ESG เสนา Sustain or Die “ไม่ต้องทำให้ดีที่สุดก็ได้ แต่ขอให้เราได้เริ่ม”

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

เวทีสัมมนาจัดโดยประชาชาติธุรกิจ หัวข้อ “ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สามย่านมิตรทาวน์

หนึ่งในแขกรับเชิญที่เป็นนักธุรกิจระดับประเทศ “ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) รับเชิญร่วมเป็นวิทยากรแบบชวนคิด-ชวนลงมือทำ หัวข้อ “Sustain or Die”

จุดโฟกัสอยู่ที่ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ประกาศตัวขอเป็นแบรนด์อะแวร์เนสเรื่องเกี่ยวกับกรีนบริษัทแรก ๆ ของวงการที่อยู่อาศัยเมืองไทย บนโจทย์ธุรกิจท่ามกลางกระแส Social Challenge ในประเด็น “ที่อยู่อาศัย” เป็นตัวการก่อมลภาวะมากสุด สัดส่วนถึง 60% ของโลกทั้งใบ

อนาคตของโลก กับความอยู่รอดของธุรกิจบ้านและคอนโดมิเนียม ถูกสะท้อนผ่านบิสสิเนสโมเดลของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ไว้อย่างครบถ้วน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

3 คำถามทำไมต้อง ESG

“อยากชวนคิดว่า ใช่หรือไม่ เวลาเราเป็นผู้ประกอบการแล้ว ถ้าเราจำเป็นต้อง sustain ทำแล้วเราจะตาย หรือว่าถ้าเราไม่ sustain เราถึงจะตาย”

เหตุผลหลักจากกลไกธุรกิจ การสร้างโมเดลธุรกิจยั่งยืนมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้น บ้านต้องขายแพงขึ้น ในขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทย ยังชอบสินค้าต้นทุนต่ำ คำถามหนักใจผู้ประกอบการ ทางหนึ่งต้องทำยั่งยืน ต้องยอมรับกับสินค้าราคาแพงขึ้น…แล้วจะขายได้หรือเปล่า

ในแง่ของโลก ในระยะยาว ทุกคนยอมรับว่า การที่เรามาช่วยกันรักษ์โลกไม่มีใครคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีหรอก ในฐานะผู้ประกอบการเราบอกว่า ระยะยาวดี ก็ดี แต่ยังไงระยะสั้นธุรกิจต้องรอดก่อน

ดังนั้น ถ้า sustainability เป็นเกมเชนเจอร์จริง ๆ แสดงว่าระยะสั้นก็ต้องให้เรารอด ไปจนถึงระยะยาวได้

วันนี้มี 3 เรื่องที่อยากฝากช่วยกันตอบ 1.sustain ถ้าเราไม่ทำเราจะแย่จริงไหม 2.why เพราะอะไร ถ้าเราไม่ทำแล้วเราจะอยู่ไม่ได้เลยเหรอ และ 3.หลังจากเรารู้แล้วว่าเพราะอะไร เราควรจะทำอย่างไรดี

เหตุเกิดที่ Paris Agreement

คำถามที่ 1 “Sustain or Die” ย้อนกลับไปดูที่มาเริ่มต้นจาก Paris Agreement ที่ประเทศสมาชิกยูเอ็น รวมทั้งประเทศไทย มีข้อตกลงร่วมกันว่า จะทำ Net Zero-ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ภายในปี 2050 กับปี 2065

โดยยูเอ็นมีไกด์ไลน์กรอบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนหรือ sustainable development 17 ข้อหลัก ได้แก่ 1.ขจัดความยากจน 2.ขจัดความหิวโหย 3.การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4.การศึกษาที่มีคุณภาพ 5.ความเท่าเทียมทางเพศ 6.น้ำสะอาดและสุขาภิบาล 7.พลังงานสะอาดและจ่ายได้ 8.งานที่มีคุณค่า และเศรษฐกิจที่เติบโต

