เวนคืนหมื่นล้านย่านเกษตร-นวมินทร์ ผุดโมโนเรลสีน้ำตาล 20 สถานี”แคราย-ลำสาลี”

โมโนเรลสีน้ำตาล

เปิดแนวเวนคืนทางด่วนเกษตร-นวมินทร์ และโมโนเรลสายสีน้ำตาล “แคราย-ลำสาลี” เผยราคาที่ดินแพงละลิ่ว ดันค่าชดเชยรถไฟฟ้าพุ่ง 1 หมื่นล้าน สร้างแค่เดโป้ 44 ไร่ จ่ายอื้อซ่า 3-4 พันล้าน จ่อรื้อชุมชนบางบัว วางตอม่อทางด่วนส่วนต่อขยายใหม่ 7 กม.เชื่อมโทลล์เวย์-ด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก

แหล่งข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) หลังบริษัทที่ปรึกษาทบทวนผลศึกษาเดิม คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้างและเวนคืนที่ดินกว่า 50,000 ล้านบาท

เวนคืนหมื่นล้าน

เป็นงานโยธาและระบบกว่า 40,000 ล้านบาท ที่เหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดิน จะมีเวนคืนบริเวณขึ้นลงสถานีประมาณ 20 สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) พื้นที่ 44.3 ไร่ บริเวณจุดตัดทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ หากมุ่งหน้าไปนวมินทร์อยู่ทางด้านขวามือ

“ตรงเดโป้จะเวนคืนมากสุด และแพงที่สุด คาดว่าจะใช้เงินเวนคืนประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาที่ดินบนถนนเกษตร-นวมินทร์ มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก”

เปิดโผ 20 สถานี

สำหรับจุดที่ตั้ง 20 สถานี จะห่างกันประมาณ 1 กม. ได้แก่ 1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ฝั่งตรงข้ามไทยคม เชื่อมกับสายสีม่วง 2.สถานีจุฬาเกษม ซอยงามวงศ์วาน 18 อยู่ระหว่างห้างพันธุ์ทิพย์กับเดอะมอลล์งามวงศ์วาน 3.สถานีคลองลาดยาว (คลองประปา) ซึ่งตรงนี้จะต้องรื้อสะพานข้ามแยกพงษ์เพชรแล้วสร้างใหม่พร้อมเสาตอม่อรถไฟฟ้า 4.สถานีชินเขต อยู่ปากซอยชินเขต

5.สถานีบางเขน อยู่ข้างสะพานข้ามแยกวิภาวดีตัดกับถนนโลคอลโรด เชื่อมกับสายสีแดง 6.สถานี ม.เกษตรฯ ประตู 2 7.สถานี ม.เกษตรฯ ตั้งอยู่หน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เชื่อมกับสายสีเขียว 8.สถานีคลองบางบัว อยู่ตรงสะพานข้ามคลองบางบัว 9.สถานีลาดปลาเค้า ตั้งอยู่แยกลาดปลาเค้า

10.สถานีเสนานิคม อยู่ทางแยกเสนานิคม 11.สถานีโรงเรียนสตรีวิทยา 2 12.สถานีต่างระดับฉลองรัช อยู่บริเวณจุดตัดถนนเลียบทางด่วน จะมีศูนย์ซ่อมบำรุง 44 ไร่ และเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเทา 13.สถานีคลองลำเจียก อยู่แยกตัดกับถนนคลองลำเจียก14.สถานีนวลจันทร์ อยู่แยกตัดกับซอยนวลจันทร์ 11 15.สถานีแยกนวมินทร์ 16.สถานีโพธิ์แก้ว อยู่ปากซอยโพธิ์แก้ว 17.สถานีอินทรารักษ์ อยู่หน้าตลาดอินทรารักษ์ 18.สถานีนวมินทร์ภิรมย์ บริเวณแฮปปี้แลนด์ 19.สถานีสนามกีฬาคลองจั่น บริเวณสำนักงานการเคหะแห่งชาติ (กคช.) 20.สถานีแยกลำสาลี อยู่บนถนนรามคำแหง แยกลำสาลี เชื่อมกับสายสีส้มและสีเหลือง โดยจะสร้างสกายวอล์กเชื่อมการเดินทาง

ใช้ระบบโมโนเรล

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า รูปแบบระบบขนส่งมวลชนจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) แนวเส้นทางอยู่บริเวณแยกแคราย มุ่งหน้าไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกแคราย จุดตัดทางด่วน แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตรฯ ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนาฯ จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางด่วนฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง ระยะทาง 22 กม.

สร้างสูงเท่ากับตึก 3 ชั้น

รูปแบบโครงสร้างออกแบบเป็นทางยกระดับ มีความสูงจากระดับพื้นดิน 10-12 เมตรหรือเท่ากับตึก 3 ชั้น โดยจะสร้างตอม่อใหม่เป็นโครงสร้างแบบทางคู่ 2 ทิศทาง โครงสร้างเสาเดี่ยว มีชานชาลาด้านข้าง พร้อมชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร โดยวางโครงสร้างเสาในแนวเกาะกลางถนนเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม รูปแบบโครงการช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ที่ใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อเดิม จะสร้างไปในแนวเดียวกับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยรถไฟฟ้าจะอยู่ใต้ทางด่วนที่จะสร้างสูงจากระดับพื้นดิน 21-22 เมตร หรือเท่ากับตึก 7 ชั้น

โดยแนวเส้นทางของทางด่วนจะเริ่มจากแยกเกษตรฯไปตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนาฯ แยกสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดฉลองรัช แยกนวลจันทร์ แยกนวมินทร์ สิ้นสุดที่วงแหวนรอบนอกตะวันออก ระยะทาง 12 กม.

ขณะที่ส่วนต่อขยายใหม่จะเลาะเลียบตามแนวถนนผลาสินธุ์ ขนานกับคลองบางบัว ผ่านถนนพหลโยธินแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามแนวคลองบางเขน จนถึงถนนวิภาวดีเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต และไปเชื่อมต่อกับโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกที่ทางต่างระดับรัชวิภา ระยะทาง 7 กม. เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร เป็นโครงสร้างเสาเดี่ยว เมื่อรวมทั้งโครงข่ายเก่าและใหม่ มีระยะทางรวม 19 กม. ใช้เงินก่อสร้าง 25,000 ล้านบาท

“ทางด่วนมีเวนคืนจุดใหญ่ช่วงต่างระดับฉลองรัช และบริเวณชุมชนบางบัวที่อยู่ริมคลอง” แหล่งข่าวกล่าว

ดึงเอกชน PPP ตอกเข็มปี”64

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังผลศึกษาแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ ภายในเดือน ก.ค.จะนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาเห็นชอบโครงการ จะก่อสร้างทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาจราจรโซนตะวันออกและตะวันตก พร้อมกับนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 1 เป็นสายที่ 11 จากเดิมมี 10 เส้นทาง รวมเป็นระยะทาง 480 กม. โดยมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ศึกษารายละเอียดโครงการพร้อมกับจัดหาเอกชนมาลงทุนรูปแบบ PPP เหมือนสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งจะออกแบบเบื้องต้นพร้อมกับจัดหาเอกชนลงทุน PPP ไปพร้อมกัน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 แล้วเสร็จปี 2567 ส่วนทางด่วนหาก กทพ.พร้อมก่อสร้างก็สามารถเดินหน้าได้ช่วงเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนรอบนอกตะวันออก ส่วนต่อขยายใหม่ทาง สนข.จะเป็นผู้รับผิดชอบทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)