Real Estate-as-a-Service FPT ลีดเกมส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

เวทีสัมมนาโค้งท้ายปี หัวข้อ “ถอดรหัสลงทุน ก้าวข้ามวิกฤต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันศุกร์ 29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม

โดยมีผู้บริหารระดับประเทศจากวงการอสังหาริมทรัพย์ “ธนพล ศิริธนชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ FPT รับเชิญบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Real Estate-as-a-Service (REaaS)”

เพราะตีโจทย์การแข่งขันว่า ภูมิทัศน์ใหม่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้จบแค่ก่อสร้างเสร็จแล้วส่งมอบสินค้าเท่านั้น หากแต่โลกของการแข่งขันยุคใหม่ที่แท้จริง เป็นเรื่องของ “การส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

อาณาจักร เฟรเซอร์ส

ลงทุน 22 ประเทศ 70 เมือง

FPT เป็นบริษัทส่วนหนึ่งของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ที่สิงคโปร์ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการลงทุนมากกว่า 22 ประเทศ ใน 70 เมือง ลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัย รีเทล อินดัสเตรียล โลจิสติกส์ คอมเมอร์เชียล และฮอลพิทาลิตี้

สำหรับ FPT เป็นบริษัทลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินธุรกิจใน 3 เซ็กเตอร์ของอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจที่อยู่อาศัยมีสินค้าบ้านแนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ รวม 76 โครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

คลังสินค้า โลจิสติกส์ มีพื้นที่บริหาร 3.5 ล้านตารางเมตร และเราบริหารจัดการพื้นที่ออฟฟิศทาวเวอร์ ทำเลตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีรีเทลอยู่ในใจกลางเมือง จำนวน 2.4 แสนตารางเมตร

วันนี้ ชวนกันคิด วันนี้เราจะฝ่าวิกฤตยังไง ถ้าไม่เปลี่ยนเราจะรอดไหม

เครือข่าย เฟรเซอร์ส

กระจกหกด้านส่องวิกฤต

คำว่าวิกฤตสำหรับผม ในภาคอสังหาริมทรัพย์ผมไม่แน่ใจว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤตจริงหรือเปล่า เพราะหลาย ๆ บริษัททำได้ดี โดยท็อป 5 บริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดโครงการเพิ่ม บ้านราคาแพงก็ยังขายได้ตามเป้า ตลาดคอนโดมิเนียมที่ซบเซามา (ในช่วงสถานการณ์โควิด) ก็เริ่มเปิดตัวมากขึ้น

ในส่วนของอาคารสำนักงาน แม้ว่ามีการเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องของ WFH แต่ความต้องการก็ยังเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เริ่มก่อสร้างเสร็จ ความต้องการใช้พื้นที่รีเทล และอาคารสำนักงานมากขึ้น

ภายใต้การบริหารอาคารของเรา ยังสามารถรักษาระดับการปล่อยเช่าได้มากกว่า 90% ทุกอาคาร

ในเซ็กเตอร์แวร์เฮาส์ โลจิสติกส์ มีความต้องการค่อนข้างมาก หลายบริษัทปรับเป้าขายพื้นที่ดินมากขึ้น คลังสินค้าเป็นที่ต้องการจากนโยบายไชน่าพลัสวัน ทำให้หลายบริษัทมีการเคลื่อนย้ายการผลิตโรงงานมาที่ประเทศใกล้เคียง รวมทั้งเข้ามาประเทศไทยด้วย

กลุ่มโรงงานผลิตรถยนต์เข้ามาซื้อที่ดินอีกหลายร้อยไร่ นิคมอุตสาหกรรมพร้อมจะเปิดตัวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ผมไม่แน่ใจว่าเรายังอยู่ในวิกฤตไหม

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหา หรือคนรู้สึกว่าเป็นปัญหา เกิดเป็นความท้าทายขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจชะลอตัว มันอาจจะทำส่งผลให้เรารู้สึกว่าความต้องการมันหายไป หรือยอดขายที่เราทำไม่ได้เป็นไปตามเป้า หรือเศรษฐกิจชะลอจริง ๆ

ในปี 2565 ยอดขายที่อยู่อาศัยเติบโต 33% จากปีโควิด ดีมานด์ที่อยู่อาศัยอาจจะอั้นมานาน ก็เกิดการซื้อขายมากขึ้น ปี 2566 คาดการณ์กันว่าจริง ๆ ตลาดก็ยังโต แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว ผู้ประกอบการหลายคนเริ่มรู้สึกว่าตลาดชะลอตัว

ประกอบกับความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามา ทั้งการส่งออกที่ลดลงจากเศรษฐกิจมหภาคชะลอตัว การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่เหมือนยุคก่อนโควิด การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 2.5% เป็นภาระต้นทุน โดยเฉพาะในอสังหาริมทรัพย์ ไปกระทบในเรื่องราคาวัสดุก่อสร้างได้

และสุดท้าย อัตราหนี้ครัวเรือนที่แตะระดับ 90% มาหลายปีแล้ว ส่งผลกระทบให้ความสามารถในการกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัยเป็นไปได้ยาก

โจทย์อสังหาฯ “ซัพพลายเสรี”

สิ่งเหล่านี้จริง ๆ แล้วปัญหามี แต่เกิดจากเศรษฐกิจอย่างเดียว หรือเกิดจากซัพพลายเพิ่มขึ้น

เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเสรี ใครอยากทำอะไรเราก็สามารถลงทุนได้ เราไม่มีข้อจำกัด ในต่างประเทศเขาจะควบคุมปริมาณซัพพลาย ที่ดินเป็นของรัฐบาลไม่สามารถจะออกมาได้ แต่ในประเทศไทย เซ็กเตอร์ไหนที่ว่าดี ทุกคนอยากจะเปลี่ยนไปลงทุน

ตลาดที่อยู่อาศัย 2-3 ปีที่แล้ว บ้านแนวราบขายดีมากเพราะมีนักลงทุนต่างชาติให้ราคาที่ดี ซัพพลายน้อย ในปีนี้ทุกคนปรับแผนจากทำบ้านขนาดกลาง ขึ้นมาทำบ้านราคาแพง แต่ดีมานด์ชะลอลง อาจจะขายไม่ได้ตามเป้า

ท็อป 10 ดีเวลอปเปอร์ประกาศเปิดโครงการเพิ่ม บางบริษัทบอกว่าเป็นปีที่ดีที่สุดด้วยซ้ำ คอนโดมิเนียมประกาศเปิดตัวเพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้ว แน่นอนปริมาณซัพพลายที่ไหลเข้ามาใหม่จะกลายเป็นอินเวนทอรี่ หรือสต๊อกที่จะส่งไปในปี 2567 ฉะนั้นซัพพลายเพิ่มขึ้นแน่นอน

ออฟฟิศบิลดิ้ง โครงการขนาดใหญ่วางแผนตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นเทรนด์ และเป็นความเชื่อว่ารูปแบบการอยู่อาศัยจะปรับเปลี่ยนไป โครงการมิกซ์ยูสดีเวลอปเมนต์จะตอบโจทย์รูปแบบการอยู่อาศัยในอนาคต

ใน 2-3 ปีนี้เราจะเห็นเมกะโปรเจ็กต์ออฟฟิศสร้างเสร็จ นั่นหมายความว่าจะมีซัพพลายไหลเข้ามาในตลาดอีก 1.8 ล้านตารางเมตร มีรีเทลสเปซเข้ามาอีก 1 ล้านตารางเมตร และโรงแรมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในอีก 3 ปีข้างหน้า ซัพพลายเพิ่มขึ้นแน่นอน

ในส่วนของอินดัสเตรียล สร้างขายไม่ทันเพราะดีมานด์เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว วันนี้ผู้ประกอบการหลายคนเร่งสร้าง เร่งปรับพื้นที่กว่า 3 แสนตารางเมตรจะเพิ่มใหม่ในปีหน้า

และยังมีผู้เล่นที่ปกติไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับแวร์เฮาส์ โลจิสติกส์ ก็คิดจะมาลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติ ภายใน 5 ปีมีการทำคลังสินค้า โลจิสติกส์แวร์เฮาส์เพิ่ม 5 ล้านตารางเมตร ซัพพลายเพิ่มขึ้น

จึงเป็นโจทย์ของเราว่า ดีมานด์ไม่ได้หายไปไหน แต่เราจะหาดีมานด์มาเพียงพอกับซัพพลายที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ผมคิดว่ารัฐบาล ภาคเอกชนอสังหาริมทรัพย์ จะทำยังไงที่จะสร้างดีมานด์ให้แมตช์กับซัพพลายที่เพิ่มขึ้น