9.อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 10.ลดความเหลื่อมล้ำ 11.เมืองและชุมชนยั่งยืน 12.การผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ 13.การรับมือกับ Climate Change 14.นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร 15.ระบบนิเวศบนบก 16.สันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง และ 17.หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

จะเห็นว่าทั้ง 17 ข้อหลักมีหลากหลายความหมาย มีคำนิยามของ “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ประทับใจ เพราะทำงานกับผู้ว่าฯ ชัชชาติเยอะ เรารู้สึกว่าเป็นความหมายที่ดีที่สุดตั้งแต่ฟังมา

คำกล่าวที่ว่า การที่เราทำอะไรที่เป็น sustain หมายถึงเราทำอะไรก็แล้วแต่ในวันนี้ แต่เราไม่ compromise future generation เช่น วันนี้เราใช้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) มันกระทบฟิวเจอร์เจเนอเรชั่น เพราะทำให้โลกยังร้อนอยู่ ในอนาคตอาจทำให้เกิดพายุ เกิดฝนตกไม่เป็นตามคาดหมาย มีสิ่งที่ unpredictable ที่ยังคงค้างอยู่ นั่นแสดงว่าเรายังไม่คอมโพรไมซ์ฟิวเจอร์เจเนอเรชั่น

“UN ไม่ได้บอก 17 ข้อนี้มาเพื่อนักธุรกิจอย่างเดียว UN บอก 17 ข้อเพื่อให้คนทั้งโลกฟังและบอกว่า 17 ข้อนี้คือสิ่งที่ทุกคนควรช่วยกันทำ เนื่องจากถ้าเราไม่ช่วยกันคิด ฟิวเจอร์เจเนอเรชั่นจะแย่แน่เลย นี่คือสิ่งที่ UN พูด”

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ESG ในฐานะตัวชี้วัดธุรกิจยั่งยืน

ประเด็นเล่าสู่กันฟังคือ แม้รัฐบาลไทยประกาศต้องการเป็นเน็ตซีโร่ภายในปี 2050 หรือ 2065 มีการทำกรอบระยะยาวแต่ละปีเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไรบ้าง แต่สนธิสัญญาก็ไม่ใช่กฎหมาย ไม่ทำก็ไม่มีใครติดคุก แสดงว่าไม่ทำก็ได้

ดังนั้น กฎเกณฑ์เน็ตซีโร่ในปี 2050-2065 ไม่ใช่ตัวที่ทำให้เราจะตายในวันนี้ อย่างน้อยสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโดเมสติกอีโคโนมี (การทำสินค้าขายในประเทศเป็นหลัก)

แต่… มีคำว่า แต่เกิดขึ้นมา แม้ขายในประเทศ ขายลูกค้าคนไทยเป็นหลัก แต่ผู้ประกอบการก็ต้องอยู่รอด หลักการ 17 ข้อด้านความยั่งยืนจำเป็นต้องหยิบนำมาคิดใคร่ครวญ เพราะเป็นเกมเชนเจอร์กระแสหลักของโลก เกมเชนเจอร์กลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ธุรกิจจะทำยังไงให้อยู่รอด และทำยังไงให้แข็งแรง

“แน่นอน เวลาพูดถึง sustainable development กว้างมาก มี 17 ข้อหลัก คำอธิบายที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นในระดับคอร์ปอเรต ก็คือ คำอธิบายด้วยโมเดล ESG ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องความยั่งยืนเหมือนกัน”

ถามว่า ESG คืออะไร ก็คือตัวชี้วัด Corporate Sustainable อย่างหนึ่ง ความหมายตรง ๆ ESG ก็คือ สโคป และเฟรมเวิร์กที่บริษัทใช้ในการอิมพลีเมนต์ และวัดผลได้ ซึ่งจริง ๆ มันก็คือความหมายเหมือนเหรียญสองด้าน Sustainability กับ ESG เวลาเป็นบริษัท พูดให้เข้าใจง่ายกว่า ชัดกว่า คือ ESG หมายความว่า บริษัททำธุรกิจแบบมีความยึดมั่น แบบมี ESG ก็แสดงว่าบริษัททำธุรกิจแบบมี Sustainability อยู่”

“ยังเจน” ให้คุณค่าสินค้า สวล.

