เวนคืน 5.3 พันโฉนดบ้านธิ-โคกกลอย ผุดสนามบินแห่งที่ 2 เชียงใหม่-ภูเก็ต 1.2 แสนล้าน

ตอกเข็มปีนี้ - ภาพอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินขอนแก่น ที่กรมท่าอากาศยานจะเริ่มก่อสร้างในปีนี้ ด้วยงบประมาณ 2,250 ล้านบาท ตามแผนจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 รับผู้โดยสารได้ 2.5 ล้านคนต่อปี
ทอท.จ่อเวนคืนที่ดิน 5.3 พันโฉนด “บ้านธิ-สันกำแพง-โคกกลอย” ผุดสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 มูลค่ากว่า 1.26 แสนล้าน แก้วิกฤตน่านฟ้าไทย ด้านกรมท่าอากาศยานเทเฉียด 1 หมื่นล้านขยายสนามบิน 4 แห่ง เน้นภาคใต้ หลังท่องเที่ยวโต ปีนี้เร่งตอกเข็มกระบี่-ขอนแก่น ปีหน้าลุยเทอร์มินอลใหม่นครศรีธรรมราชและตรัง

 

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ได้อนุมัติแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ปี 2561-2580 ในแผนดังกล่าวจะทำให้ทราบว่ามีท่าอากาศยานใดบ้างที่จะต้องปรับปรุงในระยะ 20 ปีข้างหน้า โดยจะใช้สำหรับท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์เท่านั้น

โดยมีท่าอากาศยานที่จะต้องเร่งดำเนินการขยาย ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม จะเสนอแผนแม่บทให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป ส่วนการพัฒนาบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะต้องไปศึกษารายละเอียดโครงการและรูปแบบการลงทุนต่อไป เช่น ทอท.จะลงทุนเองหรือให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP

“จุดที่ตั้งของสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ทอท.มีสำรวจเบื้องต้นไว้บ้างแล้วเพราะจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะอยู่บริเวณรอยต่อของอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน และอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 อยู่บริเวณ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา”

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า สำหรับเงินลงทุนสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ใช้เงินลงทุนประมาณ 75,000 ล้านบาท ส่วนสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ใช้เงินลงทุนประมาณ 54,000-60,000 ล้านบาท รวมทั้ง 2 แห่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 126,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีที่ดินถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างสนามบินทั้ง 2 แห่งกว่า 5,300 โฉนด ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ(บอร์ด) ทอท.ไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะเร่งทำรายละเอียดและเสนอให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้จากการประมาณสนามบินเชียงใหม่และภูเก็ตแห่งที่ 2 ทาง ทอท.คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรทางอากาศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคาดการณ์ในปี 2581 สนามบินเชียงใหม่จะมีผู้โดยสาร ประมาณ 23.33 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 137,790 เที่ยวบิน จากแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่จะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2568 มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี

ส่วนสนามบินภูเก็ตแห่งใหม่ จากคาดการณ์ในปี 2581 จะมีผู้โดยสาร 42.42 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 211,150 เที่ยวบิน จากแผนแม่บทการพัฒนาจะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2565 มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่ 18 ล้านคนต่อปี

ด้านนายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนลงทุนในปีงบประมาณ 2562 กรมจะเสนอของงบประมาณปรับปรุงสนามบินในภาคใต้เป็นหลัก เนื่องจากมีปริมาณนักท่องเที่ยวเติบโตกว่าปีที่แล้วถึง 50%

สำหรับโครงการใหม่จะลงทุนปี 2561-2562 มีจำนวน 4 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 9,400 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สนามบินนครศรีธรรมราช เตรียมเสนอขอผูกพันงบประมาณ 3 ปี ในปี 2562-2564 วงเงิน 1,800 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสาร 5 ล้านคนต่อปี ส่วนการขยายทางวิ่ง (รันเวย์) เครื่องบินนั้น จะนำเสนอในปีงบประมาณ 2563 ตามการผูกพันงบประมาณ 3 ปี ในปี 2562-2564 แทน

2.สนามบินกระบี่ จะของบประมาณผูกพัน 4 ปี ในปี 2561-2564 วงเงิน 3,575 ล้านบาท ซึ่งได้รับจัดสรรและเปิดประมูลได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว โดยผู้รับเหมาเสนอราคาต่ำกว่ากรอบวงเงินที่กำหนดอยู่ที่ 2,923 ล้านบาท ทำให้รัฐประหยัดเงินไปได้ 451.65 ล้านบาท

โดยทางผู้รับเหมาจะเริ่มงานก่อสร้างในปีนี้ เนื้องานจะเป็นการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่1, 2 และสร้างอาคารผู้โดยสาร 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี และยังมีโครงการสร้างอาคารจอดรถรองรับได้สูงสุด 2,000 คัน และลานจอดเครื่องบินขนาด 30 ลำ

3.สนามบินตรัง เตรียมของบประมาณผูกพัน 3 ปี ในปี 2562-2564 วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท แยกเป็นสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ วงเงิน 1,200 ล้านบาท และอีก 800 ล้านบาทจะเสริมความแข็งแกร่งของรันเวย์และสร้างลานจอดเครื่องบินขนาด 6 ลำ ซึ่งขั้นตอน

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ก่อนจะส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ และ 4.สนามบินขอนแก่น วงเงิน 2,250 ล้านบาท ได้ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ มีปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังใหม่และรันเวย์

นอกจากนี้กรมยังมีโครงการจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP ใน 4 โครงการ คือ พัฒนาสนามบินนครราชสีมา เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ และหัวหิน ซึ่งเป็นสนามบินขนาดเล็กแต่มีการเติบโตด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง โดยกรมอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 จะเร่งให้เสร็จโดยเร็วเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายรัฐบาล