บิ๊ก บขส. “จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล” ล้างขาดทุน สู้โลว์คอสต์

สัมภาษณ์

ว่างเว้นเก้าอี้เอ็มดีมากว่า 3 ปี ในที่สุด “บขส. – บริษัท ขนส่ง จำกัด” รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม เพิ่งครบรอบ 87 ปีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้หัวเรือใหญ่คนใหม่ “จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล” วัย 57 ปี ดีกรีวิศวกรอุตสาหกรรมและอดีตผู้อำนวยการสถาบันไทยเยอรมัน มานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ขับเคลื่อนงาน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์เอ็มดี บขส.ถึงภารกิจด่วนและทิศทางดำเนินการ ท่ามกลางวงล้อมสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ที่คืบคลานเข้าแย่งแชร์ในตลาด ผสมโรงกับราคาน้ำมันผันผวน ส่งผลกระทบให้ผลประกอบการลดลง

Q : แนวทางในการบริหารงาน

ผมทำงานด้านฝ่ายผลิตมา 20 ปี ในโรงงานอุตสาหกรรม ทำงานในเชิงฝึกอบรมเทคนิคระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ 4 ปี เป็นระบบที่มีความชำนาญ เมื่อมาทำงานที่ บขส.ต้องเข้าใจก่อนว่าหน่วยงานของเราคืออะไร อย่างแรกเลยคือ เราเป็นการให้บริการ ในการขนส่งผู้โดยสาร

สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำอย่างไรให้ประชาชน ได้รับคุณภาพการบริการที่ดี ทำอย่างไรที่จะพัฒนาบุคลากรในเรื่องทัศนคติการให้บริการ

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของเราโดยรวมคือประชาชนต้องมาใช้การบริการที่มีคุณภาพและเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นเราเป็นหน่วยงานโดยตรงในการยกระดับการบริการคุณภาพ ให้ได้เกิดมาตรฐาน ต้องให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจ ถามว่าจะทำอย่างไร

เรื่องแรกความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถ หรือ ห้องน้ำ ผมถือว่ามันสำคัญมาก ปัจจุบันห้องน้ำ บขส.ได้ยกเลิกการเสียเงินในการเข้าบริการ เพราะผมถือว่าเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ ทำห้องน้ำให้สะอาดผมเชื่อว่าไม่มีใครกล้าทิ้งขยะแน่นอน

ต่อมาความปลอดภัย ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารถ บขส.จะปลอดภัย มั่นใจในฝีมือคนขับรถ ผมก็จะตั้งสถาบันขับรถสาธารณะขั้นสูง อยากเห็นพนักงานต้อนรับของเราเหมือนญี่ปุ่นที่รถจะออกและผู้โดยสารจะเข้า ซึ่งพนักงานต้อนรับต้องยืนมาส่ง จะโค้งจนกว่าผู้โดยสารจะไป นี่เป็นการแสดงน้ำใจการเอาใจใส่ การบริการก็อยากให้ไปถึงจุดนั้น ต้องพยายามแก้ทัศนคติ อันนี้ซึ่งต้องอาศัยเวลา

Q : เป้าหมายของ บขส.

อยากให้องค์กรมีธรรมาภิบาล หมายความถึงความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ในการทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ค่อย ๆ เอากระบวนการที่โปร่งใสเข้ามาใช้ เช่น การร่างสเป็กทีโออาร์ประมูลที่เกี่ยวข้องในโครงการใหญ่ ๆ จะเชิญผู้ชำนาญการในเรื่องนั้น ๆ เข้ามาช่วยเป็นกรรมการและจะพยายามใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยอีออกชั่น เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

นอกจากนี้ทำงานในลักษณะที่ win-win กับผู้ประกอบการ โดยการไม่กดราคาจนเขาประกอบธุรกิจไม่ได้ เพราะจะมีผลสะท้อนกลับมาหา บขส.อยู่ดี ฉะนั้นจะพยายามยืนในสิ่งที่ถูกต้อง ให้เขาอยู่ได้ เราอยู่ได้

Q : งานด่วนที่จะเป็นรูปธรรม

ผมเชื่อว่าวันนี้ใครเข้ามาหมอชิต จะเห็นว่าสะอาดและมีระเบียบมากขึ้น เก้าอี้เป็นแถวเป็นแนวมากขึ้น ในเรื่องของด้านหลังอาจยังไม่ค่อยเรียบร้อย เพราะต้องใช้งบประมาณ ขณะนี้กำลังตั้งงบประมาณอยู่

ในปี 2561 บขส.มีแผนพัฒนาศักยภาพการให้บริการ รถโดยสารเชื่อมต่อแบบ Feeder Services พัฒนาธุรกิจรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ ขยายเส้นทางเดินรถในประเทศและระหว่างประเทศ เช่าเหมารถโดยสารประจำทาง ธุรกิจซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ อสังหาริมทรัพย์ จัดตั้งสถาบันฝึกอบรมทักษะระบบการขับรถและระบบสารสนเทศ การบริหารเส้นทางเดินรถที่ขาดทุน การปรับโครงสร้างองค์กร การพัฒนาระบบเดินรถและระบบสารสนเทศรวมทั้ง การพัฒนารูปแบบการจัดเก็บค่าใช้สถานี

Q : วิธีการสร้างรายได้เพิ่มให้ บขส.