เซอร์ไพรส์กันด้วยข้อมูล world survey กลุ่ม younger generation แยกตามกลุ่มอายุเป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย กลุ่ม early age อายุต่ำกว่า 30 ปี, กลุ่ม middle age อายุ 30-59 ปี และกลุ่ม old age ที่มีอายุมากกว่า 59 ปีขึ้นไป

พบว่า คนอายุต่ำกว่า 30 ปี คือแรงงานในอนาคต คนซื้อในอนาคต เป็นอนาคตของประเทศ มีพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสนใจ protecting environment มากกว่า economic growth ในอัตราส่วนที่มากกว่าอีก 2 กลุ่มที่เหลือ

แสดงให้เห็นว่า ถ้าพูดถึงพฤติกรรมลูกค้าคนไทยโดยรวม อาจจะบอกว่าคนไทยยังสนใจราคาเป็นหลัก แต่ถ้าลงลึกรายละเอียดจริง ๆ จะเห็น young generation เขาสนใจเรื่อง environment (สิ่งแวดล้อม) มากกว่ากลุ่ม middle age กับกลุ่ม old age เยอะมาก

ไฮไลต์อยู่ที่กลุ่ม young gen เป็นลูกค้าในอนาคต เป็นกลุ่มผู้ซื้อหลักของตลาดที่อยู่อาศัย

“เนื่องจากเสนาฯขายบ้าน พูดตรง ๆ กลุ่ม middle age ขายไม่ค่อยออกแล้ว ส่วนใหญ่มีบ้านแล้ว คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการขายบ้าน คือ กลุ่ม early age คนกลุ่มนี้เป็นทาร์เก็ตกรุ๊ป (กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย) ที่เราคิดว่าเขายังไม่มีบ้าน และเขาจะซื้อบ้าน”

ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้คือทาเลนต์ที่จะมาทำงานในบริษัทด้วย แสดงว่า คำว่าอนาคต กำลังซื้อหลักหมุนอยู่กับคำว่า ESG หมุนอยู่กับคำว่า sustainable, sustainability

“มองในแง่กลับกัน ถ้าเรามองว่าลูกค้าเราคือคนที่เป็นเจเนอเรชั่นนี้ เขากำลังบอกว่าฉันยินดีที่จะจ่าย อาจจะมากกว่าไม่มากก็ได้ กับสิ่งที่เป็น sustainability และขณะเดียวกัน เขาอยากทำงานกับบริษัทที่มี ESG ที่ดี มากกว่าบริษัทที่ไม่ใช่”

นักธุรกิจต้องดิสรัปต์ตัวเองก่อน

เรื่องที่ 2 ต้องมาคิดต่อว่า เราต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไหม

“นักธุรกิจเราต้องดิสรัปต์ตัวเอง ก่อนที่จะให้อะไรมาบังคับให้ดิสรัปต์ 1.47.19 เมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจถูกบังคับให้ดิสรัปต์ แสดงว่าเรากำลังเอาตัวไม่รอด และเราจะต้องเปลี่ยน แต่ถ้าเราดิสรัปต์ตัวเอง แสดงว่าเราเป็นคนวาดเส้นเองว่าเราจะขับรถยังไง เราอาจจะแวะพักที่ไหนก็ได้ เพราะเราเป็นคนวาดเส้นเอง แต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามเราถูกดิสรัปต์ แสดงว่าเราวาดเส้นเองไม่ได้ เราต้องขับรถไปตามเส้นที่เหลือที่โดนบังคับให้ขับ

“…มันจะสนุกต่างกันเยอะมาก”

“บนหลักคิดก้อนใหญ่ของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ที่ว่า ยุทธจักรวงการดีเวลอปเปอร์มีคู่แข่งมหาศาล คำถามที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ คือ บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันหรือไม่…”

“เราเชื่อว่าเรามี แต่เราก็ไม่อยากที่จะ under estimate การเข้ามาของการแข่งขันในธุรกิจนี้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ โลเกชั่น ประเด็นคือไม่มีใครที่จะเป็นเจ้าของโลเกชั่นได้ทั้งหมด นี่คือที่มาว่า ทำไมไม่มีใครสามารถมีมาร์เก็ตแชร์เกิน 30% ได้ เพราะไม่มีใครสามารถจะโอว์นแลนด์ได้ 30% ของกรุงเทพมหานคร”

ดังนั้น ธุรกิจอสังหาฯจึงค่อนข้างเสรี มีคนเข้ามาได้ตลอดเวลา มีคนซื้อที่ดินแปลงติดกันได้ตลอดเวลา ทำให้การแข่งขันนำเสนอจุดขายจึงไม่ใช่โลเกชั่นเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะคู่แข่งสามารถทำโครงการโดยรั้วติดกัน

จุดขายใหม่ที่ต้องโชว์ เพื่อมัดใจผู้บริโภคจึงเป็นการพัฒนาโปรดักต์ ให้ตอบจริตความต้องการซื้อของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

รูปแบบการแข่งขันจากในอดีตที่ถูกบังคับด้วยกฎหมาย กฎระเบียบภาครัฐ เช่น ข้อกำหนดด้านการปล่อยน้ำเสียลงสู่พื้นที่สาธารณะ หรือการปล่อยน้ำเสียจากที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ภาครัฐมีหน้าที่ออกกฎ และกำกับควบคุมผู้ประกอบการ แต่เมื่อลงลึกถึงผู้บริโภค การปล่อยน้ำเสียลงคลองดูเหมือนเป็นเรื่องของส่วนรวม ไม่ใช่ส่วนตน จึงมีการปล่อยน้ำเสียกันอย่างเต็มที่

โลกใบใหม่หลังโควิด บวกกับภาวะโลกร้อนที่คนไทยต้องเจอกับอุณหภูมิ 50 องศา ในหน้าร้อนทุกปี สถิติที่ทุกประเทศในโลกเจอเหมือนกันหมด คือ ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม ให้คุณค่าประสบการณ์มากที่สุดเป็นเรื่องของ planet การรักและถนอมโลกใบนี้ให้ยั่งยืนตราบนานแสนนาน

“ในชีวิตปัจจุบันเปลี่ยนไป มีการศึกษาคอนซูเมอร์ให้ประสบการณ์ด้านอะไรมากที่สุด หลังโควิดเป็นต้นไป เอ็กซ์พีเรียนซ์ที่คอนซูเมอร์ให้มากที่สุดคือ planet คือโลก แสดงว่าคนกำลังอะแวร์เนสด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ใช่รัฐสั่งด้วยนะ”

ในต่างประเทศพบว่า บางประเทศมีกฎกติกาที่บังคับเกี่ยวกับการอยู่อาศัยเยอะมาก เพราะบ้านเป็นสินค้าที่เป็นธุรกิจในรูปแบบ B to C (business to customer) ผู้บริโภคซื้อไปแล้วจะผลิตมลพิษได้อีกเยอะมากเลย

“ถ้าเราทำไปเลยไม่ต้องประหยัด มีแต่สิ้นเปลือง ผู้บริโภคจะสิ้นเปลืองตามไปอีก 20 ปีในบ้านหลังนี้ ถูกไหม… แต่ถ้าเราประหยัด ผู้บริโภคก็จะประหยัดตามไปอีก 20 ปีเหมือนกัน ดังนั้น บ้านจะเป็นสิ่งที่ปกติหลายเมืองในโลก เขาจะบังคับ C (ผู้บริโภค) ผ่านบ้านนี่แหละ”