รัฐบาลใหม่สร้างดีมานด์ให้ประเทศ

ต้องเรียนว่า รัฐบาลใหม่ ท่านนายกฯ เศรษฐา (ทวีสิน) ผมมีโอกาสได้ทำงานกับท่านช่วงหนึ่ง ก็เป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน และทำงานรวดเร็ว ช่วงที่ผ่านมาท่านก็ออกมาตรการมาช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการตรึงค่าครองชีพ ลดค่าไฟ ตรึงราคาน้ำมัน และอาจจะมีดิจิทัลวอลเลตออกมา

อาจมองว่าเป็นมาตรการระยะสั้น แต่ผมก็คิดว่าจำเป็นเพื่อออกมาเป็นมาตรการหมุนเวียน และเป็นการเพิ่มดีมานด์ให้กับภาคธุรกิจ

ท่านไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโอกาสไปพบบริษัทชั้นนำระดับโลก เทสลา กูเกิล ไมโครซอฟท์ ท่านช่วยให้มาลงทุนมีเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ อินฟราสตรักเจอร์ การตั้งโรงงาน ท่านพร้อมจะให้การสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าท่านกำลังจะสร้างดีมานด์ รัฐบาลกำลังสร้างดีมานด์ให้กับภาคธุรกิจ

ล่าสุด ท่านเปิดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวให้กับประเทศจีนและคาซัคสถาน เป็นการเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับภาคบริการ รัฐบาลสร้างดีมานด์ให้กับภาคบริการ

ในแง่ของภาคธุรกิจ จากการรวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ ถึงรัฐบาล ในส่วนของที่อยู่อาศัย พูดถึงการลดค่าธรรมเนียมการโอน ซึ่งปัจจุบันได้เฉพาะที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้สามารถกลับมากระตุ้นได้ทุกเซ็กเมนต์ (ไม่จำกัดเพดานราคา)

การผ่อนปรนมาตรการ LTV-loan to value ในเรื่องการกู้หนี้ตามกำลังความสามารถของผู้กู้เป็นหลัก การเพิ่มโควตาในการเป็นเจ้าของของชาวต่างชาติในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม หรือแม้กระทั่งที่อยู่อาศัยแนวราบ

รวมทั้งการขยายระยะเวลาในการเช่าที่ดิน ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 30 ปี ให้ยาวขึ้น

ในส่วนของคอมเมอร์เชียล ปริมาณอาคารสำนักงานที่เพิ่มขึ้น เราสามารถจะดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้มาตั้งสำนักงานใหญ่ที่ประเทศไทย ปัจจุบันก็มีมาตรการอยู่ ถ้าเราสามารถเพิ่มอินเซนทีฟให้มากขึ้น ประกอบกับเคลียร์ในเรื่องของอินฟราสตรักเจอร์ ปรับปรุงสาธารณูปโภค หรืออำนวยความสะดวกให้กับทุกคนที่มาทำงานในประเทศไทย

ในเรื่องของการเพิ่มวีซ่าในการทำงาน หรือแม้กระทั่งการจะช่วยเรียลเซ็กเตอร์ในการลดภาษีสินค้าบางประเภท เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางช็อปปิ้ง เป็นเดสติเนชั่นของเอเชีย

ภาคอินดัสเตรียล เรามีในเรื่องของ EEC (ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) มีเรื่องของฟรีเทรดโซน รวมทั้งการเตรียมอินฟราสตรักเจอร์ให้พร้อมออกไปนอกประเทศ

การที่รัฐบาลจะเร่งเจรจาเอฟทีเอ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัท หรือโรงงานที่ตั้งการผลิตในประเทศ สามารถที่จะส่งออกไปได้โดยมี tax benefits

Ease of doing business ทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่มาลงทุน สามารถมีความสะดวก มีวันสต็อปเซอร์วิสที่จะช่วยในการบริการใบอนุญาต การติดต่อต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อาจจะต้องใช้เวลา อาจจะต้องร่วมมือกันกับหลายภาคส่วน ผมคิดว่าภาคเอกชนเราไม่สามารถรอรัฐบาลให้ดำเนินการได้ เราในฐานะเอกชน ผู้ประกอบการ เราจะมีกลยุทธ์ยังไง มีการลงทุนยังไงที่จะต้องทำ และสามารถช่วยในการเติมดีมานด์ สร้างความแตกต่างให้กับเรา

ต่อยอดนวัตกรรม REaaS

ส่วนหนึ่งที่ผมเชื่อ นอกจากเราจะสร้างสินค้า สร้างหมู่บ้าน สร้างออฟฟิศ ทำยังไงเราจะต่อยอดเรื่องนวัตกรรมบริการเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้า ซึ่งผมเรียกว่าการทำ Real Estate-as-a-Service หรือ REaaS

เราคงไม่ได้ทำอาคารหลังหนึ่งแล้วส่งมอบให้ลูกค้า แต่เราทำยังไงที่จะเพิ่มบริการที่ตรงใจลูกค้าได้

ในการทำ Real Estate-as-a-Service มี 3 รูปแบบ คือ Space-as-a-Service, Community-as-a-Service และ Sustainability-as-a-Service

ธนพล ศิริธนชัย

Space-as-a-Service

ในส่วนของ space เศรษฐกิจที่ผันผวนก็มีผลต่อการใช้พื้นที่อาคารสำนักงาน สิ่งที่เรานำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถสร้างความยืดหยุ่นในการใช้ออฟฟิศสำนักงาน ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

ในตึกของเรามีโคเวิร์กกิ้งสเปซ ซึ่งมีการมาแชร์การใช้สเปซ กับออฟฟิศแบบดั้งเดิมหรือออฟฟิศที่ส่งมอบเป็นพื้นที่เปล่า การมีสองโปรดักต์อยู่ในตึกเดียวกัน สร้างความสะดวกสบาย สร้างความยืดหยุ่นให้กับบริษัทที่อาจจะมีการเพิ่ม-ลดพื้นที่การทำงาน ก็เป็นส่วนที่หลายบริษัทเริ่มใช้

ล่าสุดแทนที่จะปล่อยออฟฟิศธรรมดา เราตกแต่งให้ด้วย พร้อมมูฟเข้ามาทำงาน เหมือนเช่าอพาร์ตเมนต์ เหมือนได้ห้องเปล่า ๆ แล้วเราไปซื้อเตียงซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งตามใจ ถ้าเราสามารถเสนอรูปแบบการตกแต่งที่ตรงใจลูกค้า มีดีไซเนอร์ มีฟังก์ชั่นใหม่ ๆ การตัดสินใจก็ง่ายขึ้น

ถัดมา well-being workplace โควิดทำให้เราตระหนักถึงความสะอาด PM 2.5 ทำให้เราตระหนักถึงคุณภาพของอาคาร การลงทุนในเรื่องคุณภาพอากาศ, ระบบ face recognition เทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เราต้องลงทุนเพื่อที่จะเสริมการบริการ นอกจากการใช้พื้นที่โดยตรง

ถัดมา warehousing วันนี้คงไม่ได้เช่าแค่คลังสินค้า แต่เราออกแบบ มีการใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นในการบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริหารพื้นที่ให้เร็วที่สุดเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นเทคโนโลยีและประสบการณ์ที่เรามี มาช่วยจัดการให้กับลูกค้าที่มาลงทุนในแวร์เฮาส์ของเรา

ในเรื่องของอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นมามาก ใจกลางกรุงเทพฯมีพื้นที่ไหนที่สามารถจะปรับเปลี่ยนเป็นดิสทริบิวชั่นเซ็นเตอร์ขนาดเล็ก เป็น last mile delivery center ต่อไปเราสามารถสั่งสินค้าออนไลน์ โดยได้รับสินค้าอาจจะไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก็เป็นส่วนของบริการเสริมที่เราให้กับลูกค้า

Community-as-a-Service

Community-as-a-Service คือการสร้างพื้นที่เชื่อมชุมชน ในการออกแบบมิกซ์ยูสดีเวลอปเมนต์ เราคำนึงในการให้พื้นที่กับชุมชนรอบข้าง การสร้างโปรเจ็กต์ไม่ใช่เราจะ maximize พื้นที่โปรเจ็กต์ แต่เป็นการที่เราจะให้ชุมชนและบริการประชาชนคนอื่นด้วย

เราเริ่มโครงการที่เรียกว่า Park Enhancement Initiative แทนที่เราจะสร้างโรงงาน คลังสินค้าแบบเดิม ๆ มีโครงและมีหลังคา เราเติมความเขียวเข้าไป เติมเรื่องสันทนาการเข้าไป วันนี้ผมคิดว่าจะสร้างประโยชน์และทำให้คนที่ไปปฏิบัติงาน คนที่ไปใช้สถานที่ได้มีโอกาสที่จะเชื่อมกัน สร้างชุมชนที่ยั่งยืนขึ้น
ในส่วนสเปซของสามย่านมิตรทาวน์ เราเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่เข้ามาขายของได้ฟรี เรามีการจัดกิจกรรมนิสิตนักศึกษา จัดแอ็กติวิตี้เพื่อให้ความรู้กับชุมชน เรามีแหล่งการเรียนรู้ที่สามย่านมิตรทาวน์ colearning space เป็นสถานที่ที่นิสิตนักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปสามารถอ่านหนังสือ ทำกิจกรรมได้ฟรี 24 ชั่วโมง

Sustainability-as-a-Service

Sustainability-as-a-Service เมื่อเช้า ท่านนายกฯเศรษฐาเล่าเรื่องไปที่สมัชชาสหประชาชาติ ประกาศความพร้อมของประเทศในการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบของ Sustainability Development ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องของไคลเมตเชนจ์ สิ่งแวดล้อม เป็นผลกระทบที่ใกล้ตัวเราเหลือเกิน

ที่สำคัญกระทบกับลูกค้าเราจริง ๆ ด้วย ฉะนั้น เราจะทำยังไงได้บ้าง

ตอนนี้เราเริ่มนำอาคารคลังสินค้าออกแบบโดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลงทุนในเรื่องของกรีนเอ็นเนอร์ยี่, โซลาร์รูฟ, หลอด LED ต่าง ๆ ในระยะยาวสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายกลับไปที่ผู้เช่าได้ด้วย

ทุกอาคารของเราไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศบิลดิ้ง คลังสินค้า มีกรีนเซอร์ติฟิเคต บริษัทยักษ์ใหญ่ที่จะมาเช่าออฟฟิศ คำถามแรกคือ มี LEED หรือเปล่า มีเซอร์ติฟายด์หรือเปล่า ระดับไหน เขาไล่เช็กถึงจะผ่านนะครับ

คลังสินค้าบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกถามก่อนเหมือนกันว่า มี sustainability มีเซอร์ติฟายด์กรีนบิลดิ้งอะไร เพราะเขาค้าขายกับคนทั่วโลก เขาไม่ได้ขายเฉพาะโลคอลของเรา ฉะนั้นการทำเรื่องกรีนเป็นสิ่งที่สำคัญ

เรื่อง ESG ผมมองว่าไม่ใช่เป็นเทรนด์ ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนพูดแล้วจบไป ESG Excellence เป็นกลยุทธ์ที่เราต้องนำมาใช้ ที่ FPT ของเรานำมาประกาศเป็นกลยุทธ์องค์กร ที่มุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050 เรามีมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในการช่วยกันทำอย่างไรให้ระยะยาวสามารถทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

มิติใหม่-ยกระดับอสังหาฯไทย

ในการที่เราจะก้าวข้ามความท้าทายใหม่ ๆ การลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า ทำอย่างไรที่เราจะลงทุนในการที่จะต่อยอดนวัตกรรมการบริการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต ให้ความต้องการของลูกค้าตรงจุด

เราต้องเปลี่ยนจากการที่เราคิดว่าจะขายโปรดักต์และสเปซ เป็นเรื่องของ innovation & customer centric เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยน เราอาจจะไม่รอด

และผมเชื่อว่า การทำ Real Estate-as-a-Service ยังมีนวัตกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย ยังมีแนวคิดอีกมากมายในการที่เราจะสามารถสอดแทรกนวัตกรรมเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ของลูกค้า สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ตอบโจทย์ความต้องการ

ผมคิดว่าจะทำให้เราสามารถแตกต่าง และดึงดูดดีมานด์ ซึ่งถึงแม้ว่าจะค่อย ๆ เติมเข้ามา ผมคิดว่าจะเป็นทางรอดในการจะช่วงชิงดีมานด์ได้ก่อนคนอื่น ท่ามกลางซัพพลายที่เพิ่มขึ้น

ผมเชื่อว่าการทำ Real Estate-as-a-Service ยังเป็นมิติใหม่ ในการยกระดับของอสังหาริมทรัพย์บ้านเรา ให้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

สิ่งเหล่านี้ก็ตรงกับเป้าหมายของบริษัทเราที่ว่า เราไม่ได้สร้างโครงการที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า แต่เราสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ประทับอยู่ในความทรงจำของลูกค้านานเท่านาน