ่ม domestic play ขณะที่การลงทุนในพันธบัตร (บอนด์) สามารถที่จะซื้อเก็บไว้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม และเป็นการลงทุนในระยะสั้น ทั้งนี้ บล.เคทีบีเอสทีแนะนำจัดพอร์ตแบ่งสัดส่วนในตราสารหนี้ระยะสั้น 20% หุ้น 50-60% และเงินสด 30-40% ซึ่งอยากแนะนำให้ถือเงินสดไว้เยอะ ๆ เนื่องจากหากมองจากปัจจุบันไปข้างหน้า ยังมองว่าตลาดในการลงทุนยังมีความไม่ชัดเจนและสถานการณ์ยังมีความอ่อนไหวค่อนข้างมาก” นายมงคลกล่าว

ท่ามกลางความผันผวนจากนโยบายการเงินของสหรัฐในปีนี้ การลงทุนคงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและจัดพอร์ตอย่างเหมาะสม