การตีโจทย์ธุรกิจคือ “ดีเวลอปเปอร์ไม่จำเป็นต้องรอให้ภาครัฐบังคับควบคุม เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ กำลังกดดันให้ผู้ประกอบการอยากจะคำนึงถึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเอง เพราะเขาให้ความสำคัญเหลือเกิน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ความสำคัญเรื่องนี้มันไม่ได้ดีต่อเขาอย่างเดียว แต่มันดีต่อโลกด้วย ดีกับทุกคน ดีกับลูกเราด้วยในอนาคต”

บทสรุปจากประสบการณ์ผู้บริโภคยุคใหม่ คือ customer play the path เขาทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่าเขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ผู้ประกอบการจะตอบสนองได้หรือไม่ ทำตามความสนใจของผู้บริโภค ภายใต้ cost structure ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากเกินไปนัก

“เสนาฯขายบ้านเซ็กเมนต์กลาง ๆ เราไม่เคยอยากขายบ้านหรูเลย เปรียบกับเสื้อผ้าเหมือนขายยี่ห้อยูนิโคล่ และบ้านเสนาฯ อย่าบอกใครนะ หน้าตาคล้าย ๆ กันเลย ใน 40-50 โปรเจ็กต์ในเซ็กเมนต์เดียวกัน ตั้งใจทำแบบนั้นเพราะจะให้ราคาไม่แพง และไปใส่ของในบ้านให้ดี แต่ไม่ต้องหน้าตาต่างกันแบบ ทำเลบางบัวทองหน้าตาแบบหนึ่ง รังสิตหน้าตาแบบหนึ่ง ไม่เป็นไรเพราะสองคนนี้ไม่ใช่คนเดียวกันอยู่แล้ว”

จุดเน้นคือ “นี่คือวิธีคิด ซึ่งไม่มีผิดไม่มีถูก แต่เสนาฯเลือกทำวิธีนี้เท่านั้นเอง ซึ่งการตอบสนองผู้บริโภค เราต้องทำ โดยที่เราต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ใช่เปลี่ยนเซ็กเมนต์ด้วยนะ สิ่งที่เราต้องคิดคือ ทำยังไงภายใต้กรอบที่ยังอยู่ในเซ็กเมนต์เดิม คนซื้อ ๆ ได้ แต่สามารถทำให้เราอยู่ในโลกของ sustainability ในมุมมองของลูกค้าได้ด้วย”

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

Social Challenge คือโอกาส

เนื่องจากสวมหมวกอีกใบเป็นประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้เห็นการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ทำให้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่มีสถิติคนออกมาใช้สิทธิมากที่สุด

บวกกับนโยบายผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 30 (ชัชชาติ) ที่จัดให้มีการเปิดเผย open data เท่าที่สามารถเปิดเผยได้ของ กทม. ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นระหว่างประชาชน และผู้บริหารการเงิน กทม. อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่วันนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว

“ในแง่เสนาฯ เราเชื่อว่าการทำ ESG เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะว่าคอนซูเมอร์ leading the path และเราจะไม่มีทางห้ามเทรนด์ของคอนซูเมอร์ได้ เราไม่มีหน้าที่ห้ามเทรนด์ของคอนซูเมอร์ เรามีหน้าที่คิดว่าเทรนด์ของคอนซูเมอร์คืออะไร แล้วพยายามเกาะเทรนด์ และนำเทรนด์ให้ได้มากที่สุด”

นำมาสู่เรื่องที่ 3 Sustain or Die and what do we do เมื่อลูกค้าชี้นำเทรนด์แล้ว ภายใต้การแข่งขันที่สูงมาก ภายใต้ต้นทุนที่แพงมาก ทำยังไงที่สามารถจะใช้โอกาสในเรื่องนี้ มาเป็นโอกาสในการทำธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ กรอบ 17 ข้อหลักของ UN ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด เพราะบางเรื่องไม่เกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ ขึ้นกับมุมคิดผู้นำองค์กร

