ยกเครื่องสถานีขนส่งหมอชิต-4 จังหวัดฝันไกลสู้โลว์คอสต์

ขนส่งยกเครื่องสถานี บขส. แข่งโลว์คอสต์นำร่อง 5 แห่ง กทม. สงขลา ระยอง โคราช เชียงใหม่ ปีนี้ประเดิมหมอชิตใหม่ ผุด “สมาร์ท เทอร์มินอล” ดีเดย์ มี.ค.นี้เปิดใช้รับเทศกาลสงกรานต์

นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า สถานีขนส่งผู้โดยสารถือเป็นปัจจัยหลักและเป็นระบบขนส่งขั้นพื้นฐานที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมีราคาถูกและเข้าถึงชุมชนได้ทุกระดับ แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ทำให้ผู้โดยสารหันไปใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกิจการรถโดยสารประจำทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรมจึงจัดทำโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในการดำเนินการและการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารขึ้น ระยะเวลาของแผนแม่บท 20 ปี (2561-2580) แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น 1-5 ปี (2561-2565) ระยะกลาง 6-10 ปี (2566-2570) ระยะยาว 11-20 ปี (2571-2580) ประกอบด้วย 4 มิติพัฒนา ได้แก่

1.การพัฒนาทางกายภาพ และการเพิ่มพื้นที่การให้บริการ 2.การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบ 3.การพัฒนาระบบและรูปแบบบริหารจัดการสถานี และ 4.การพัฒนาเทคโนโลยี และแผนเร่งด่วน 5 ปี ที่เน้นการพัฒนาใน 3 มิติหลัก คือ การปรับปรุงทางกายภาพ และการจัดการตามภารกิจฯ การทดลองนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการของสถานี และการพัฒนาตามลักษณะและบริบทเฉพาะของแต่ละสถานี จะใช้ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร), สถานีสงขลา, สถานีระยอง, สถานีนครราชสีมา และสถานีเชียงใหม่ ซึ่งแผนพัฒนาได้ร่างเสร็จแล้ว แต่ในบางพื้นที่ยังมีปัญหาที่ต้องจัดการแก้ไขก่อนเริ่มดำเนินการ คาดว่าประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.จะได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสถานีขนส่งจตุจักร จัดทำขึ้นภายหลังรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสถานีขนส่งคนโดยสารเมื่อปลายปี 2560 โดยใช้ประกอบเป็นแนวทางในการปรับปรุงรายละเอียดการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการให้เหมาะสมกับความต้องการของทุกภาคส่วน และสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาสถานีขนส่งคนโดยสารระยะ 20 ปี ที่ได้จัดทำขึ้นมาภายใต้โครงการเดียวกันนี้

นอกจากนี้ กรมได้เตรียมนำระบบ “สมาร์ทเทอร์มินอล” มาใช้เชื่อมโยงกับศูนย์บริหารจัดการจีพีเอส โดยติดตามการเดินรถพร้อมแสดงเวลาเข้า-ออก เช่นเดียวกับสนามบิน คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อให้ทันต่อการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น ใช้ระบบตรวจเช็กเวลาเข้าออกรถอัตโนมัติ, ระบบขายตั๋วร่วม, ระบบบริหารจัดการช่องจอดอัตโนมัติ การนำอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดมาเป็นจุดเด่น และมีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงสถานีขนส่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นด้วย