รีวิว 10 สะพานข้ามเจ้าพระยา ขาดงบ-ติดเวนคืน-โดนต้านหนัก

นับจากแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่งผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีเพียง “สะพานนนทบุรี 1” ที่สร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อปี 2557 ส่วนที่เหลือยังมีปัญหาอุปสรรค

“สะพานเกียกกาย” ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) รองรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่บริเวณเกียกกาย ขณะนี้ยังไม่ได้รับงบก่อสร้าง ทั้งที่ตั้งแท่นเปิดประมูลมาหลายปี จนปัจจุบันเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 9,100 ล้านบาท เป็น 13,500 ล้านบาท จากค่าเวนคืนเพิ่มจาก 6,500 ล้านบาทเป็น 9,000 ล้านบาท ที่เหลือค่าก่อสร้างสะพาน

ปัจจุบันกทม.กำลังขอใช้พื้นที่ทหารในโครงการและประมาณการค่าชดเชย อีกทั้งรอสำนักงานกฤษฎีกาเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และรออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA ) รวมถึงของบฯ ปี 2562 ก่อสร้าง

ออกแบบเป็นสะพานยกระดับและถนนต่อเชื่อมยกระดับขนาด 4-6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นอยู่ทางรถไฟสายใต้ ถ.จรัญสนิทวงศ์ ซอย 93-95 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รัฐสภาแห่งใหม่ ถ.สามเสน ถ.ทหาร ถ.เตชะวณิช ถ.ประดิพัทธ์ วกเข้า ถ.เทอดดำริห์ ข้ามทางด่วนขั้นที่ 2 เข้า ถ.กำแพงเพชร ผ่านอ.ต.ก. จตุจักร บรรจบกับ ถ.พหลโยธินด้านกรมการขนส่งทางบก มียอดเวนคืน 874 ราย

กทม.มีแผนสร้างอีก 4 แห่งจะเดินหน้า “สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง” เป็นลำดับแรก เพราะไม่มีเวนคืน ค่าก่อสร้าง 837 ล้านบาท เป็นสะพาน 2 ช่องจราจรพร้อมทางเดิน สร้างบนแนว ถ.ราชวงศ์ และ ถ.ท่าดินแดง จุดเริ่มต้นอยู ถ.ทรงวาด วิ่งตาม ถ.ราชวงศ์-ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือดินแดง-ถ.ท่าดินแดง ปัจจุบันรออนุมัติอีไอเอและของบปี 2562

“สะพานจันทน์-เจริญนคร” ยังมีชาวบ้านค้านซึ่งยากที่โครงการจะได้ไปต่อ โดยโครงการมีระยะทาง 1.3 กม. เป็นสะพาน 4 ช่องจราจร วงเงิน 4,000 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 600-700 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าเวนคืนที่ดิน มีจุดเริ่มต้น ถ.จันทน์ ซอย 42 ผ่าน ถ.เจริญกรุง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบรรจบ ถ.เจริญนคร 24 มีเวนคืนที่ดิน 200-300 หลังคาเรือน อาทิ จะเฉือนที่ดินกว่า 4 ไร่ ด้านหลังโรงแรมชาเทรียม

เช่นเดียวกับ “สะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม” ยังมีเสียงค้านและไปกระทบกับโรงแรมริเวอร์ซิตี้ และซ้อนทับกับรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงหัวลำโพง-มหาชัย ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบศึกษาอีไอเอ มีจุดเริ่มต้นฝั่ง ถ.ลาดหญ้า ซอยเจริญรัถ 18 กับซอยลาดหญ้า 17 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนครบริเวณ ถ.มหาพฤฒาราม ใกล้โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม วงเงิน 1,455 ล้านบาท

“สะพานพระราม 2” ยังไม่ได้รับงบศึกษารายละเอียด เป็นสะพานยาว 2 กม. ขนาด 2 ช่องจราจร แนวอยู่ต่างระดับ ถ.พระรามที่ 2 ยกข้ามถ.ราษฎร์บูรณะ แม่น้ำเจ้าพระยา ถ.เจริญนคร บรรจบถ.พระรามที่ 3 ตัดกับ ถ.สาธุประดิษฐ์

“สะพานเชื่อมต่อ จ.สมุทรปราการ-สมุทรสาคร” หรือโกลด์เด้นท์เกจของกรมทางหลวงชนบท เป็นโครงการใหญ่ที่สุด ด้วยเงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท ระยะทาง 59 กม. มีจุดเริ่มต้นอยู่ถ.สุขุมวิทสายเก่าใกล้เมืองโบราณ ผ่านฟาร์มจระเข้ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน ถ.สุขสวัสดิ์ ไปเชื่อมกับ ถ.เลียบคลองสรรพสามิตตัดผ่านป่าชายเลนไปบรรจบ ถ.พระรามที่ 2 อยู่ระหว่างเสนอรายงานอีไอเอ แต่ด้วยโครงการใช้เงินลงทุนมากและพาดผ่านพื้นที่อ่อนไหว จึงมีแนวโน้มที่จะยังไม่ได้รับการผลักดันในเร็ว ๆ นี้

“สะพานท่าน้ำนนท์” วงเงิน 800 ล้านบาท ยาว 490 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร สร้างบน ถ.ท่าน้ำนนท์-วัดโบสถ์ ใกล้ริมแม่น้ำเจ้าพระยาข้ามมาอีกฝั่งลงที่ ถ.กรุงเทพฯ-นนทบุรี ล่าสุดรองบปี 2562 ศึกษาความเหมาะสม อาจจะต้องปรับแบบใหม่เป็นสะพานคนข้ามแทน เนื่องจากอยู่ใกล้สะพานนนทบุรี 1 ทำให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจลดลง

“สะพานสนามบินน้ำ” กรมทางหลวงชนบทกำลังศึกษาความเหมาะสมและปรับแบบโครงการหลังมีปัญหาชาวบ้านค้านช่วงเชื่อมทางด่วนศรีรัชและถนนวิภาวดี มีแนวโน้มจะสร้างเฉพาะสะพาน

“สะพานปทุมธานี 3” ของกรมทางหลวง วงเงิน 1,820 ล้านบาท เป็นสะพานยาว 600 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมถนนต่อเชื่อม 10.5 กม. ไปต่อเชื่อมกับ ถ.วงแหวนรอบนอกตะวันตกกับ ถ.รังสิต-ปทุมธานี บริเวณแยกโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและทำรายงานอีไอเอ

สุดท้าย “สะพานสามโคก” ติดพื้นที่อ่อนไหว จึงต้องทำรายงานอีไอเอ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการศึกษา มีค่าก่อสร้าง 5,192 ล้านบาท เป็นสะพาน 6 ช่องจราจรยาว 440 เมตร พร้อม ถนนต่อเชื่อมอีก 8.94 กม.เริ่มต้นจาก ถ.สาย 347 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปลงที่ ถ.ปทุมธานี-สามโคก-เสนา