“สิ่งที่คิดก็คือ UN วางกรอบความยั่งยืน 17 ข้อ เสนาฯขายบ้านเป็นหลัก และก็มีเซอร์วิส เราไม่สามารถแอพพลายทั้ง 17 ข้อได้ เพราะมีหลายเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรา เราก็คิดเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเรา เพราะเราไม่ได้ขายทุกเรื่อง”

และ “สิ่งที่คิดต่อ ภายใต้ 17 ข้อที่ UN บอก มีอะไรบ้างที่เป็น social challenge ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามมีคำว่า แชลเลนจ์ แสดงว่าเมื่อนั้นมี opportunities (โอกาส) เมื่อไหร่ไม่มีแชลเลนจ์ เมื่อนั้นไม่มี opportunities”

และ “คำว่า แชลเลนจ์ คือ ความท้าทาย เมื่อลูกค้ามีความท้าทาย เมื่อพับลิกมีความท้าทาย แสดงว่าพับลิกมีความต้องการการได้รับบริการในเรื่องนั้น หรือว่าพับลิกมีความต้องการสินค้าในเรื่องนั้น แสดงว่ามีโอกาสการทำธุรกิจเกิดขึ้น”

นำมาสู่การวิเคราะห์โอกาสจากโซเชียลแชลเลนจ์ของเสนาฯ ได้เป็น 4 เรื่อง ภาวะโลกร้อน, เฮลท์แคร์, ความเหลื่อมล้ำ และการขยายตัวของเมือง

ทำบ้าน-คอนโดฯใต้ ESG โมเดล

ข้อแรก climate change (ภาวะโลกร้อน) มีสถิติตอนนี้เซ็กเตอร์ที่ปล่อยมลพิษมากสุดคือบ้านคน สัดส่วน 60% ของมลพิษในโลก แสดงว่าลด (มลพิษ) ที่บ้านได้ เราช่วยโลกลดได้เยอะ

2. healthcare availability เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย เกี่ยวข้องกับต้นทุนการทำเฮลท์แคร์แพงขึ้น 3.ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทำให้ความสามารถในการซื้อบ้านต่ำลง กรุงเทพมหานครอยู่เท่าเดิม แต่ค่าบ้านแพง 8% เทียบปีต่อปี แต่ความสามารถหารายได้ของคนกรุงเทพฯ แทบไม่โตขึ้นเลยในหลายปีที่ผ่านมา

และ 4.urbanizationนำมาสู่การวางกลยุทธ์องค์กรแบบรื้อโครงสร้างองค์กร เริ่มต้นจากการกำหนดกลุ่มลูกค้าตามช่วงอายุเป็นคนเจน Z, Y, X, B (baby boomer) เพราะสินค้าที่อยู่อาศัย นอกจากบ้าน-คอนโดฯแล้ว ยังขายคุณภาพการอยู่อาศัยด้วย

ถัดมา ในภาพใหญ่ มีคนกลุ่มใหญ่มากซื้อบ้านไม่ได้เพราะปัญหา urbanization เสนาฯจึงต้องทำสินค้าที่เรียกว่าเช่าซื้อ-rent to own ขึ้นมา ภายใต้ชื่อ “เงินสดใจดี” ขอใบอนุญาตตามเกณฑ์แบงก์ชาติทุกอย่าง เพื่อปล่อยกู้เป็นขั้นบันได ให้คนสามารถเข้าถึงจุดซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น

ควบคู่กับเสนาฯทำธุรกิจโซลาร์มานาน จนมาถึงจุดที่พร้อมจะต่อยอดว่าบริษัทน่าจะทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องกับสีเขียวได้มากขึ้นอีก คำตอบสุดท้าย มาจบที่การตัดสินใจลงทุนปลูกป่า ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้โดยตรง ในนาม “บริษัท SENA Reforestation” ปลูกป่ารักษาโลก ตั้งเป้า 100,000 ไร่

จุดเน้นอยู่ที่พืชที่นำมาปลูกในป่ารักษาโลกนั้น จะต้องเป็นพืชที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูงกว่าพืชอื่น ๆ