มีอยู่ 2 – 3 ส่วน บางส่วนเราต้องยอมขาดทุน เช่น ในบางเส้นทางที่คนใช้บริการน้อย แต่เราต้องคงเส้นทางนี้ไว้ แต่จะไปชดเชยในเส้นทางที่ทำกำไรได้ ซึ่งมีหลายเส้นทางที่ทำเงินได้ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างรายได้จากสถานี รายได้จากการขนส่งพัสดุภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยสร้างรายได้ให้ บขส.นอกจากรายได้ค่าโดยสารแล้ว

การบริหารกิจการทั้งหมดต้องไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่ใช่กำไรสูงสุด ต้องบาลานซ์ เอาระบบเทคโนโลยีเข้าไปดูต้นทุน เข้าไปวิเคราะห์ว่าเส้นทางไหน มีอนาคตเส้นทางไหนที่เราต้องลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็เตรียมศึกษาการใช้ประโยชน์จากอาคารซ่อมบำรุงระหว่างจะเปิดให้รับซ่อมรถของเอกชนหรือให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ

รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ บขส. มีที่ดินที่สามารถดำเนินการได้ 3 แห่ง คือ สามแยกไฟฉาย ขนาด 3 ไร่ สถานีเอกมัยขนาด 7 ไร่อาจจะเสนอรูปแบบให้เอกชนหาที่ดินย้ายสถานีไปแล้วให้พัฒนาสถานีเอกมัย และสถานีปิ่นเกล้าอีก 7- 8 ไร่ อยู่ในระหว่างทำราคากลาง ไม่เกินสิ้นปีจะสามารถสรุปรูปแบบการพัฒนาและการลงทุนได้ คาดว่าปีนี้จะออกประกาศทีโออาร์พื้นที่สามแยกไฟฉาย ส่วนปิ่นเกล้าน่าจะได้รูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจน

Q : ผลประกอบการปีนี้

ผลประกอบการปีงบประมาณ 2559 บริษัทขาดทุน 115.852 ล้านบาท ในช่วง 8 เดือน (1 ต.ค. – 31 พ.ค. 60) ของปีงบประมาณ 2560 บขส.มีรายได้จากการดำเนินการ 2,369 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 298 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2559 ในช่วงเวลาเดียวกัน มีกำไร 70.847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.811 ล้านบาท จากผลกระทบการแข่งขันทางธุรกิจเดินรถสูง ราคาน้ำมันผันผวน และการปรับลดอัตราค่าโดยสาร

ปัจจุบัน บขส.มีสินทรัพย์รวมกว่า 5,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้สินทรัพย์ สภาพคล่องมีอยู่กว่า 3,000 ล้านบาท ไม่ได้มีอุปสรรคในการลงทุนในเรื่องคุณภาพให้กับประชาชน

Q : โลว์คอสต์และไฮสปีดเทรนเป็นคู่แข่ง

รัฐมีแผนจะสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในเรื่องค่าโดยสาร 535 บาท ถือว่าไม่ได้เป็นคู่แข่งกับ บขส. แต่มองว่าบขส.จะทำหน้าที่เป็นฟีดเดอร์รับ-ส่งคน ไปสู่ระดับอำเภอหรือจังหวัดใกล้เคียง เช่นเดียวกับสายการบินต้นทุนต่ำ

Q : เป็นเอ็มดี บขส.อยากเห็นอะไร

วันนี้หากประชาชนขึ้นรถ บขส.แล้วพูดว่า ขอบคุณมาก บขส. ผมพอใจแล้วแค่นั้นเอง ถ้าผู้โดยสารมาแล้วเซลฟี่ผมถือว่าสถานีนั้นใช้ได้ หากผู้โดยสารมาขึ้นรถแล้วเมื่อไหร่จะออกสักทีผมว่าไม่โอเค ก็มีหลายเรื่องที่ บขส.ต้องปรับ เช่น อาหารว่างบนรถ ผมสั่งให้ลดต้นทุน ให้ทำน้ำดื่มเอง งบประมาณเดิมให้เอามาลงอาหารให้หมด ขาไปอาหารสด ขากลับเป็นอาหารแพ็ก นำระบบตู้อัตโนมัติจ่ายค่าธรรมเนียม เพื่อช่วยให้การเก็บเงินมีความถูกต้องมากขึ้น

บขส.วางนโยบาย ความสะอาด ในสถานี รถ ห้องน้ำ ที่สำคัญมุ่งเน้นความปลอดภัยทั้งในสถานี ความปลอดภัยพนักงาน รถโดยสาร มีมาตรการหลายเรื่อง เช่น จัดสถาบันขับรถโดยสารสาธารณะขั้นสูงเพื่อเป็นการที่ยกระดับพนักงานขับรถมีวินัย ขับถูกต้องตามมาตรฐานสากล นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ สุดท้ายการบริหารจัดการให้มีการเดินรถตรงต่อเวลา