ไฮไลต์ของเสนาฯยังรวมถึงการเปิดตัวโมเดล “บ้านพลังงานเป็น 0” ซึ่งลอนช์แคมเปญมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่ภาพจำผู้บริโภคยังกระท่อนกระแท่น ดังนั้น ในไตรมาส 3/66 เตรียมรีแบรนด์ใหม่ในชื่อ “บ้านไฟฟ้าเป็น 0” โดยมีตัวแบบจากการดูงานประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการที่เรียกว่า “ZEH-zero energy housing”

“บ้านโซลาร์คือประหยัดพลังงานค่าไฟ แค่ซื้อไฟจากหลวง เปลี่ยนเป็นซื้อไฟจากการทำเอง แต่บ้านพลังงานเป็น 0 เราพยายามทำให้บ้านหลังนี้ ลดค่าไฟลงก่อน แล้วค่อยเอาไฟที่เหลือที่ลดได้ไปเป็นโซลาร์”

กับแคมเปญ “คอนโดโลว์คาร์บอน” ซึ่งเป็นการลองผิดลองถูก เพราะโมเดลตัวแบบทางรัฐบาลญี่ปุ่นบังคับให้ทำ ถ้าไม่ทำจะมีบทลงโทษ แต่ถ้าทำก็จะมีสิทธิประโยชน์ หรือ incentive ให้กับผู้ประกอบการ

แต่เนื่องจากคอนโดฯยังไม่สามารถเปลี่ยนพลังงานเป็น 0 ได้ในเมืองไทย เพราะยังมีมีมาตรการรัฐเข้ามาสนับสนุน เสนาฯจึงเลือกที่จะเริ่มต้นจากการคิดเรื่องลด CO2 แทนที่จะคิดเรื่องค่าไฟอย่างเดียว

10 จิ๊กซอว์ลงทุนเพื่อโลกของวันพรุ่งนี้

เบ็ดเสร็จ ESG model ของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ที่ตกผลึกออกมาเป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจ มีการต่อยอดการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตลูกบ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม โดยมี 8-9 บียูด้วยกัน

ได้แก่ 1.จับมือกับ NEC Thailand ที่ปรึกษาด้านไอที พัฒนาแพลตฟอร์ม “SMARTIFY” แอปที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าและลูกบ้าน 2.ธุรกิจบริการทางการเงิน “เงินสดใจดี” 3.ธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ บริษัท Acute Realty

4.ธุรกิจบริหารนิติบุคคลโครงการที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินแบบครบวงจร หรือพร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ 5.ธุรกิจบ้านมือสอง “SENA Sure” เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการที่อยู่อาศัย 6.ธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะฟื้นตัว หรือเนอร์สซิ่งโฮม 7.ธุรกิจแวร์เฮาส์ “metrobox” ให้เช่าคลังสินค้ามาตรฐานสากล

8.จับมือกับ บริษัท ชิเซ็น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Shizen เพื่อลงทุนขยายตลาดพลังงานหมุนเวียนร่วมกันในประเทศไทย รวมทั้งมองหาพันธมิตรในการติดตั้ง “โซลาร์แนวตั้ง” สำหรับอาคารสูงในประเทศไทย 9.ขยายพื้นที่ให้บริการชาร์จรถไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ solar EV charger เริ่มต้นจากติดตั้งโครงการในเครือ ก่อนขยายผลรับลูกค้าทั่วไป และ 10.ตั้งบริษัทปลูกป่า 1 แสนไร่

“เราคิดว่าไม่ต้องทำให้ดีที่สุดก็ได้ แต่ขอให้เราได้เริ่ม อย่างน้อยเราก็ต้องการจะเป็น brand awareness เรื่องเกี่ยวกับกรีนคนแรก ๆ เราก็เลยทำภายใต้รีซอร์ซที่มีอยู่ เป็นการตอบคำถามที่ได้เริ่มต้นไว้” คำกล่าวปิดการสัมมนาของเอ็มดี เสนาดีเวลลอปเม้นท์